ความสงสัย (อีกแล้ว) ของผมได้รับการตอบรับในรูปของ “ผู้โชคดีที่ได้ชมพรีเมียร์ Stranger Things ซีซั่น ๓ ตอนแรก ณ โรงภาพยนตร์สกาลา” จากกิจกรรมที่ผมร่วมเล่นในเพจเฟสบุ๊กของเน็ตฟลิกซ์ นี่จึงเป็นครั้งที่สองที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปดูหนัง (ซีรีส์สิ – ในกรณีนี้) ในสกาลา แม้ว่าคนจะเยอะจนวุ่นวายเล็กน้อย แต่ก็ตอบความสงสัยของผมได้เช่นกันว่า การนำซีรีส์เรื่องนี้มาจัดรอบปฐมทัศน์ในไทยที่นี่นั้นยอดเยี่ยมจริง ๆ ยิ่งตอนที่เสียงซินธิไซเซอร์จาก theme song ของซีรีส์ดังก้องไปทั่วห้องนั้นทำให้ผมขนลุกไปหมด [นอกจากนี้การมาชมสเตรนเจอร์ ธิงส์ ที่สกาลานี้ ก็ยังตอบคำถามหัวใจผมได้เช่นกัน แม้คำตอบนั้นจะไม่ได้อยู่ยั้งยืนยงสักเท่าไหร่นัก แต่ก็ถือว่าเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งในโรงหนังที่ผมยังระลึกได้เสมอ]
ภาพตอนไปดู Stranger Things ซีซั่น ๓ รอบปฐมทัศน์
เมื่อมานับๆ ดูแล้ว ผมเดินผ่านสกาลามาเป็นร้อย ๆ ครั้ง
เดินเข้าไปในพื้นที่ของโรงฯจริง ๆ เพียงสี่ครั้ง และได้ดูหนังในตัวโรงหนังแค่สองครั้ง
ทว่าช่วงเวลาเท่านั้นกลับมีความทรงจำ- ที่ได้ฝากเอาไว้ในเสาปูน ขั้นบันได โคมไฟระย้า ไปจนถึงที่นั่งในโรงฯ -ร่วมกับอีกเรื่องราวนับหมื่นแสนของผู้ชมที่เวียนแวะเข้ามาในโรงภาพยนตร์แห่งนี้
จึงเป็นเรื่องที่น่าใจหายที่พวกเราใกล้ที่จะไม่สามารถฝากความทรงจำใดๆ ไว้ในโรงหนังแห่งนี้อีกต่อไป
๓ I ต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๖๓
วันนั้นผมนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศที่ฝึกงาน...
ก็นั่งแปลข่าวเพื่อลงเว็บไซต์บ้างลงเล่นนิตยสารบ้างตามที่ได้รับมอบหมายแต่ก็ต้องใช้สมองและทักษะการเรียบเรียงข้อมูล - ที่ได้ร่ำเรียนมา- อย่างมาก ผมจึงขออู้งานแล้วเปิดเฟสบุ๊กของตัวเองเป็นการพักสมองสักครู่แต่ข่าวที่เปิดเจอนั้นก็ทำให้ผมเครียดยิ่งกว่าเรื่องงานไปเลย
“ถึงคราวอำลา ‘สกาลา’
โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนที่โดดเด่นคู่สยามสแควร์กว่า 50 ปี ยุติการให้บริการแล้ว”
ที่จริงโรงภาพยนตร์ในเครือเอเพกซ์ต้องดิ้นรนอย่างหนักในช่วงหนึ่งทศวรรษหลังที่ผ่านมาอย่างที่แฟนคลับทราบๆ กัน อย่างโรงภาพยนตร์สยาม (๒๕๐๙-๕๓) ที่ตอนนี้กลายเป็นสยามสแควร์วันและโรงภาพยนตร์ลิโด (๒๕๑๑-๖๑) ที่ตอนนี้กลายเป็นลิโด้คอนเน็ก เหลือไว้เพียงสกาลาน้องเล็กให้เป็น “สแตนด์อโลน” โดดเดี่ยวในย่านสยามสแควร์เพียงลำพังแม้จะได้รับผลกระทบจากโรงหนังมัลติเพล็กซ์และสตรีมมิ่งเซอร์วิสมาเป็นเวลานาน แต่เพราะสถานการณ์ของโคโรนาไวรัสต่างหากที่ทำให้การปิดตัวครั้งนี้มาไวขึ้นไปอีกจนน่าใจหาย จากเดิมที่สัญญาเช่าสกาลาจะสิ้นสุดช่วงปลายปี ๒๕๖๓
แต่ใจหายไม่ได้นานผมก็ต้องปิดหน้าเฟสบุ๊กไว้ก่อนและเปิด Microsoft Word เพื่อพิมพ์งานต่อ จนลืมนึกไปเลยว่าสกาลาจะมีโปรแกรมหนังครั้งสุดท้ายเพื่อเป็นการอำลาหรือไม่
จนมาถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน เพจเฟสบุ๊กของหอภาพยนตร์ฯ ได้ประกาศโปรแกรมที่ชื่อว่า La Scala ที่จะจัดฉายภาพยนตร์เป็นครั้งสุดท้ายของสกาลาในวันที่ ๔-๕ กรกฎาคมด้วยกัน ๔ เรื่อง ได้แก่ Blow-Up (ค.ศ.๑๙๖๖), สารคดีควบ The Scala (๒๕๕๙) กับ นิรันดร์ราตรี (๒๕๖๐) และ Cinema Paradiso (ค.ศ. ๑๙๘๘) ซึ่งใจจริงผมอยากจะดูทุกเรื่องเลยด้วยซ้ำ แต่ด้วยเวลาชีวิตที่ไม่เอื้อนวยให้ดูได้ทั้งหมดผมจึงขอรวบยอดการอำลาโรงภาพยนตร์แห่งนี้ไว้กับรอบสุดท้ายของ Cinema Paradiso ที่ได้ยินกิตติศัพท์ความดีงามของหนังมาเนิ่นนาน
และช่างประจวบเหมาะกับการปิดม่าน ราชาโรงภาพยนตร์ ของเมืองไทยยิ่งนัก
๔ I ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๓ ๙.๒๕ นาฬิกา
๓๕ นาทีก่อนเริ่มการจำหน่ายตั๋วหนังในโปรแกรม La Scala วันแรก
ผมเดินมาถึงหน้าโรงภาพยนตร์สกาลาด้วยความแปลกใจเล็กน้อยที่คิวต่อแถวซื้อตั๋วนั้นไม่ได้ยาวมากเหมือนอย่างที่คิดไว้ ที่จริงผมยืนปิดท้ายแถวตรงหัวกระไดพอดี แต่ก็ด้านบนก็มีคนยืนรอนั่งรออยู่พอสมควรจากนั้นไม่นาน ก็มีคนยืนรอต่อจากผมยาวไปเรื่อย ๆ ผ่านหน้าภัตตาคารสกาลาและคงจะเลยไกลไปอีกยาวเป็นร้อยเมตร (จินตนาการไว้เฉย ๆ น่ะครับ ไม่อย่างนั้นผมก็หลุดแถวพอดี)
บรรยากาศการขายตั๋วของโปรแกรม La Scala วันแรก
ระหว่างที่คนเข้ามาก็มีคุณป้าคนหนึ่งคอยต้อนรับลูกค้าอย่างกระตือรือร้นและเป็นมิตรอีกทั้งสั่งพนักงานของโรงฯ ให้เอาพัดลมมาเปิดคลายร้อน เมื่อแถวเริ่มขยับจนผมได้มาต่อท้ายแถวของ Cinema Paradiso อันคดเคี้ยวที่สุด ก็ประจวบเหมาะกับที่คุณป้าท่านั้นมายืนพักใกล้ๆ พอดี ผมจึงทักทายไป จนทราบว่าคุณป้านั้นชื่อ คุณป้าอุ๊ ผมได้พูดคุยกับเขาสั้นๆ
"คุณป้ายังดูแอคทีฟกระฉับกระเฉงอยู่เลยนะครับ" คือประโยคแรกที่ผมพูดหลังการทักทาย
"โหขอบคุณค่ะ ป้าก็ออกกำลังกายทุกวันเลยเนี่ยแหละ” คุณป้าอุ๊ตอบอย่างอารมณ์ดี
“ขอถามนิดนึงได้ไหมครับว่าคุณป้าเป็นผู้จัดการของที่นี่เหรอครับ เพราะเห็นแบบคุณป้าช่วยจัดคิวแถว ๆ นี้”
“อ๋อป้าเป็นนักบัญชีของโรงฯ น่ะค่ะ ทำมาตั้ง 40 ปีแล้ว บ้านอยู่แถวบางบัวทอง ก็ไป ๆ มาๆ ทุกวัน เดี๋ยวนี้สบายเพราะมีรถไฟฟ้าแล้ว บางวันลูกก็ขับรถมาส่ง” คุณป้าตอบเสร็จก็เดินเร็ว ๆ ไปดูแถวคนที่มารอ แล้วก็เดินกลับมา ทิ้งจังหวะให้ผมได้คิดสักครู่
โห...40 ปีกับที่ทำงานที่เดิม (และอาจจะที่เดียว) นี่ เป็นเราเราก็คงโหวง ๆ ใจเหมือนกันแหละนะถ้าที่ทำงานต้องปิดตัวไป
"ขอถามคุณป้าต่อได้ไหมครับว่า พอจบอาทิตย์หน้าแล้วตึกนี่จะเป็นยังไงต่อบ้างครับ” นี่เป็นสิ่งที่ผม – และคงอีกหลายคน - เป็นห่วงมากที่สุดยิ่งมีข่าวระหว่างเจ้าของที่กับศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองด้วยแล้วยิ่งน่ากังวลเข้าไปใหญ่
“อันนี้เป็นเรื่องที่ทางผู้ใหญ่เขาคุยกันเราเองก็ไม่รู้ว่าเจ้าของที่จะเก็บไว้หรือเปล่า เพราะเขาก็เอาตึกคืนไป” ถ้าหากเจ้าของที่เขาไม่เก็บไว้คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายแย่และไม่เห็นแก่สถาปัตยกรรมประวัติศาสตร์ -ที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นปี ๒๕๕๕ จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ – แห่งนี้เป็นแน่แท้ “ส่วนภัตตาคารก็ปิดไปพร้อมกับโรงหนังเลยไม่ได้ย้ายที่”
“โหถ้าทุบทิ้งก็คงน่าเสียดายแย่เลยนะครับ ผมเองก็ผ่านสกาลาอยู่บ่อย ๆ” ผมถอนหายใจแล้วก็เปลี่ยนประเด็น “แล้วคนที่มารอคิวรอบแรก ๆนี่เขามากี่โมงกันเหรอครับ”
“ป้ามาตอนแปดโมงก็มีคนมานั่งรออยู่ข้างบนแล้วจ้ะ”แล้วคุณป้าอุ๊ก็เงียบไปสักครู่
“ตอนดูคอมเมนต์นี่ มีคนมาแชร์มาเมนต์เยอะไปหมด”แล้วคุณป้าก็มองไปยังคนที่ต่อแถวอยู่ “ไม่คิดเลยว่าจะมีคนรักโรงหนังเราเยอะขนาดนี้”
“มีคนรักสกาลาเยอะจริง ๆครับคุณป้า” ผมตอบกลับไปพร้อมมองบรรยากาศรอบ ๆ
และผมเองก็รักที่นี่เหมือนกัน
รางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นปี ๒๕๕๕ จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
“นี่น้องเป็นนักข่าวรึเปล่าคะ”คุณป้าอุ๊เป็นฝ่ายถามกลับบ้าง
“เปล่าฮะ ๆ พอดีผมอยากเอาไปเขียนเจอร์นัลบันทึกเก็บไว้ครับ”ผมยิ้มและแอบเขินเบา ๆ (ผมยังไม่ถึงขั้นนั้นฮะคุณป้า)
หลังจากนั้น เพื่อไม่เป็นการรบกวนเวลาการทำงานของเขา ผมจึงขอบคุณและสวัสดีคุณป้าอุ๊ไป “เจอกันก็อย่าลืมทักทายกันนะลูก” ผมรับคำ คุณป้าอุ๊ก็ยิ้มให้รับสวัสดี แล้วจึงไปดูความเรียบร้อยของสถานที่ต่อ
คุณป้าอุ๊ผู้น่ารักที่เดินดูแลอยู่
ระหว่างที่รอคิวผมก็ยืนมองผู้คนบ้าง ถ่ายรูปบ้าง ชมแผงงานปูนปั้นที่ประดับอยู่ด้านบน (ก็เพิ่งสังเกตอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกด้วยว่า บนแผงนั้นมีทั้งศิลปะไทย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และบาหลีผสมผสานกันอยู่) ดูซิทคอมในเน็ตฟลิกซ์บ้าง เมื่อยบ้าง (ที่จริงก็ไม่ใช่แค่บ้าง เมื่อยจริง ๆ เลยแหละครับ) แล้วแถวก็คดเคี้ยวมากจนทำให้ผมอดกังวลไม่ได้ว่า จะได้ตั๋วรอบสุดท้ายของวันที่ ๕ กรกฎาคมหรือเปล่า ยิ่งมีคุณป้าพนักงานอีกคนหนึ่งมาเดินนับจำนวนคนที่ยืนรอคิวด้วยแล้วทำให้ผมยิ่งหวั่นเข้าไปใหญ่ ซิกคอมที่ดูอยู่ก็ไม่อาจทำให้ผมหยุดคิดมากได้ แต่สุดท้าย หลังจากที่ยืนรอมาเป็นเวลาสองชั่วโมงครึ่ง ผมก็ได้ตั๋วของ Cinema Paradiso มาครอบครองสักที
ตัวอย่างภาพยนตร์ที่พลาดโอกาสในการฉาย ณ โรงภาพยนตร์แห่งนี้
ผมยืนถ่ายรูปโรงหนังอีกสักครู่หนึ่งแล้วเดินมองผู้คนที่ยังรอซื้อตั๋วอยู่ อันที่จริง ที่ได้จินตนาการไปก็ดูจะไม่ได้เป็นการกล่าวเกินจริงไปสักเท่าไหร่นัก เพราะแถวของลูกค้านั้นยาวเลยภัตตาคารสกาลาไปจนลับตา และยังมีคนทยอยมาเพิ่มอีกเรื่อย ๆ จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ว่า มีคนรักสกาลาเยอะจริง ๆ
ช่วงสองทุ่มกว่า ๆ ของคืนวันเดียวกันนั้นเองทางเพจหอภาพยนตร์ฯ ได้ประกาศว่าตั๋วของ Cinema Paradiso เต็มหมดแล้วทั้งสองรอบฉาย ส่วนตั๋วของหนังเรื่องอื่น ๆ ก็เหลือน้อยลงไปทุกที ตัวผมเองก็ดีใจที่จะได้มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ในสรวงสวรรค์ของคนรักหนังนี้อีกครั้ง
อีกไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์เครื่องฉายจะส่องแสงอีกครั้งไปยังผืนผ้าสีเงินขนาดใหญ่ในโรงภาพยนตร์ ๙๐๔ ที่นั่งก่อนที่จะไม่มีหนังเรื่องใดได้มีโอกาสโลดแล่นในโรงภาพยนตร์แห่งนี้อีก - อย่างน้อยๆ ก็ภายใต้การบริหารของเอเพกซ์
จนกว่าจะพบกัน...
แล้วพบกันวันที่ ๕ นี้นะ...สกาลา
ภาคสอง อำ LA SCALA: ปัจฉิมบท & Cinema Paradiso
อ้างอิง
- จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ปีที่ ๑๐ฉบับที่ ๕๘ กรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๓
- thestandard.co/scala-cinema-stop-business/
เรื่องและภาพโดย kfc
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in