เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Sleeveless Loverainbowflick17☂️
Juana Inés de la Cruz มีหญิงสาวในบทกวี




  • เล่าถึงผู้หญิงที่คนในยุคปัจจุบันคงจะเรียกกันว่า 'เฟมินิสต์' คนแรก ๆ ของเม็กซิโก ผู้สนับสนุนสิทธิในการศึกษาของผู้หญิงผ่านงานเขียน และเป็นเจ้าของบทกลอนดังที่ถ่ายทอดเรื่องราวความรักระหว่างผู้หญิง (ซึ่งเป็นเรื่องของแม่ชีกับภรรยาอุปราช)  



    การได้รักเธอเป็นอาชญากรรมที่ฉันจะไม่มีวันสำนึกผิด



    ท้าวความ

    ฆวนน่า อิเนส เด ลา กรูซ (สเปน : Sor Juana Inés de la Cruz ; อังกฤษ: Sister Joan Agnes of the Cross) เป็นนักคิด กวี และหนึ่งในนักประพันธ์หญิงที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 17

    ฆวนน่าเป็นลูกสาวคนที่สอง ในบรรดาลูกสาวทั้งหมดสามคนของเปโดร เด อาสบาเฆ (Pedro de Asbaje) และ อิซาเบล รามิเรซ (Isabel Ramírez) เกิดที่ซาน มิเกล เด เนปันตลา (San Miguel de Nepantla) ในเม็กซิโก ซึ่งตอนนั้นเม็กซิโกใช้ชื่อ “Nueva España” (New Spain) วันที่เกิดนั้นยังไม่แน่ชัด แต่หลายคนคาดเดากันว่าเป็นวันที่ 12 พฤศจิกายน 1648

    เปโดร  พ่อของฆวนน่า เป็นคนจากปาอีส บาสโก้ (Pais Vasco) แต่ย้ายไปอยู่ที่ Nueva Espana  ตั้งแต่เด็ก ๆ

    อิซาเบล รามิเรซ แม่ของฆวนน่า เป็นลูกเจ้าของที่ดินฐานะดี ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของฟาร์มที่ผลิตทั้งข้าวสาลีและข้าวโพด


    หน้าบ้านคุณตาของฆวนน่า ภาพจาก wikimedia

    ฆวนน่าใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ในฟาร์มที่ว่า และได้เรียนภาษา Náhuatl  ซึ่งเป็นภาษาถิ่นแมกซิกัน กับทาสในฟาร์ม เรียนการเขียนการอ่านตั้งแต่อายุยังน้อยโดยมีพี่สาวเป็นคนสอนให้ 

    ต่อมาไม่นานก็ค้นพบห้องสมุดของคุณตา และพบว่าตัวเองชอบอ่านงานคลาสสิกของกรีกและโรมัน จากนั้นไม่ว่าจะหยิบหนังสือเล่มไหนออกมาจากชั้น ฆวนน่าจะศึกษาหนังสือเล่มนั้น ๆ ด้วยตัวของเธอเองเสมอ

    ภาพวาดตอนอายุประมาณ 15 ปี ภากจาก  biografia y vidas
    หลังจากที่คุณตาเสียชีวิต เธอย้ายไปอยู่กับมาเรีย รามิเรซ (María Ramírez) ผู้มีศักดิ์เป็นป้าของเธอ และอยู่ในบ้านป้าถึง 8 ปี จนเติบโตเป็นวัยรุ่นอายุ 17 ปี ชื่อเสียงด้านความฉลาดรู้ไปถึงหู ดอน อันโตนิโอ เซบาสเตียน เด โตเลโด (don Antonio Sebastián de Toledo) ซึ่งเป็นอุปราช หรือเรียกเป็นภาษาไทยแบบขยายความอีกคือผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์

    เขาเรียกเธอเข้าราชสำนักไปรับใช้เป็นสหายของภรรยาเขา ดอนย่า เลโอนอ (Leonor Carreto) ความเฉลียวฉลาดของฆวนน่าสร้างความประทับใจให้แก่เลโอนอเป็นอย่างมาก 

    ในราชสำนักมักจะจัดงานเฉลิมฉลองที่มีแขกผู้ทรงภูมิมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนักคิด นักคณิตศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ ฯลฯ มาร่วมงาน ฆวนน่ามีโอกาสได้ถามตอบในประเด็นต่าง ๆ อยู่เสมอ เรียกว่าแวดล้อมไปด้วยความรู้กว้างขวาง 

    รวมไปถึงยุคที่เธออยู่คือศตวรรษที่ 17 เป็นยุคที่สเปนเรียกว่ายุคทอง (siglo oro) อีกด้วย เธอจึงอยู่ร่วมสมัยกับนักประพันธ์และศิลปินดัง ๆ เช่น ดิเอโก้ เบลาสเกส (Diego Velázquez) 

    ด้วยเหตุนี้ฆวนน่าจึงพัฒนาความสามารถด้านวรรณกรรมได้อย่างรวดเร็ว และได้ใช้เวลาว่างไปกับการเขียนโคลง เขียนกลอน 



    สมรสกับคริสตจักร 

    เธออยากเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแต่ทำไม่ได้เพรา ในสมัยนั้นผู้หญิงยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามหาวิทยาลัยแต่อย่างใด ฆวนน่าเคยพยายามจะปลอมตัวเป็นชาย แต่ก็ไม่เป็นผล 

    แต่ก็โชคดีที่ความฉลาดของเธอเป็นที่สนใจของนักบวชคนหนึ่งชื่อ นูเนยซ เด มิรันดา (Núñez de Miranda) ว่ากันว่าเขาช่วยติดต่ออาจารย์สอนพิเศษ มารติน เด โอลิบาส (Martín de Olivas)มาสอนละตินให้ฆวนน่า 

    ฆวนน่าไม่อยากแต่งงาน เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าการแต่งงานจะทำให้เธอต้องติดอยู่ในชีวิตที่จำกัดและน่าเบื่อตามขนบสังคมของผู้หญิงสมัยนั้น

    นูเนยซรู้สึกเห็นใจเธอในข้อนี้ และเสนอวิธีหลีกเลี่ยงการแต่งงานให้กับฆวนน่า โดยให้เธอหนีจากการแต่งงานทางโลก และหันมาแต่งงานกับคริสศาสนา คือบวชนั่นเอง การบวชเป็นแม่ชียังให้อิสระที่จะได้เรียนรู้และสร้างผลงานด้านวรรณกรรมต่อไปโดยไม่ต้องกังวลด้วย

    เธอตัดสินใจบวช
  • การตอบโต้ 



    ภาพจาก wikipedia 
    ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1690 บิชอบคนหนึ่งได้ตีพิมพ์ผลงานของฆวนน่าภายใต้นามปากกา ซอ ฟิโลเตอา (Sor Filotea) โดยพลการ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการวิพากษ์คำเทศนาของนักเทศน์ชาวโปรตุเกสนิกายยูเซอิตคนหนึ่ง จากนั้นบิชอบคนนี้ก็ตีพิมพ์จดหมายที่วิพากษ์ผลงานการวิพากษ์ของเธอชิ้นนี้อีกตลบหนึ่ง โดยหนึ่งในใจความนั้นกล่าวว่า แม้เขาจะเห็นด้วยกับคำวิพากษ์ของเธอ แต่เขาก็เชื่อว่าเธอในฐานะผู้หญิง ควรจะจดจ่ออยู่กับการสวดภาวนา แล้วเลิกเขียนเสียดีกว่า

    ฆวนน่าตอบกลับด้วยการออกมาปกป้องสิทธิของผู้หญิงที่จะได้รับการศึกษาและได้รับความรู้ โดยมีประโยคเด็ดอยู่ประโยคหนึ่ง คือ "One can perfectly well philosophize while cooking supper," 
    (ประมาณว่า ระว่างที่ทำอาหารเย็นอยู่ก็สามารถตรองอย่างปราชญ์ได้อย่างสมบูรณ์) 

    ในศักราชที่ฆวนน่าอยู่ การออกมาตอบโต้แบบนี้เป็นอะไรที่เปรี้ยวมาก ๆ ไม่มีใครกล้าทำ เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นอีกหนึ่งในสาวขวัญใจเฟมินิสต์เลยค่ะ (แน่นอนว่ามัยเธอยังไม่มีการเคลื่อนไหว คำว่า เฟมินิสต์ ยังไม่เกิดเลยด้วยซ้ำ)

    แล้วแม่ก็เขียนกลอนด่าผู้ชายด้วยอะเนอะ ชื่อ You Foolish Men เนื้อหาสรุปก็ประมาณว่า พวกผู้ชายที่อยากได้ผู้หญิงก็เลยไปตื๊อเขา เขาไม่เอาก็ตื๊ออยู่นั่น แต่พอเขายอมมีอะไรด้วยก็ไปด่าว่าเป็นผู้หญิงไม่ดีไม่บริสุทธิ์ เหมือนเป่าลมใส่กระจกแล้วถามว่าทำไมกระจกเป็นฝ้า งง อีพวกผู้ชายเป็นไรมากปะ 



    50 บทรัก และอื่น ๆ

       Y si es culpable mi intento,
    será mi afecto precito,
    porque es amarte un delito
    de que nunca me arrepiento.


    Let my love be ever doomed
    if guilty in its intent,
    for loving you is a crime
    of which I will never repent.

    (แปลถอดความประมาณว่า ถ้าความตั้งใจในความรักเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ ก็ขอให้ลงโทษความรักของฉันเลย เพราะการได้รักเธอเป็นอาชญากรรมที่ฉันไม่มีวันสำนึกผิด) 


    ในปี 1680 มาเรีย หลุยซา กอนซากา มันริเก เด ลารา (María Luisa Gonzaga Manrique de Lara) เดินทางมาถึง Nueva España เพื่อจะมาพบกับคู่หมั้น แอนโตนิโอ เด ลา เซรดา (Antonio de la Cerda)
    ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการในพระปรมาภิไธยของกษัตริย์สเปน

    มาเรียได้ยินชื่อเสียงเรื่องการเขียนของฆวนน่า และชื่นชมเธอมาตั้งแต่ยังไม่ได้พบตัวจริง ต่อมาเมือพบกันเธอก็มาหาที่สำนักชีบ่อย ๆ และได้กลายมาเป็นผู้สนับสนุน (Patron, protector) ของฆวนนา



    "Divina Lysi mía:
    Perdona si me atrevo
    A llamarte así, cuando
    Aún de ser tuya 
    el nombre no merezco"

      My divine Lysis:
    do forgive my daring,
    if so I address you,
    unworthy though I am to be known as yours.


    ทั้งสองคนมีอะไรคล้ายกันหลายอย่าง แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือต่างสนใจเรื่องของสิทธิสตรี

    มิตรภาพที่ดีที่ทั้งคู่มีให้กันเริ่มเปลี่ยนเป็นข่าวลือว่าอาจจะมีอะไรมากกว่านั้น แม้ว่าทั้งคู่จะไม่แสดงออกถึงความสัมพันธ์เกินเลยใด ๆ ในที่สาธารณะเพราะกลัวว่าจะถูกตัดสินไปในทางไม่ดีก็ตาม

    เชื่อกันว่ากลอนว่า 50 บทและซอนเนตต่าง ๆ เขียนถึงมาเรีย ภายใต้ชื่อ Lysi 
    ในส่วนตัวกลอนหลายบทก็ชัดเจนว่าเขียนถึงผู้หญิง*

    *ในต้นฉบับไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม แต่นอกจากชื่อแล้ว เราคิดว่าน่าจะเป็นเพราะไวยากรณ์ของภาษาแสดงให้เห็นเพศชัดเจน เช่นคำว่า mia เป็น my ที่ผันเพศเป็นผู้หญิง ซึ่งผันตามสิ่งที่ถูกเป็นเจ้าของ

    ผู้ที่ศึกษางานของฆวนน่า เช่น ออกโตวีโอ ปาซ (Octavio Paz) เชื่อว่าความรักของทั้งคู่ไม่น่าจะเกินเลยไปมากกว่าการแลกเปลี่ยนบทสนทนาและบทกวีอันลุ่มลึกไม่สิ้นสุด ที่คิดเช่นนี้ก็เพราะฆวนน่าในฐานะแม่ชีนั้นน่าจะยึดถือคำสอนและคำสาบานอันบริสุทธิ์ ส่วนในด้านของมาเรีย ก็มีสถานะที่ต้องรักษาด้วย

    แต่ก็มีภาพวาด แฟนอาร์ตต่าง ๆ ที่แบบ  หรอ ออกโตวีโอ

    ภาพเข้าถึงจาก  Khronos historia 
    ซึ่งภาพนี้คนที่ศึกษาส่วนหนึ่งก็อาจจะคิดว่าไม่ เขารักกันบริสุทธิ์ไม่แตะเนื้อต้องตัวกัน แต่แฟนอาร์ตไงคะ you know


    ภาพเข้าถึงจาก  Khronos historia 


    ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จบลงอย่างกระทันหันเมื่ออันโตนิโอถูกเรียกตัวกลับสเปน มาเรียซึ่งเป็นภรรยาก็เลยต้องกลับตามไปด้วย

    ว่ากันว่ามาเรียได้นำรูปของฆวนน่าและแหวนที่ฆวนน่าให้กลับไปสเปนด้วย และเก็บไว้จนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต

    ในปี 1695 มีโรคระบาดเกิดขึ้น กระทบมาถึงสำนักชี มีแม่ชีเสียชีวิตไปหลายคน หลังจากฆวนน่าพยายามช่วยเหลือแม่ชีคนอื่น ๆ เธอก็ติดเชื้อไข้รากสาดและเสียชีวิตลงในวันที่ 17 เมษายนของปีนั้น

  • หนังสืออ่านเพิ่มเติม - ดูเพิ่มเติม

    • มีหนังสือเรื่อง The Tenth Muse: Sor Juana Inés De La Cruz

    • มีซีรีย์ Series: 'Juana Inés' 
    ตัวอย่างสั้นๆ ไม่มีซับ

    ซึ่งซีรีย์ตีความความสัมพันธ์แบบไปให้สุดเลยจ้า ไม่มีกั๊ก เต็มที่เรยเม็กซิโก 
    อันนี้เป็นตั้งแต่ช่วงที่เจอกันแรก ๆ มีซับค่ะ



    • ถ้าใครสนใจแบบ deep analysis เกี่ยวกับงานของฆวนน่า วิดิโอนี้น่าสนใจ แต่เราก็ยังไม่ได้ดูอะนะ 555 อันนี้คือโฟกัสเรื่องงานเชื่อมโยงกับเรื่องผู้หญิง ความคาดหวังต่อผู้หญิงในสังคม เป็นต้น






    หมายเหตุ
    *ในเว็บภาษาอังกฤษเว็บหนึ่งใช้สรรพนามเป็น he แต่เว็บสเปนหลายเว็บก็ใช้ ella (she) หลายเว็บก็ทำการละสรรพนามรัว ๆ แล้วเราก็ไม่มั่นใจว่าช่วงไหน งานไหนหรือมีอะไรที่บ่งบอกว่าเธอระบุอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองยังไง ก็เลยขออนุญาตใช้ตามอันที่ใช้กันมากกว่า 
  • References
    5 poemas de Sor Juana Inés de la Cruz. (2018, February 10). Retrieved from https://revista.poemame.com/2018/02/10/5-poemas-de-sor-juana-ines-de-la-cruz/

    Biografia de Sor Juana Inés de la Cruz. (n.d.). Retrieved from https://www.biografiasyvidas.com/biografia/j/juana_ines.htm

    Biografía corta y resumida de Sor Juana Inés de la Cruz. (2019, March 11). Retrieved from https://www.biografiacortade.com/sor-juana-ines-de-la-cruz/

    Biografía de sor Juana Inés de la Cruz. (2019, July 20). Retrieved from https://www.mujeresnotables.com/2019/02/26/biografia-de-sor-juana-ines-de-la-cruz/

    Bono, F. (2017, March 30). El amor sin tabúes entre sor Juana Inés de la Cruz y la virreina de México. Retrieved from https://elpais.com/cultura/2017/03/29/actualidad/1490761165_233141.html

    Juana Inés de la Cruz. (2003, November 11). Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Juana_In%C3%A9s_de_la_Cruz

    La historia de amor entre Sor Juana Inés de la Cruz y la virreina de México. (2018, June 13). Retrieved from https://www.vanidades.com/realeza/historia-de-amor-sor-juana-ines-de-la-cruz-con-virreina-de-mexico/

    Morales, A. (2019, January 4). Sor Juana Inés de la Cruz: biografía y resumen de su obra literaria. Retrieved from https://www.todamateria.com/sor-juana-ines-de-la-cruz/

    Sor Juana Inez de la Cruz Poems. (2013, December 2). Retrieved from https://lavenderpoems.com/sor-juana-ines-de-la-cruz-poems/

    Sor Juana Inés de la Cruz y su historia de amor con una virreina. (2019, April 17). Retrieved from https://www.infobae.com/america/cultura-america/2019/04/17/sor-juana-ines-de-la-cruz-y-su-historia-de-amor-con-una-virreina/

    Sor Juana Inés de la Cruz. (2014, April 1). Retrieved from https://www.biography.com/writer/sor-juana-ines-de-la-cruz

    ภาพหน้าปกแคปจากซีรีย์

    ถ้ามีข้อผิดพลาดประการใด ขออภัยไว้ก่อนค่ะ แล้วก็รบกวนทักมาบอกหน่อยนะคะะ 
    Contact
    Twt : @rainbowflick17
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in