เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
ขิงข่ามังงะอนิเมและนิยายวายPurin
แปลบทวิเคราะห์ Banana Fish ep.9: Save Me the Waltz
  • note:
    - บทวิเคราะห์ทั้งหมดนี้เราแปลมาจากทวิตเตอร์ของคุณ @NomiMatsu
    - แปลเฉพาะบางส่วนที่เราคิดว่าน่าสนใจ แบบเต็มๆ สามารถเข้าไปอ่านได้ตามลิ้งก์ที่ให้ไว้เลยค่ะ- จะแปลมาเรื่อยๆ แต่อาจแปลข้ามตอนบ้าง ตามเนื้อหาที่เรารู้สึกว่าน่าแปล
    - เราถอดบทแปลมาด้วยภาษาของเราเอง และอาจเพิ่มเติมเนื้อหานิดหน่อยให้คนอ่านเข้าใจง่ายมากขึ้นนะคะ
    - บทวิเคราะห์ทั้งหมดเป็นแค่ความคิดเห็นส่วนบุคคล (จากทั้งของคนเขียนและของเรา) ซึ่งอาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ คิดเห็นยังไงมาพูดคุยกันได้นะคะ
    - อยากให้แปลบทวิเคราะห์ไหนอีก เม้นบอกกันได้เด้อ

    ----

    Banana Fish ep.9: Save Me the Waltz
    ワルツは私と
    (waltz wa watashi to)

    ปลากล้วยตอนที่ 9: วอลซ์กับฉัน

    บทนี้เราจะแปล 2 ประเด็นด้วยกันค่ะ 
    1. ความเชื่อมโยงของชื่อเรื่องกับอนิเม
    2. รูปปั้นเทวดาที่อยู่ในห้องทรมาน 

    คำเตือน: เนื้อหาจะสปอยด์ถึงตอนที่ 9 เน้นๆ ค่ะ ใครจิตใจบอบบางค่อยๆ อ่านน้า

    ประเด็นที่ 1: Save Me The Waltz 
    Save Me The Waltz เป็นงานเขียนอันโด่งดังของ Zelda Fitzgerald (ตีพิมพ์ปี 1932) ซึ่งเนื้อหาไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเนื้อเรื่องในอนิเมเลย แล้วทำไม MAPPA ถึงใช้ชื่อนี้? เรามาลองอ่านกันค่ะ


    หนึ่งคือ MAPPA อาจจะแค่เอาคำว่า Save Me มาเล่นเฉยๆ ทำนองว่าเป็นคำขอของชอตเตอร์ (ให้แอช) ช่วยปลดปล่อยเขาจากความทรมานนี้ที

    หรือสอง การเคลื่อนไหวของชอตเตอร์และเอย์จิที่กำลังสู้กันอยู่นั้น มีจังหวะเหมือนการเต้นรำ (ลองดูพร้อมฟังดนตรีก็จะรู้สึกว่าจังหวะมันได้จริงๆ) โดยคำว่า Waltz เป็นภาษาเยอรมัน มาจากคำว่า Walzen ซึ่งแปลว่า ม้วน, เลี้ยว, เลื้อย, สไลด์ หรือเดินไปรอบๆ (roll, to turn, to glide/slide, or to wander.) ซึ่งตรงกับจังหวะของทั้งสองคนในอนิเม

    ชอตเตอร์จู่โจมเอย์จิด้วยการพุ่งเข้าหา ในขณะที่เอย์จิต้องพยายามเบี่ยงหลบไปด้านข้าง ชอตเตอร์หมุนตัวไปหาเอย์จิอีกรอบ จนเอย์จิต้องม้วนตัวหลบออกมา และสู้กันไปรอบๆ ห้อง เหมือนความหมายของคำว่า Walzen


    ดังนั้นมันอาจเป็นไปได้ว่า ชื่อตอน Save Me The Waltz เป็นคำพูดของชอตเตอร์ (ที่ถูกยาควบคุม) กับเอย์จิ เปรียบเสมือนเป็น "การเต้นรำเพื่อเอาชีวิตรอด" ในฉากนี้

    ในศตวรรษที่ 18 การเต้นรำแบบวอลซ์ถูกผู้นำทางด้านศาสนาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นบาปและน่าอับอาย เพราะความใกล้ชิดของนักเต้น และจังหวะการหมุนอันรวดเร็ว อีกทั้งกำแพงห้องทรมานยังเป็นอิฐ อันเป็นลักษณะทางสถาปัยตกรรมที่โดดเด่นในช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งในมังงะไม่ใช่กำแพงอิฐ ก็ไม่แน่ว่าอนิเมอาจจะจงใจใช้ดีไซน์แบบนี้รึเปล่า?


    จบประเด็นที่ 1 มาต่อประเด็นที่ 2 กันค่ะ

    ประเด็นที่ 2 นี้มีสปอยด์ Side Story: Angel Eyes ซึ่งเป็นเรื่องราวตอนที่ชอตเตอร์เจอกับแอชครั้งแรก ใครยังไม่ได้อ่านลองไปอ่านก่อน หรือไม่ก็ข้ามไปก็ได้ค่ะ

    ประเด็นที่ 2: รูปปั้นเทวดา
    สำหรับใครที่เคยอ่าน หรือยังไม่เคยอ่านแล้วขี้เกียจไปอ่าน เราจะเล่าคร่าวๆ ให้ฟังนะคะ

    ครั้งแรกที่ชอตเตอร์เจอกับแอช ชอตเตอร์บอกแอชว่าเขารู้สึกคุ้นๆ หน้าแอช แต่นึกไม่ออกว่าที่ไหน จนกระทั่งชอตเตอร์เห็นแอชนั่งอ่านหนังสืออยู่ในห้องสมุด ถึงได้นึกออกว่าแอชเหมือนนางฟ้าในโปสการ์ดที่นาเดีย (พี่สาวของชอตเตอร์) ส่งมาให้ในวันคริสต์มาส


    ชอตเตอร์ยังคิดเลยว่า แอชเนี่ยเหมือนนางฟ้าเหรอ? ตลกชะมัด (เพราะอย่างที่รู้กันว่าแอชดุมาก และมักจะโดนเรียกว่าปิศาจหรือซาตานมากกว่า)


    ซึ่งฉากที่ชอตเตอร์มองไปยังรูปปั้นนี้ ไม่มีปรากฏในมังงะ (ในมังงะคือแค่ชะงักไปเฉยๆ) ก็หมายความว่า MAPPA น่าจะจงใจเอาฉากใน Angel Eyes มาใช้ในอนิเมแน่นอน (ขยี้เก่งงงงงงงงงงง)

    ในฉากนี้จะมีเทวดาที่เด่นๆ อยู่สององค์ด้วยกันก็คือ Selaphiel กับ Michael ซึ่งเป็นเทวดาในลำดับชั้นอัครทูตสวรรค์ทั้ง 7

    องค์ที่เห็นเด่นชัด หรือก็คือองค์ที่ชอตเตอร์มอง น่าจะเป็น Selaphiel (ซารีเอล, ซีลเทียล มีหลายชื่อมากจนเราไม่รู้ว่าอันไหนถูกันแน่ แง) พระองค์เป็นเทพแห่งการสวดอ้อนวอน (Prayer) หรือเทพแห่งการเยียวยา บ้างก็ว่าเป็นเทพแห่งความตาย มักจะปรากฏในพระคัมภีร์ของชาวอิสลามและชาวยิวมากกว่า


    โดยส่วนใหญ่เมื่อเราค้นหารูปของเทพองค์นี้ จะพบว่าเป็นเทพองค์เดียวที่อยู่ในท่าของการสวดอ้อนวอน ซึ่งมี 3 ลักษณะเด่นคือ
    1. หัวจะก้มลง
    2. ดวงตามองที่ด้านล่าง
    3. มือวางบนหน้าอกหรือไขว้ไว้ตรงช่วงหน้าอก

    ดูแล้วก็ใกล้เคียงกับภาพในอนิเม

    นอกจากนี้ Selaphiel ยังเป็นเทพแห่งการนำทาง ซึ่งจะช่วยชี้ทางให้กับผู้ที่ทรมานหรือหลงทาง หรือแม้แต่ปลดปล่อยผู้คนจากอาการติดเหล้าหรือสารเสพติด ซึ่ง...ก็ใกล้เคียงกับสิ่งที่ชอตเตอร์เป็นอยู่

    เพิ่มเติมจากผู้แปล: เทวดาในฉากนี้น่าจะตีความได้ว่า เป็นตัวแทนของแอช (ตามในมังงะ Angel Eyes) และสื่อถึงการสวดอ้อนวอน การหลุดพ้น และความตาย เหมือนที่ชอตเตอร์ขอร้องแอชให้ฆ่าเขาซะ เพื่อที่เขาจะได้หลุดพ้นจากความทรมาน (จากยานี้) เสียที

    เทวดาอีกองค์นึงที่อยู่ตรงข้าม ในฉากที่ชอตเตอร์หันกลับมาหาแอช เดาว่าน่าจะเป็น Michael (มิคาเอล) เทวดาแห่งการลงทัณฑ์ และเป็นเทวดาที่สามารถเอาชนะลูซิเฟอร์ในสงครามแห่งสวรรค์ได้ 

    เผื่อใครไม่รู้เรื่องเทวดาฝั่งตะวันตก หรืออาจจะลืมๆ ไป ลูซิเฟอร์เป็นเทวดาที่ทำบาป และทรยศต่อพระเจ้า ทำให้ถูกขับไล่ลงมาอยู่ในนรก และเป็นที่รู้จักกันในนามซาตาน


    ซึ่งถ้าจะโยงก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับตัวชอตเตอร์ ที่ทรยศต่อแอช ร่วมมือกับเยว่ลุงพาเอย์จิมาให้ดีโน่ (แม้สถานการณ์จะบังคับก็ตาม) เช่นเดียวกับลูซิเฟอร์ ซึ่งเป็นเทวดาที่จิตใจงาม แต่ก็นั่นแหละ เขาทรยศต่อพระเจ้า จึงต้องถูกลงโทษ

    ดังนั้นเทวดาในฉากนี้จึงน่าจะสื่อได้ว่า ชอตเตอร์ต้องการถูกลงโทษที่ทรยศเพื่อนของเขา

    เทวทั้งสองอยู่ตรงข้ามกัน องค์หนึ่งหมายถึงการ "รักษา" และอีกองค์หมายถึงการ "ลงโทษ" ก็อาจจะแปลได้ถึงการที่ชอตเตอร์ถูกลงโทษ (โดยแอช) แต่ในขณะเดียวกันมันก็ช่วยรักษา (หรือปลดปล่อย) เขาจากสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่ ด้วยความตายนั่นเอง

    ความเห็นส่วนตัว: 
    - ร้องไห้แป๊บ
    - เรารู้สึกเห็นด้วยโคตรๆ กับบทวิเคราะห์นี้เลยค่ะ เรื่องวอลซ์นี่ก็ไม่แน่ใจนะ แต่คิดว่าเขาโยงได้ดีทีเดียวล่ะ 5555

    ----

    อ่านแล้วคิดเห็นยังไง อย่าลืมมาเม้ามอยขิงข่ากันได้นะคะ ♥
    Thanks @NomiMatsu for the analysis.

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Thanaporn Chaipadtha (@fb2455082571405)
งืออ นี่ก็สงสัยตลอดเลยค่ะ ว่าตอนรูปนางฟ้าแล้วทำถึงคิดถึงแอช? ตอนแรกคิดว่าเพราะเห็นเป็นสีทองๆ(เหมือนสีผมแอช) แต่เป็นเพราะงี้เอง ขอบคุณที่แปลให้อ่านนะคะ?