เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Sleeveless Loverainbowflick17☂️
Omeggid โลกสามเพศของชาวพื้นเมือง
  • มาพูดถึงตำนานพื้นบ้านที่มีคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นตัวเอก อีกทั้งตำนานที่ว่ายังเปิดทางให้ความหลากหลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคม และเพศพื้นฐานมีสามเพศเป็นปกติด้วย เรียกว่าแหกออกจากภาพจำสองเพศ (binary) ไปเลย 

    เรื่องที่จะเล่าคือเรื่องโอเมกิด (Omeggid) ของชาวกูนา (Guna,Cuna) และจะขอเล่าเรื่องชาวกูนาสั้น ๆก่อน

    ชาวกูนา (สั้นๆ)

    ชาวกูนาเป็นชนพื้นเมืองของปานามาและโคลัมเบีย ซึ่งเขาเรียกตัวเองว่า Tule หรือ Dule แปลว่า คน
    พูดภาษาDulegaya หรือที่คนที่ไม่ใช่เพื้นเมืองจะเรียกกันว่าภาษากูนา และใช้ภาษาสเปนกันอย่างกว้างขวางพอกันด้วย โดยจะใช้ภาษาสเปนเวลาอ่านเขียนเรื่องเป็นทางการ ชาวกูนามีระบบปกครองเป็นสัดส่วน ผู้นำเป็นทั้งผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางศาสนา เรียกว่าไซลา (Saila) 

    เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยเกษตรกรรม ประมง และการทอผ้าพื้นเมืองที่เรียกว่าโมลา (Mola) ซึ่งผ้าเป็นที่รู้จักเพราะว่าสวยและเป็นเอกลักษณ์  ด้านครอบครัว การนับญาติเป็นการนับแบบสืบทอดทางแม่ (Matrilineality) แปลว่าผู้ชายแต่งงานใช้นามสกุลผู้หญิงและย้ายเข้าบ้านผู้หญิง

    (จบแล้ว กลัวยาว)

    รูปภาพ โมลา จาก viaje jet
  • I am simply myself


    “I’m Not a Woman and I’m Not a Man. I am Simply Myself.”
    ฉันไม่ใช่ผู้หญิง ฉันไม่ใช่ผู้ชาย ฉันเพียงแต่เป็นตัวของฉันเอง


    ในตำนานของชาวกูนา ผู้นำที่นำเอาวัฒนธรรม ประเพณีและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มารวมกันคือพี่น้องสามคน ประกอบไปด้วยพี่ผู้เป็นตัวแทนเพศชายชื่อ Ibeirgun น้องผู้เป็นตัวแทนเพศหญิงชื่อ Gigadyriai และน้องคนสุดท้องชื่อ Wiggudun 

    Wiggudun
    เป็นโอเมกิด (Omeggid หรือ Omegiid) ซึ่งลื่นไหลอยู่ระหว่างการเป็นทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

    โอเมกิด แปลตรงตัวว่า เหมือนผู้หญิง (like-woman) แต่อย่างที่บอกไปแล้วใช้ชีวิตเป็นดังผู้หญิงและผู้ชาย

    ในวัฒนธรรมของชาวกูนา ถ้าหากเห็นว่าลูกชายมีพฤติกรรมคล้ายผู้หญิงหรืออยากจะเป็นผู้หญิง เขาก็จะเลี้ยงลูกชายให้เป็นลูกสาวไปเลย ส่วนใหญ่จะสอนวิธีการทอผ้าต่าง ๆ ด้วย โดยไม่มองว่าผิดปกติ รวมถึงเข้าใจทันทีว่าลูกของตนไม่ใช่ทั้งลูกสาวและลูกชาย แต่เป็นเพศที่เรียกว่าโอเมกิด พูดอย่างง่าย ๆ คือสังคมเขามีสามเพศมาตั้งแต่ต้นนั่นเอง

    ไม่ใช่ว่าสังคมชาวกูนาไม่มีบทบาททางเพศแต่อย่างใด เขามองว่ามีผู้ชายที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานอย่างการสร้างบ้าน ผู้หญิงที่มีหน้าที่แบบการดูแลบ้านและทอผ้า และมีคนที่ทำทั้งสองอย่างคือโอเมกิด (แต่ค่อนไปทางงานผู้หญิง) จุดนี้มีความซับซ้อนอยู่เหมือนกันเพราะแม้จะมีการแยกงานลักษณะนี้ แต่ชาวกูนาให้ความเห็นว่างานประเภทที่เป็นของผู้หญิงไม่ได้ถูกมองว่าจำเป็นน้อยกว่าหรือมีค่าน้อยกว่างานของผู้ชายแต่อย่างใด

    ชาวกูนายอมรับรักเพศเดียวกัน*

    *ใช้คำว่า homosexual ซึ่งแหล่งข้อมูลพูดถึงผู้ชายกับผู้ชายอยู่ และไม่ได้ขยายว่าผู้หญิงกับผู้หญิงยอมรับไหม ขอติดไว้ก่อนเน้อ

    แล้วอย่างนี้หมายถึงเป็นคนข้ามเพศ (Trangender) หรือเปล่า

    มีคำอธิบายอยู่ในบทสัมภาษณ์เรื่องโอเมกิดว่า เขาไม่มีคอนเซปต์เรื่องคนข้ามเพศ* และคอนเซปต์เรื่องโอเมกิดแตกต่างจากเรื่องนี้อยู่ 




    จากบทสัมภาษณ์ได้ความว่า
    El concepto de Omegiid es ser hombre y mujer , es transitar, es convivir entre los dos generos. Una Megiid no (le) interesa si es una mujer o un hombre. Simplemente ser mujer en su momento.

    แนวคิดของโอเมกิด คือการเป็นผู้ชายและผู้หญิง คือการข้ามผ่าน คือการมีชีวิตอยู่ระหว่างเพศทั้งสอง โอเมกิดไม่สนใจว่าตัวเองเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เพียงแต่เป็นผู้หญิงเมื่อเวลาของการเป็นผู้หญิิงมาถึง

    ซึ่งถ้าจะให้โยงมาแนวคิดปัจจุบันเราอาจจะเรียกการลื่นไหลทางเพศนี้ว่า gender-fluid หรืออาจจะเอียง ๆ ไปทาง non-binary แต่มันก็ไม่เชิงเสียทีเดียวนัก เพราะไม่รู้ว่าคนที่มีเพศกำเนิดเป็นผู้หญิงจะสามารถลื่นไหลแล้วได้รับการยอมรับได้เหมือนคนที่มีเพศกำเนิดเป็นผู้ชายหรือเปล่า แม้ว่ามันจะคาบเกี่ยวอยู่กับการเป็น ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และ ไม่ใช่ทั้งผู้หญิงทั้งผู้ชาย ก็ตาม ผลสุดท้ายแล้วคิดว่าคอนเซปต์ของคำของเขาน่าจะอธิบายตัวเองได้ดีสุดแล้ว


    *โดยขอใช้นิยามคนข้ามเพศตามความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป คือบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด

  • ปานามาในประวัติศาสตร์และในปัจจุบัน

    ในด้านประวัติศาสตร์ การล่าอาณานิคมย่อมนำเอาความเชื่อต่าง ๆ เข้ามาด้วย อย่างที่รู้กันว่าสเปนนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก และเป็นคาทอลิกจ๋าในสมัยก่อน เรื่องรักเพศเดียวกันถูกมองเป็นบาปในสมัยนั้น หลังจากที่สเปนตั้งอาณานิคมในปานามา LGBT ก็กลายเป็นข้อห้าม การมีสัมพันธ์ทางทวารหนักมีโทษประหาร แต่แม้จะถูกกดดันและปราบปรามในช่วงนั้น ชาวกุนาก็สามารถรักษาประเพณีและขนบธรรมเนียมประเพณีเอาไว้ได้ 

    สเปนปกครองปานามายาวนานกว่าสามร้อยปี ความคิดเรื่องรักบางประเภทเป็นบาปจึงฝังอยู่ในปานามา แม้จะประกาศเอกราชแล้ว รัฐบาลปานามาก็ยังพยายามปราบปราบรักเพศเดียวกันอยู่ดี แต่ชาวกุนาก็ยังรักษาความเชื่อเอาไว้อีกเช่นเดิม

    ปานามาเคยจัดเดินขบวนไพรด์ไปแล้ว แต่ภาพรวมสังคมปานามาปัจจุบันยังมีอคติเรื่องความหลากหลายทางเพศอยู่พอควร  เท่าทีฟัง ๆ มาคือถ้าไปเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่จะปลอดภัยกว่า แต่อาจโดนล้อได้เหมือนกัน บางโรงแรมอาจไม่ต้อนรับ ถ้าไปต่างเมืองก็ต้องลองศึกษาดูก่อนว่าท่าทีในเมืองนั้นโดยรวมเป็นยังไง 

    มีนักเคลื่อนไหวหลายคนออกมาเรียกร้องสิทธิ์ และยังเรียกร้องอยู่จนปัจจุบัน 


    ชีวิตจริงเป็นอย่างแนวคิดทุกกระเบียดนิ้วเลยหรือเปล่า

    โรเบิร์ต คาลแมน (Robert Kalman) ช่างภาพผู้สนใจเรื่องความหลากหลายได้จัดทำบล็อกรวบรวมความคิดเห็นและความในใจต่าง ๆ ของโอเมกิดมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งน่าสนใจมาก ๆ  
    (ที่จริงเป็นบล็อกรวบรวมเรื่องคนข้ามเพศในอิสราเอลและโอเมกิดในปานามารวมกันอยู่ค่ะ) 

    >>เข้าชมบล็อกได้ด้วยการคลิ๊กตรงนี้<<

    เนื่องจากติดลิขสิทธิ์ ถ้าสนใจขอให้คลิกเข้าไปดูเองนะคะ ไม่มีรูปเลยตอนนี้ แห้งมาก

    ถ้าเข้าชมในบล็อกข้างต้น ก็จะเห็นว่ามีทั้งคนที่มองว่าตัวเองเป็นผู้หญิงเลย คนที่เรียกตัวเองว่าโอเมกิดและรู้สึกว่าตัวเองเป็นโอเมกิดเหมือนคนอื่น ๆ แต่อยากจะรักษารูปร่างลักษณะภายนอกที่ยังคงความเป็นชายไว้ คนที่มองตัวเองว่าไม่ใช่ทั้งหญิงทั้งชาย และคนที่มองว่าเป็นทั้งคู่

    และมีคนที่มีปัญหาการไม่ยอมรับเหมือนกัน (มีคนที่บอกว่าอยากแต่งงานถ้าประเทศปานามายอมให้แต่งงานเพศเดียวกันถูกกฎหมายเสียที คนที่บอกว่าที่บ้านไม่ยอมรับ ไปจนถึงคนที่รู้สึกว่าต้องพิสูจน์ว่าโอเมกิดมีคุณค่าด้วยการพยายามเลี้ยงลูกสาวของตัวเอง) 

    งงๆไหมคะ ว่าปัญหาการไม่ยอมรับมาได้อย่างไรถ้าคนยึดถือตำนานและแนวคิดนี้มายาวนานมาก ในสัมภาษณ์ของบีบีซี นานดิด โซลิส การ์เซีย (Nandín Solís Garcia) นักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิทางเพศในปานามา ออกความเห็นว่า การที่ชาวพื้นเมืองติดต่อกับคนข้างนอกโดยเฉพาะแถบตะวันตก ทำให้ได้รับเรื่องการเลือกปฎิบัติเพราะอคติทางเพศกลับมา (แต่ในภาพรวมยังไม่มาก ชาวกูนายังมองว่าเรื่องลื่นไหลทางเพศสุดจะธรรมดาอยู่ดี)

    นอกจากนั้นอีกปัญหาหนึ่ง คือมีคนที่ออกไปโดยที่ไม่มีความรู้เรื่องการป้องกันในการมีเพศสัมพันธ์แล้วนำเอาเอชไอวีกลับมาด้วย ตอนนี้ก็มีการจัดตั้งองกรณ์เพื่อให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์และการป้องกันแล้วค่ะ


  • ไม่ใช่แค่ในกูนาที่มีความลื่นไหลทางเพศ

    ตลอดทุกยุคสมัยในวัฒนธรรมจากทั่วมุมโลก ความลื่นไหลทางเพศและแนวคิดเรื่องเพศนอกเหนือจากชายหญิงมีปรากฏให้เห็นเสมอ: ฮิญาส (hijras) ในประเทศอินเดีย; เมติ (Meti) ในประเทศเนปาล Fa’afafine ในซามัว; คน 'สองตัวตน'(Two-Spirited) ในอเมริกาเหนือ  (Gerulaityte,2018 )

    ถ้ามองจากชาวพื้นเมืองแล้ว เราที่มีแค่สองเพศตางหากที่แปลก



    บันทึกผู้เรียบเรียง - ข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

    เป็นเรื่องเพศที่น่าสนใจ คิดว่าถ้าเป็นผู้หญิงต้องการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศขึ้นมาจะมีอะไรรองรับไหม น่าสนใจมากที่มีที่ที่เขาใช้คำว่าเพศที่สามกันแบบไม่ได้เป็นคำที่สร้างขึ้นมา ซึ่งเราจะเรียกว่าเขาเปิดรับทางเพศขนาดไหนก็ต้องศึกษาเพิ่มเติม

    หลายประเทศในอเมริกากลางยังไม่ค่อยยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศเท่าไหร่ บางประเทศก็LGBT friendly บางประเทศเพศเดียวกันจับมือกันเดินในที่สาธารณะไม่ได้ (แล้วแต่เมืองที่ไปด้วย)  บางประเทศมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีเป้าหมายชัดเจนเป็นคนข้ามเพศ ผลสำรวจของคนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันอยู่  (ประมาณ 70-90%) 

    แต่ละประเทศก็มีนักเคลื่อนไหวที่พยายามเรียกร้องสิทธิ มีตั้งกลุ่มองกรณ์ขึ้นมาเรียกร้องเหมือนกัน ข้อเรียกร้องบางอย่างก็สำเร็จ หลายอย่างก็ไม่สำเร็จ ขึ้นอยู่กับบริบทสังคมด้วย ถ้าประเทศมีประวัติศาสตร์ที่ไม่ยอมรับความหลากหลายสูง นักเรียกร้องก็จะโดนขู่ฆ่าไปตามระเบียบ
    อันนี้ถ้าจะไปเที่ยวประเทศไหนก็คงต้องลองหาข้อมูลดูก่อนค่ะ  ประเทศที่ LGBT friendly ก็มีเด้อ

    More About LGBTQ+ in Central America
    มีเรื่องน่าสนใจอยู่นะ อย่างกัวเตมาลานี่ก็ได้ยินมาว่าแสดงออกโจ่งแจ้งไม่ได้มาก จับมืองี้ก็อาจจะแปลก ๆ ไปจนถึงไม่ปลอดภัย ขึ้นอยู่กับโซนที่ไป ผลสำรวจปี 2013 คนก็ยังไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานเพศเดียวกันประมาณ 80 % แต่ก็มีนักการเมืองหญิงที่เป็นเลสเบี้ยนได้เข้าไปนั่งในสภาในปี 2015 ชื่อว่า ซานด้า โมรัน (Sandra Moran) ซึ่งเธอก็บอกโต้ง ๆ ในบทสัมภาษณ์เลยนะว่าเธอเป็นเลสเบี้ยน เธอก็เข้าไปสนับสนุนเรื่อง LGBTQ นี่แหละ แต่ตอนนี้น่าจะไม่ได้เล่นการเมืองแล้ว 

    -
    • ครั้งนี้แหวกแนวจากที่ปกติจะทำประวัติบุคคลไปนิดหน่อย พอดีว่าจะทำเรื่องอเมริกากลาง (บังคับตัวเองด้วย เพื่อให้ตรงกับเนื้อหาที่เรียนอยู่ 555) หาเรื่องคนไม่ค่อยเจอ หรือเจอในลัหษณะที่ยังเอามาเขียนเป็นเรื่องไม่ได้ สุดท้ายก็เลยมาจบตรงนี้ แต่ก็ไม่ได้ตรงกับเนื้อหาที่เรียนอยู่ดี 55555
  • References
    Concepto de Omeggid [Video file]. (2015, June 5). Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=8ULkTB840rs

    Gerulaityte, E. (2018.). Guna Yala: The islands where women make the rules. Retrieved from http://www.bbc.com/travel/story/20180813-guna-yala-the-islands-where-women-make-the-rules

    "I am simply myself". (n.d.). Retrieved from https://www.robertkalmanweb.com/content.html?page=9

    Kuna people [Video file]. (2004, May 5). Retrieved from https://en.wikipedia.org/wiki/Kuna_people

    LGBT rights in Panama. (2007, March 19). Retrieved September 17, 2019, from https://en.wikipedia.org/wiki/LGBT_rights_in_Panama

    These Portraits Of Panama's Omeggid Community Gives Them A Voice. (2018). Retrieved from https://www.intomore.com/culture/these-portraits-of-panamas-omeggid-community-gives-them-a-voice

    เหมือนเดิมค่า ถ้าพบเห็นข้อผิดพลาด คลาดเคลื่อนประการใดรบกวนสะกิดผ่านช่องทางข้างล่าง
    หรือถ้าอยากติดต่อเราสามารถติดต่อได้ที่ช่องทางเดียวกัน

    DM Twt  : @rainbowflick17

    *แก้ไข 1 แก้คำผิดค่ะ 

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in