"Great Men Academy สุภาพบุรุษสุดที่เลิฟ" ซีรี่ส์วัยรุ่นน่ารัก สดใส เบาๆ เสพย์ง่าย เสริมสร้างจินตนาการไปกับยูนิคอร์น555 พร้อมเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน พ่อ แม่ พี่ น้อง คนรักเอาไว้อย่างอบอุ่น สามารถรับชมได้ทาง LINE TV
เราเลือกหยิบตัวละครหลักอย่าง "พี่เวียร์" กับ "พี่แตงโม" (ของน้องเลิฟ) มาบอกเล่าเพราะทั้งสองตัวละครสะท้อนให้เห็นถึงการมี mindset ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ทำให้นึกถึงหนังสือ mindset ใช้ความคิดเอาชนะโชคชะตา เขียนโดย Carol S. Dweck เป็นหนังสือที่เปิดมุมมองการใช้ชีวิตได้ดีมากๆ กล่าวถึงกรอบคิด (mindset) สองแบบ ได้แก่ กรอบคิดแบบตายตัว (Fixed mindset) และกรอบคิดแบบพัฒนาได้ (Growth mindset) ซึ่งหนังสือเล่มนี้ปรากฏอยู่ในซีรี่ส์ด้วย
"เวียร์" ภาพของคนที่มีกรอบคิดแบบตายตัว เขาถูกหล่อหลอมกรอบคิดแบบตายตัวจากอันตรายของการชื่นชม "ความเก่ง" จากพ่อของเขา ผลักดันให้เขาต้องทำทุกอย่างให้เป็นอย่างที่พ่อกล่าวชมเสมอ "ลูกพ่อเก่งอยู่แล้ว..." ซึ่งเขายังรับรู้ได้ว่าพ่อไม่ได้คิดว่าเขาเก่งจริงๆ พ่อโกหกเขามาตลอด แต่มันได้ถูกปลูกฝังเป็นกรอบคิดของเขาไปแล้ว ยิ่งถูกชมว่า "เก่ง" ยิ่งทำให้เขากดดัน มัวจดจ่ออยู่กับผลลัพธ์ เขาจะเผยข้อบกพร่องให้ใครเห็นไม่ได้ เขาจะแพ้ไม่ได้! เพราะเขาคิดว่าหากพลาดหรือแพ้ขึ้นมา พ่อกับคนอื่นจะกังขาในความสามารถของเขา และตัดสินเขา...
"การไม่ยอมติเพื่อก่อไม่ได้ช่วยให้เด็กมีความมั่นใจ
อันที่จริงมันเป็นอันตรายต่ออนาคตของเขาด้วยซ้ำ" (p.268)
ตัวกระตุ้นที่รุนแรงที่สุดของเวียร์ คือ "แตงโม" เพื่อนสนิทที่สุดของเขา ปกติแล้วแตงโมจะเป็นคนที่สบายๆ เป็นคนขี้เล่น ขี้แกล้ง มีความสามารถแต่ไม่ได้มีเป้าหมายในการแข่งขัน จึงไม่ได้พยายามอะไร แต่วันที่แตงโมบอกกับเวียร์ว่าเขามีเป้าหมายที่อยากชนะการแข่งขันแล้วนะ มาลุยกันให้เต็มที่ ปีนี้สนุกแน่! แทนที่เวียร์จะรู้สึกสนุก ท้าทายกับการแข่งขันครั้งนี้ เขากลับรู้สึกกลัว กดดัน เขารู้ว่าหากแตงโมมีความพยายามแล้วจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมากทีเดียว เขามีสิทธิ์แพ้! ยิ่งเห็นแตงโมพยายามฝึกซ้อมมากแค่ไหน เขายิ่งกลัวมากขึ้นเท่านั้น เขาหมกหมุ่นอยู่กับผลแพ้ชนะ จนสูญเสียความมั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เขาตัดสินใจทำสิ่งที่ตัวเองรู้สึกเสียใจที่ทำต่อเพื่อนสนิทซ้ำถึงสองครั้ง
"การชมเด็กๆ ว่าฉลาดกลับลงเอยด้วยการทำให้พวกเขารู้สึกโง่
และทำสิ่งที่โง่ลงเรื่อยๆ" (p.113)
หากเวียร์เป็นคนที่มีกรอบคิดแบบพัฒนาได้ เขาจะไม่รู้สึกกลัวหรือกดดันจนเกิดแรงผลักให้เขาตัดสินใจทำสิ่งที่ผิดต่อเพื่อนเช่นนั้น เพราะความสำเร็จทุกอย่างที่เขาได้มา ทั้งรูปลักษณ์ภายนอก การเรียน กีฬา ล้วนเป็นผลจากความพยายาม ความมุ่งมั่น ความตั้งใจจริงของเขาทั้งนั้น เพียงแต่เขามองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ในตัวเองเลย
"สอนให้ลูกรักความท้าทาย รู้จักใช้ความผิดพลาดเป็นแรงกระตุ้น สนุกกับการพยายาม
และหมั่นเรียนรู้อยู่ตลอด...พวกเขาจะเรียนรู้วิธีสร้างและซ่อมแซมความมั่นใจ
ของตัวเองไปตลอดชีวิต" (p.260)
"แตงโม" ภาพของคนที่มีกรอบคิดแบบพัฒนาได้ เขาเริ่มตั้งเป้าหมายในการแข่งขัน มุ่งมั่น ตั้งใจ สนุกกับความท้าทาย แต่ก็ไม่ได้หมกหมุ่นอยู่กับผลแพ้ชนะ เขาให้ความสำคัญกับ "ความพยายาม" อย่างเต็มที่มากกว่า เมื่อเขาแพ้การแข่งขัน เขาสามารถจัดการกับความคิด สามารถก้าวผ่านปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเองได้เป็นอย่างดี...ความรักก็เช่นกัน~
แต่คืนนี้ใน EP. สุดท้ายแตงโมจะสามารถจัดการกับความรู้สึกตัวเองได้ไหม? เมื่อต้องเจ็บปวดจากเพื่อนรัก ผิดหวังจากน้องรัก... จะลงเอยแบบไหนกัน เราเชื่อว่าแตงโมทำได้! #ทีมแตงโมเลิฟ
"คำถามที่ว่าฉันชนะไหมหรือฉันแพ้ไหมล้วนเป็นคำถามที่ผิด คำถามที่ถูกต้องคือ
ฉันพยายามเต็มที่แล้วหรือยัง...ถ้าพยายามเต็มที่แล้ว ถึงคุณจะได้คะแนนน้อยกว่า
แต่คุณจะไม่มีวันแพ้" (p.303)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in