เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ความเรียงล้านแปดOrraphansilp
หนังสือดีในดวงใจแม่และลูก
  •           เราได้หนังสือเล่มนี้มาจากพี่คนหนึ่ง เขายื่นให้โดยเจาะจงเลยว่าเราต้องได้เล่มนี้ ณ ขณะนั้นเราดีใจที่ได้หนังสือกวีนิพนธ์มาประดับชั้นหนังสือเพิ่ม ก้มมองหน้าปกการันตีว่าพิมพ์ครั้งที่ ๑๔ อีกทั้งยังได้รับรางวัลกวีนิพนธ์ดีเด่น งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติด้วย คิดในใจ หนังสือเล่มนี้ต้องไม่ธรรมดาแน่ ๆ...แต่เรายังไม่อ่าน

              เวลาผ่านล่วงไปประมาณหนึ่งอาทิตย์ เราหยิบหนังสือเล่มนี้ติดกระเป๋าไปทำงานด้วย ใช้เวลาที่เปล่าเปลืองบนรถเมล์ยามเช้าอ่านเนื้อใน พลันก็รู้สึกว่าเป็นกวีนิพนธ์เกี่ยวกับความรักของแม่ที่มีต่อลูกที่ดีที่สุดเท่าที่เคยอ่านมา

    เจ้าพลิกคว่ำครั้งแรกสี่เดือนเศษ                           สังเกตว่าลูกแม่เจ้าหนักร่าง
    ชูคอ คอตั้งอยู่ ใบหูกาง                                         ปากบางยิ้มอ้า ตาดำแวว
    แล้วเริ่มนั่ง เริ่มคลาน เริ่มตั้งไข่                            เคลื่นไหวพร้อมส่งเสียงแจ้วแจ้ว
    เริ่มทอดย่างใกล้ใกล้ไปตามแนว                           เป็นดวงแก้วที่แม่หุ้มด้วยเปลือกไม้
    .
    .
    .
    เลี้ยงลูกเพื่อให้เจ้าเป็นลูก                                      รู้ผิด รู้ถูก รู้ดีชั่ว
    กับปู่ย่าตายายต้องเกรงกลัว                                  รู้จักตัวว่าพ่อแม่เป็นผู้ใด
    ข้าวปลาอาหารที่กินอยู่                                         ต้องรู้ว่าได้มาจากไหน
    ฝึกให้คิดซ้ำซ้ำว่า ทำไม ทำไม                               เพื่อเติบใหญ่เจ้าจะได้ตอบทันที

                ผู้เขียนคือ อาจารย์เตือนใจ บัวคลี่ ด้วยความที่เราอยากรู้ประวัติและเรื่องราวของท่านจึงลองค้นในกูเกิลดู เพราะปกติเวลาค้นประวัตินักเขียนท่านอื่นก็จะค้นเจอได้โดยสะดวกดาย แต่นั่นไม่ใช่กับประวัติของอาจารย์เตือนใจ ไม่เป็นไร พลิกหนังสือไปในหน้าสุดท้าย ก็พอจะมีคำพูดและเรื่องราวคร่าว ๆ ของอาจารย์ให้ได้อ่านบ้าง

    'เด็กจะเกิดมาอย่างบริสุทธิิ์ได้นั้น ก็เพราะพ่อแม่บริสุทธิ์ กล่าวคือ มิใช่ด้วยความคะนอง ด้วยการลักลอบ ด้วยการล่อลวงข่มเหง'

    'เราผลัดกันเล่านิทานให้ลูกฟังทุกคืน ของดิฉันมักท่องเป็นกลอนตลอดเรื่อง'

    'ทุกคำใน "ปั้นมากับมือ" มันหลั่งไหลออกมาเอง ตั้งใจจะให้ลูกอ่านเมื่อโตขึ้น เป็นเพียงบันทึกของผู้หญิงคนหนึ่งที่จารหัวใจออกมา ถ่ายทอดความรู้สึกที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันทั้งที่บ้านและที่ทำงาน แจกแจงประสบการณ์ที่สะสมไว้อันเป็นเสมือนภาพเงาของตัวเอง ไม่ได้คิดเขียนเพื่อจะประกวด บางวรรคบางบทอาจจะตรงกับความรู้สึกของท่าน นั่นเพราะสายใยของดวงใจแม่ทุกดวงย่อมโยงประสานไปที่จุดเดียวกันคือ ลูก' 

    เราอ่านกวีนิพนธ์เล่มนี้ด้วยความเต็มตื้นในทุกหน้า บางบททำให้เรายิ้ม บางบททำให้เราซึม แต่ทุกบทล้วนทำให้เราคิดถึงแม่

    ลูกของแม่เป็นนิสิต นักศึกษา                 ไกลหูไกลตาของพ่อแม่
    เจ้าของหออาจจะช่วยดูแล                     ก็เพียงแต่ผิวเผิน ธรรมดา
    ลูกอาจไปดูหนังกับเพื่อนรัก                   กลับเข้าหอพักห้าทุ่มกว่า
    ลูกอาจไปซุกซนถึงพัทยา                       กลับทันเวลาปิดประตู
    ลูกของแม่อาจไปได้ อาจไปเสีย              กลายเป็นผัว เป็นเมีย ทั้งทั้งเรียนอยู่
    พ่อแม่อยู่ไกลไหนจะรู้                             ก็ยกก็ชูกันต่อไป
    .
    .
    .
    ลูกของแม่เป็นนิสิต นักศึกษา                 หวังว่ารักษ์ตัว - หน้าพ่อแม่ได้
    เรื่องแบบนี้ปิดมิอยู่คนรู้นัย                     ความภูมิใจในตน ลูกเอ๋ย น้อยคนจะมี

    หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ๒๕๓๑ ปีถัดมาได้รับรางวัลกวีนิพนธ์ดีเด่น งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ผ่านมาเกือบ ๓๐ ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่พิสูจน์ได้ดีว่าหนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่เป็นกวีนิพนธ์ร่วมสมัยอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ถ้อยคำของแม่ (เตือนใจ) นอกจากจะทำให้ลูก (เรา) ร้องไห้ได้แล้ว ยังทำให้แม่ (ของเรา) หวนระลึกถึงวันแรกที่ได้บรรจงปั้นเรามากับมือด้วยความรักและน้ำนม (แอบเห็นแม่น้ำตาซึมด้วยล่ะ)









เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in