เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Sleeveless Loverainbowflick17☂️
Lobdell เรื่องรักในป่าเขา
  • ในวันที่ 7 ต.ค. 1879 หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์รายงานการเสียชีวิตของลูซี่ แอนน์ ลอบเดล สเลเตอร์ ( Lucy Ann Lobdell Slater) ภายใต้พาดหัวข่าวว่า “การจากไปของไดอาน่าแห่งยุคใหม่" โดยอ้างอิงถึงไดอาน่า เทพีแห่งการล่าของโรมัน (Barbarsh F,2016)

    แต่คนที่ถูกเรียกว่าลูซี่ ลอบเดลล์ นั้นไม่ได้จากไปในปี 1879 หากแต่สิ้นลมหายใจในปี 1912 หนำซ้ำ ใครคือลูซี่ ก็อาจสร้างความสับสนให้กับคนรอบตัวได้ ด้วยชื่อนี้ไม่ได้ถูกใช้มานานกว่าสิบปีก่อนหน้านี้แล้ว

    บทความของนิวยอร์กไทม์ในปี 1877 กล่าวถึงชีวิตของลอบเดลล์ว่า เป็นหนึ่งในเรื่องราวประวัติครอบครัวที่แปลกประหลาดที่สุดที่มีการจดบันทึกไว้ 

    จะว่าไปนิวยอร์กไทม์ก็ไม่ได้พูดผิดเท่าไหร่ ชีวิตโลดโผนของคู่รักที่หนีเข้าไปอยู่ในป่า เลี้ยงหมี เก็บเบอร์รี่ประทังชีวิตก็พอจะจัดได้ว่าแปลกพอสมควรในสายตาคนเมือง



    see more : https://timesmachine.nytimes.com/timesmachine/1877/04/08/80367952.pdf


    ท้าวความ

    ลูซี่ ลอบเดลล์เกิดปี 1829 ในครอบครัวชนชั้นแรงงานครอบครัวหนึ่งในนิวยอร์ก ใช้ชีวิตในฐานะลูกสาวที่รับผิดชอบงานบ้าน และยังต้องออกไปลำบากตรากตรำทำงานนอกบ้านเพื่อหาเงินด้วย 

    การออกไปทำงานนอกบ้านนี้ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้และมีความสามารถหลายอย่างติดตัว ลอบเดลล์ยิงปืนเป็นตั้งแต่อายุ 10 ขวบ โดยจุดประสงค์ของการเรียนรู้วิธีการยิงปืนนี้เป็นพราะต้องการหาเงินจากการล่าสัตว์ ไม่นานก็เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะนักแม่นปืนและมีฉายาว่า "นักล่าหญิงแห่งเดลาแวร์เคาน์ตี้" คาดว่าโด่งดังตั้งแต่มีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น

    ลอบเดลล์ตอนยังเป็นวัยรุ่น ภาพจาก wiki, pyblic domain

    ลอบเดลล์ถูกบังคับให้แต่งงานกับจอร์จ สเลเตอร์ ช่างฝีมือนายหนึ่ง แต่ลอบเดลล์เป็นภรรยาที่ไม่โอนอ่อนตามสามี และมักจะทะเลาะกับเขาบ่อยๆ หลังจากให้กำเนิดลูกสาวไม่นาน สเลเตอร์ก็ทิ้งทั้งลอบเดลล์และลูกไป ลอบเดลล์กลับไปที่บ้านพ่อแม่ แต่ด้วยฐานะยากจนทำให้มีปัญหาหลายอย่าง จึงตัดสินใจฝากลูกสาวไว้ที่บ้านพ่อแม่ ส่วนตัวเองออกจากบ้านไป 

    หลังจากใช้ชีวิต20 กว่าปีเป็นผู้หญิงตามเพศกำเนิด การเดินทางออกจากบ้านก็ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิต 

    ก่อนหน้านี้เธอเคยแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าผู้ชายมาก่อน ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในสมัยนั้น แต่การออกจากบ้านไปตายเอาดาบหน้าครั้งนั้นเป็นตอนที่เธอเปลี่ยนมาใช้ชื่อผู้ชาย และใช้ชีวิตอย่างผู้ชายเต็มตัว

    ในบันทึกความทรงจำที่ลอบเดลล์เขียนเองนั้นได้อธิบายเหตุผลของการแต่งตัวเป็นผู้ชายไว้หลายข้อ หนึ่งในเหตุผลคือต้องการไปทำงานผู้ชายเพื่อจะได้ค่าแรงเท่ากับผู้ชาย เวลาที่ทำงานรับจ้างพวกงานบ้านจะได้ค่าจ้างแค่อาทิตย์ละหนึ่งดอลลาร์เท่านั้น แต่ลอบเดลล์รู้ตัวเองว่าตัวเองทำงานของผู้ชายได้ "..ฉันทำทั้งงานในบ้านและงานนอกบ้าน ตอนที่เรากำลังเดือดร้อนหนักๆ ฉันก็ตัดสินใจแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าผู้ชาย เพื่อจะได้หางานทำ..." 

    ในบันทึกความทรงจำเล่มเดียวกันนั้น ลอบเดลล์เรียกร้องเรื่องค่าจ้างงานที่เท่าเทียมของผู้หญิงกับผู้ชายไว้ด้วย

    ออกจากบ้าน

    ลอบเดลล์ ตัดผมสั้นและแต่งกายเป็นผู้ชาย
    ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอะไรก็ตาม  ในฤดูใบไม้ร่วงของปี 1854 ลอบเดลล์เดินทางข้ามชายแดนนิวยอร์กมาที่เพนซิวาเนีย ภายใต้ชื่อโจเซฟ อิสราเอล ลอบเดลล์ (Joseph Israel Lobdell) แทนที่จะเป็นลูซี่ และหลังจากนั้นเขาก็ยึดตัวตนเป็นผู้ชายไปตลอด อย่างที่บอกว่าเขามีความสามารถติดตัวหลายอย่าง เขาได้งานที่โรงเรียนสอนดนตรี เป็นครูสอนร้องเพลง  ไม่นานก็พบรักกับผู้หญิงคนหนึ่ง หมั้นและตกลงจะแต่งงานกัน 

    แต่โชคร้ายที่มีคนรู้จักข้ามฝั่งมาจากนิวยอร์กมาพบเขาเข้า และรู้ความจริงว่าเพศกำเนิดเขาเป็นผู้หญิงเสียก่อน ความจริงข้อนี้สร้างความขุ่นเคืองให้กับคนในเมือง มีกลุ่มคนที่อยากจะรุมประชาทัณฑ์เขาด้วยวิธีที่เรียกว่าทาน้ำมันดินคลุกขนนก (tar and feather)*
    *Tar and feather คือการทำโทษที่ประชาชนทำกันเองโดยมักจะเปลื้องผ้าผู้ที่ถูกทำโทษหรือให้เปลือยท่อนบนจนถึงเอว จากนั้นทาหรือราดด้วยน้ำมันดินซึ่งบางครั้งก็ร้อน แล้วก็ปาหรือให้นอนคลุกกับขนนก คำนี้จริงๆอาจจะใช้เแ็นคำเปรียบเปรยพูดถึงการโดนรุมวิจารณ์อย่างรุนแรงในที่สาธารณะอะไรทำนองนี้ก็ได้ แต่เนื่องจากเราเห็นว่ามันเกิดขึ้นช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งยังมีการรุมลงโทษแบบนี้อยู่จริงๆก็เลยเดาว่าเขาน่าจะหมายวามถึงการถูกรุมจริงๆ ไม่น่าจะเปรียบเปรย
    มีคนเตือนลอบเดลล์ล่วงหน้า เขาจึงหนีออกจากเมืองไปเสียก่อน

    หลังจากนั้นเขาก็ต้องใช้ชีวิตแบบอยู่ ๆ หนี ๆ ไปตามเมืองต่างๆแบบนี้แหละ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนรู้ว่าเพศกำเนิดเขาเป็นผู้หญิงเขาก็ต้องย้ายเมืองหนีไปเรื่อย ๆ หลายครั้งก็จะถูกบังคับให้ใส่เสื้อผ้าผู้หญิงตอนโดนไล่ออกจากเมืองด้วย 
    ในช่วงชีวิตของลอบเดลล์ มีกระทั่งช่วงที่เขาเข้าไปอยู่ในป่าจริง ๆ เป็นเวลาหกปีเต็ม 

    เมืองมินเนโซตา ที่ที่ลอบเดลล์เป็นที่รู้ัจักในฐานะนักล่าหมีและแมวป่า ภาพจาก OZY, creative common

    ในบรรดาเมืองที่เขาหนีไปที่เป็นที่รู้จักจะมีมินเนโซตา เมืองกันดิโยโฮ เมืองมานันนา (Manannah) บางครั้งแทนที่จะแนะนำตัวเองว่าโจเซฟก็จะแนะนำด้วยชื่อ La-roi แทน  

    เมืองสุดท้ายนี้เขาอยู่อย่างสงบเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนที่จะโดนจับข้อหาแต่งตัวเป็นผู้ชาย เขาขึ้นศาลและต่อสู้คดีด้วยการบอกว่าการแต่งตัวเป็นผู้ชายของเขานั้นทำเพื่อจะหนีสามีขี้เมาของตัวเอง ไม่ให้เขาจำได้  ส่วนทนายก็ช่วยเขาไกล่เกลี่ยด้วย สุดท้ายแล้วเขาจึงได้รับตัดสินว่าไม่มีความผิด

    อย่างไรก็ตาม ลอบเดลล์ไม่สามารถใช้ชีวิตในเมืองเดิมได้อีกต่อไป เนื่องจากมักจะถูกนินทา ครหา ล้อเลียน และไม่มีคนยอมให้ทำงานด้วย สุดท้ายจึงต้องกลับไปบ้านที่นิวยอร์ก


    เรื่องรัก

    เมื่อกลับมาบ้านที่นิวยอร์ก ถึงแม้ครอบครัวจะดีใจที่ได้เจอ แต่ก็ไม่มีใครเข้าใจว่าทำไมเขายังใส่เสื้อผ้าผู้ชายอยู่ ลูกสาวก็ยังเด็กเกินไปกว่าจะเข้าใจว่าทำไมเขาถึงจากไปเป็นเวลานาน และเพื่อนบ้านก็ยังติฉินนินทาทั้งเรื่องตัวเขา และเรื่องการแต่งงานที่ล้มเหลวด้วย

    ในฤดูร้อนปี 1860 เขาเดินเข้าไปหาเจ้าหน้าที่สวัสดิการของเดลาแวร์เคาน์ตี้อย่างหดหู่ และขอให้ใส่ชื่อเขาลงสถานสงเคราะห์คนจน เพื่อจะได้เข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ เขาต้องกลับไปใช้ชื่อลูซี่ ใส่เสื้อผ้าผู้หญิง และทำงานทำความสะอาดและทำอาหารตามขนบของงานผู้หญิง

    แต่ท่ามกลางโชคร้ายและงานอันน่าเบื่อหน่ายนั้น เขาได้พบกับแมรี่ หลุยส์ เพอรรี่ (Marie Louise Perry) ในวัย 28 ปี แมรี่เป็นผู้หญิงจากตระกูลที่มีเงินและได้รับการศึกษาดี แต่เธอถูกผู้ชายหลอกให้หนีตามแล้วก็ทิ้งไป ด้วยความที่เธอสุขภาพไม่ดี ไม่มีเงินติดตัวและอายเกินกว่าจะกลับไปสู้หน้าคนที่บ้าน เธอจึงมาพึ่งใบบุญสถานสงเคราะห์คนจน

    ทั้งสองคนพบกันและพัฒนาความสัมพันธ์จนเป็นความรัก

    ต้นปี 1862 ทั้งคู่หายตัวไปจากเมือง  

    ในป่าเขา


    ทั้งสองคนหนีไปแต่งงานกัน และอีก 17 ปีถัดจากนั้นก็ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างแร้นแค้นและถูกรังแก หากแต่เป็นอิสระ

    ถ้าหากอยู่ที่เมืองไหนนานเกินไป ทั้งสองคนก็มีเรื่องให้ถูกจับตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใส่เสื้อผ้าผู้ชาย หรือถูกขังคุกเพราะเป็นคนเร่ร่อน ลอบเดลล์มักจะถูกบังคับให้ใส่กระโปรงและโดนไล่ออกจากเมือง 

    สุดท้ายไม่มีที่ไหนสงบเท่าในป่า ทั้งคู่จึงใช้เวลาหลายปีอยู่ในป่าด้วยกัน บางครั้งก็อาศัยอยู่ตามถ้ำ ประทังชีวิตด้วยการเก็บของป่า กินพวกผลหมากรากไม้ เบอรี่ ล่าสัตว์บ้าง และมีขอเงินเป็นการกุศลบ้าง (ซึ่งบางทีก็โดนจับอีกเพราะถือว่าเร่ร่อน) หาความบันเทิงจากการเต้นและร้องเพลงในป่า  (แล้วก็ว่ากันว่าเลี้ยงหมีด้วย)

    เงินเล็กน้อยที่มีใช้ไปกับสิ่งจำเป็นเช่นซื้อกระสุนปืน หรือใช้เป็นค่าถอนฟัน

    คุกที่แพนซีเวเนียที่ลอบเดลล์มักจะถูกจับ Image courtesy of Bambi Lobdell

    ปี1876 ลอบเดลล์ถูกจับขังคุกด้วยเหตุผลเรื่องเครื่องแต่งกายและการเร่ร่อน แมรี่เขียนคำขอให้ปล่อยตัวสามีของเธอ แต่เนื่องจากไม่มีปากกาเลยใช้ไม้แทน และใช้น้ำโพกเบอรี่แทนหมึก เจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการประทับใจในคำร้องขอเป็นอย่างมากเนื่องจากภาษาที่ใช้เป็นภาษาอังกฤษที่ชัดเจนและถูกต้อง อีกทั้งข้อโต้แย้งให้ปล่อยตัวยังทรงพลังอีกด้วย

    แมรี่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเยี่ยมสามีในคุกพร้อมกับเจ้าหน้าที่และนักข่าว เธอนำช่อดอกไลแลกและแอปเปิ้ลติดตัวเข้าไปด้วย

    บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งกล่าวถึงชีวิตแต่งงานของทั้งคู่ว่าเป็นการแต่งงานที่สงบ อ่อนโยน และไม่ได้รบกวนใคร พวกเขาดูแลและปกป้องกันอย่างซื่อสัตย์ และไม่ควรจะถูกยุ่งอีกต่อไปปลล้ว


    โชคดีและโชคร้ายครั้งสุดท้าย

    สามีของลอบเดลล์ที่หายตัวไปนั้นเกณฑ์ทหารเข้าไปรบและเสียชีวิตในหน้าที่ ตามกฎหมายลอบเดลล์ในฐานะภรรยาจึงจะได้รับเงินบำนาญ เขาใช้เงินส่วนนี้ไปสร้างบ้านฟาร์มและใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบกับภรรยา จนกระทั่งหนึ่งปีต่อมา เขาเดินทางไปหาลูกสาวที่บ้านพี่ชาย 

    ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่บ้านหลังนั้น แต่ลอบเดลล์ไม่เคยได้กลับมาที่บ้านฟาร์มอีก

    ปี 1879 ครอบครัวของลอบเดลล์ประกาศว่าเขาเสียชีวิต

    แม้กระทั่งแมรี่ที่มาถามหาเขากับครอบครัวของลอบเดลล์ก็ได้รับคำตอบว่าลอบเดลล์เสียชีวิตแล้ว

    แต่แท้จริงแล้วเขายังอยู่กับจอห์น พี่ชายของเขา 

    จดหมายจากโรงพยาบาล ภาพจาก OZY, creative common


    ปี 1880 จอห์นทำเรื่องส่งไปยังศาลให้ตัดสินว่าลอบเดลล์เป็นคนวิกลจริต เนื่องด้วยสาเหตุว่าเขาแต่งตัวเป็นผู้ชาย และ "ทำทีเป็นรักผู้หญิง" กล่าวว่า "...เธอวิกลจริตมากว่าสิบปีแล้ว เธอเรียกผู้หญิงคนหนึ่งว่าเป็นภรรยา ผู้หญิงคนนั้นก็วิกลจริตด้วยเหมือนกัน..."

    ลูกขุนสิบสองคนซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมดตัดสินว่าลอบเดลล์วิกลจริตจริง ทั้ง "...แกล้งรักผู้หญิง" "...แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าผู้ชาย มีปืน และแสร้งทำว่าจะไปล่าสัตว์"

    ลอบเดลล์ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลบ้า 
    ใบรับรองความวิกลจริตของลอบเดลล์ ภาพเข้าถึงจากเว็บ Minnoseta Lawyer

    ด้านแมรี่ถูกห้ามไม่ให้เข้าบ้านฟาร์ม เธอเก็บเบอรี่ขาย และในช่วงบั้นปลายก็กลับไปที่แมสซาชูเซต ทำงานในโรงงานทำเล็บ เสียชีวิตในปี 1890 โดยไม่รู้ชะตากรรมของสามี

    ลอบเดลล์เสียชีวิตในปี 1912 ในโรงพยาบาล




    อื่น ๆ 

    • นักประวัติศาสตร์และคนที่ศึกษาเรื่องเพศต่างๆก็ยังถกเถียงกันอยู่ว่าลอบเดลล์อยู่ส่วนไหนในสเปกตรัมของ LGBTQ+ บ้างก็ว่าเป็นเลสเบี้ยนที่ปลอมตัวเป็นผู้ชายเพื่อให้อยู่ได้ในสังคม (เลสเบี้ยนปลอมเป็นชายเพื่อจะได้แต่งงานมีเยอะอยู่ค่ะ) บ้างก็ว่าเขามองอัตลักษณ์ทางเพศของตนเป็นผู้ชายและเป็นผู้ชายข้ามเพศ 

    • แมรี่มองว่าผู้หญิงมักต้องอดทนกับการทารุณกรรมและความอยุติธรรม  และเคยกล่าวไว้ประมาณว่าถ้าผู้หญิงไม่มีเสียงส่วนร่วมในการสร้างกฎหมายในประเทศ เธอก็ควรจะได้ค่าชดเชยเป็นสิทธิที่พอเพียงเพื่อรักษาความเท่าเทียม”
    “If woman has no voice in the making of the laws of our country,” Marie wrote, “she should, as recompense, be granted sufficient other privileges to preserve her equality of rights.”


    เรื่องจริงๆละเอียดกว่านี้มากแต่เราเล่าย่อๆ ถ้าใครสนใจก็อ่านต่อใน reference มีแบบที่ค่อนข้างละเอียดเลย หรืออยากรู้เพิ่มเติมตรงไหนลองถามมาก็ได้จ้า
  • หนังสืออ่านเพิ่มเติม

    The Narrative of Lucy Ann Lobdell: A Woman's Case for Equality by Lucy Lobdell 
    เล่มนี้เป็นอัตชีวประวัติค่ะ

    The Rebellion of Miss Lucy Ann Lobdell by William Klaber 

    A Strange Sort of Being: The Transgender Life of Lucy Ann / Joseph Israel Lobdell, 1829-1912
    by Bambi L. Lobdell

    มีอีกเล่มที่เขาเขียนเองชื่อ The Adventure of Lucy Ann Lobdell ประมาณนี้ แต่หาไม่เจอแล้วอะค่ะ 555 


    References/Bibliography
    Barbash, F. (2016, September 8). ‘He paid a dear price for it’: The 19th-century ordeal of one of America’s first transgender men. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/news/morning-mix/wp/2016/09/08/he-paid-a-dear-price-for-it-the-19th-century-story-of-one-of-americas-first-transgender-men/

    Farber, Z. (2017, November 8). Politics of the Past: Minnesota's 'Wild Woman? charged with impersonating a man in 1858. Retrieved from https://minnlawyer.com/2017/08/30/minnesotas-wild-woman-charged-with-impersonating-a-man-in-1858/

    Joe Lobdell: Tragedy and Triumph of a 19th-century Transition. (n.d.). Retrieved from https://www.lavendermagazine.com/our-affairs/joe-lobdell-tragedy-and-triumph-of-a-19th-century-transition/

    Joseph Lobdell stood trial in Minnesota in 1858. His alleged crime? Impersonating a man. (2017, May 22). Retrieved from https://www.minnpost.com/mnopedia/2017/05/joseph-lobdell-stood-trial-minnesota-1858-his-alleged-crime-impersonating-man/

    Joseph Lobdell. (2016, June 16). Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Joseph_Lobdell

    Mountain Romance. (n.d.). Retrieved from https://timesmachine.nytimes.com/timesmachine/1877/04/08/80367952.pdf

    Nick Fouriezos,Ned Colin. (2019, July 28). The Wild Romance of a Trans Man, His Wife and Their Bear. Retrieved from https://www.ozy.com/flashback/the-wild-romance-of-a-trans-man-his-wife-and-their-bear/93666/


    สำหรับบอกคำผิด เนื้อหาคลาดเคลื่อนหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมต่างๆค่ะ
    Contact
    twt dm : @rainbowflick17
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in