Grey Zone เป็นเพลงที่มีเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษล้วน แทร็คที่ 6 (CD1) ในอัลบั้ม Newton's Apple สตูดิโออัลบั้มเต็มชุดที่ 6 (ไม่นับรวมอัลบั้มอินดี้) ออกมาเมื่อปี 2014 เป็นอัลบั้มชุดสุดท้ายที่เป็นเหมือนบทสรุปของเซตไตรภาค Gravity ที่ทางวงตั้งใจทยอยออกมา ให้เป็นเซตอัลบั้มไตรภาคที่มีคอนเซปหลักคือ "แรงโน้มถ่วง (Gravity)" ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง แม้เราจะมองไม่เห็นหรือสัมผัสไม่ได้ คล้ายกับอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างที่เราอาจหลงลืมไป แต่มันก็มีอยู่จริงเช่นกัน วง NELL จึงแทนความนามธรรมเหล่านี้ออกมาในธีมหลักของ "แรงโน้มถ่วง (Gravity)" นั่นเอง ซึ่งเพลงที่อยู่ในอัลบั้มต่างๆ ก็จะมีคอนเซปย่อยที่แตกต่างกันออกไปอีก
Gravity Trilogy
NEWTON'S APPLE : Album Preview
สำหรับ Grey Zone เป็นเพลงที่เล่าเรื่องราวผ่านซาวด์ดนตรีที่กลมกลืนไปกับเนื้อร้องจนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะหากสังเกตในอัลบั้มนี้ บางสิ่งบางอย่างไม่อาจแสดงออกมาผ่านทางเนื้อเพลงเพียงอย่างเดียว ยังมีองค์ประกอบอื่นๆที่ช่วยเสริมอารมณ์ของเพลงทั้งหมดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งเพลง Grey Zone นี้มีความยาว 5:30 นาที สำหรับวง NELL แล้วถือว่าเป็นเพลงที่ไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไป ทั้งเพลงมีคำร้องเพียงไม่กี่ประโยค โดยมีคีย์เวิร์ดอยู่ตรงท่อนที่ว่า "We are so much better when we are not together" เป็นเนื้อเพลงที่เป็นเหมือนหมัดฮุค ตรงจุด ไม่อ้อมค้อม เป็นจุดแข็งของเนื้อเพลงที่แม้จะมีเพียงไม่กี่ประโยค แต่เป็นเนื้อความที่แข็งแรง ได้ใจความ จึงเป็นเนื้อเพลงที่ไม่จมหายไปแม้อยู่ในเพลงที่มีซาวด์ดนตรีโดดเด่น แถมยังวนซ้ำ กลมกลืนไปพร้อมกับซาวด์ดนตรีที่วนลูปและไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ตอกย้ำความหมายในทุกขณะที่เพลงดำเนินไป โดยที่ ให้ความหน่วง อึมครึม และคลุมเครือ
หลายคนหากได้ฟังเพลงนี้ คงนึกถึงเรื่องราวของสถานะหนึ่งของความสัมพันธ์ เพราะคำว่า Grey Zone โดยเนื้อความที่มีฉากหลังเป็นเรื่องราวของความรักนั้น มันให้ความรู้สึกก้ำกึ่ง ไม่ชัดเจน เป็นความสัมพันธ์แบบไม่ดีไม่ร้าย ถือเป็นความโรแมนติกเล็กๆก็ว่าได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วคิม จงวาน (นักร้องนำและผู้ที่แต่งเพลงทั้งหมดของ NELL) ไม่ได้แต่งเพลงนี้เพื่อพูดถึงเรื่องราวของความสัมพันธ์ในเรื่องความรัก คำว่า "You" ในที่นี้จึงไม่ได้หมายความถึงตัวบุคคล และเช่นกันคำว่า "We" ในที่นี้จึงไม่ได้หมายถึงฉันและเธอ
Grey Zone เป็นเพลงที่มีพาร์ทดนตรีเด่นมากๆ มีเสียงกีตาร์ที่โดดเด่น โดยเพลงนี้เริ่มจากการที่คิม จงวานเล่นคอร์ดกีตาร์อย่างง่ายขึ้นมา และเรียบเรียงไปเรื่อยๆ เป็นเพลงที่วงย้อนกลับไปเป็นซาวด์ดนตรีแบบสี่ชิ้น มีความเป็น progressive rock และกลับไปสู่ความ back to basic อีกครั้ง ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ลงตัวและซาวด์ดีสุดๆ เพลงเนื้อหน่วงๆ แต่ดนตรีโดยเฉพาะพาร์ทหลังฟังแล้วดีดมาก ให้ความรู้สึกพุ่งทะยาน สดชื่น มีชีวิตชีวา เป็นเพลงยาว 5:30 นาทีที่ไม่ยึดเยื้อ มีความครึกครื้น กระฉับกระเฉง ได้กลิ่นของความแฟนตาซีนิดๆในความสว่างเจิดจ้าของซาวด์ดนตรี ซึ่งขัดกับความหมายหม่นๆของเนื้อเพลง ตามสไตล์ที่วงชอบใช้ มีซาวด์ดนตรีเป็นเมนหลักพาให้เสียงร้องไหลกลมกลืนไปกับดนตรี จนเราจะรู้สึกได้เลยว่าเสียงร้องคือเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง ที่ช่วยกันโหมบรรเลงและแลนด์ดิ้งจบเพลงอย่างสวยงามด้วยความอึมครึมตามชื่อเพลงอีกครั้ง
เพลงนี้เป็นเพลงที่วงพอใจกับการเล่นสดมาก เพราะเวอร์ชั่น live ซาวด์จะมีความดีดแบบขั้นกว่า เพลงจะดูมีจังหวะ มีชีวิตมากขึ้นมากๆ วงเลยมักจะเล่นเพลงนี้ในงานเทศกาลดนตรีอยู่บ่อยๆ อารมณ์เพลงจะค่อยๆพุ่งสูงไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ โดยที่คิม จงวานมักจะร้องไล่ไปถึงคีย์สูงในช่วงท้าย สูงมากสูงน้อยแล้วแต่อารมณ์ 5555 และมีการว๊ากเล็กๆในช่วงท้ายเพลงทุกครั้งที่เล่นสดเช่นกัน (แพ้ทางมาก ชอบ อยากให้ร้องโทนนี้บ่อยๆ)
Thankyou South KoreaHere’s a song by Korean band Nell that I like very much https://t.co/JtkpfDSjhvHappy EasterLove— Coldplay (@coldplay) April 17, 2017
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in