เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
The Friendly WindMister Tok
#รีวิว "พิพิธภัณฑ์แผ่นเสียง กรมประชาสัมพันธ์" ณ ซอยอารีย์ - ฉบับสายสตริง



  • ทุกวันนี้ที่คนเรา ๆ ท่าน ๆ ไม่เกี่ยงว่าใครเป็นใคร ได้ฟังเพลงผ่านช่องทางสตรีมมิ่งหลายเจ้าให้เลือกสรร สลับกับ Physical Format อย่างเทป ซีดี แผ่นเสียง (ที่ต่อให้จะเป็นศิลปินในอดีตที่เอามารีมาสเตอร์ใหม่ทำแผ่นทอง หรืออัลบั้มเพลงจากศิลปิน T-POP ที่จะขายในราคา 300-500 อัพ บางชุดเป็นพัน รวมถึงของที่ระลึกกว่าครึ่งโหลในอัลบั้มของศิลปินนั้น ๆ จากการรังสรรค์ของผู้กำกับศิลป์และทีมงานออกแบบทั่วฟ้าเมืองไทยอย่างเต็มที่ “โดยสองอย่างข้างต้นจะขายแบบ Pre-order ตามเพจเว็บไซต์ค่ายเพลงหรือไม่ก็ตัวแทนจำหน่ายทางร้านขายฯออนไลน์ทั่วไทย”) อย่างมีความสุข


    เรื่องของงานก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของงาน

    เรื่องของอะไรที่พาให้ผ่อนคลายก็ปล่อยให้ผ่อนคลายกันไป


    แต่จะดีกว่าไหมถ้าได้ออกไปแตะหญ้า (เป็นภาษามีมตลก แปลว่า “ออกไปข้างนอกหลังจากหมกตัวอยู่บ้านมานาน”) ไปหาสถานที่ใดที่หนึ่ง ที่รู้ใจคนฟังเพลงสุด ๆ ตามคุณสมบัติดังต่อไปนี้


    - อยากฟังเพลงที่เคยฮิตในอดีตแล้วกลับมาดังในโซเชียลจนเป็นอมตะในวันนี้ “ในฟอร์แมตที่คลาสสิกนอกเหนือจากเทป ซีดี หรือสตรีมมิ่ง”

    - อยากฟังเพลงที่เคยได้ยินจากที่ไหนสักแห่ง (บางครั้งอาจจะเป็นแบบว่าอยู่ทันที่เพลงนั้นปล่อยออกมาจนถึงมีคนลงในยูทูบ “ซึ่งบางคลิปอาจจะหายไปแล้ว”) แต่อยากกลับมาฟังอีกครั้ง “ที่สำคัญ เพลงนั้นอาจจะไม่มีในสตรีมมิ่ง หรือ ถ้ามีคุณภาพเสียงอาจจะเสื่อมไปตามกาลเวลา”

    - อยากเสพงานศิลป์ทางดนตรีผ่านทางอาร์ตเวิร์คของอัลบั้มนั้น ๆ “แบบว่าสองมือจับจริง สองตาดูจริง”

    - จากข้อที่แล้ว คุณเองอาจจะอยากรู้ว่า เพลงนี้ใครเป็นคนแต่ง ใครเป็นคนทำดนตรี ใครเป็น PD ใครมิกซ์เสียง "ง่าย ๆ อยากรู้ข้อมูลเบื้องหลังจากของจริง (นอกเหนือจากค้นในอากู๋)"


    หากตรงตามคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง…”พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ กรมประชาสัมพันธ์” พร้อมยินดีต้อนรับเสมอ


    -


    สถานีที่แห่งนี้จะอยู่ในซอยอารีย์สัมพันธ์ กล่าวคืออาคารหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ (ซึ่งอยู่ตรงข้ามร้าน SATI Handcraft สาขาอารีย์) “ อยู่ชั้นสองของตึกหอประชุมนั้น แต่ไม่ใช่ตรงหน้าประตูใหญ่ ๆ ตรงนั้นแน่แท้ ถ้าใครยังไม่เคยมาที่นั่นมาก่อน อาจจะสามารถสอบถามคนที่ทำงานที่นี่ได้


    แต่จะบอกตรงนี้ ถ้าจะเข้าไปในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ทันที คงจะกระไรไหนอยู่ เลยอยากให้ทำตามลำดับดังต่อไปนี้


    1. เข้าไปที่เพจเฟซบุ๊ก “พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุกรมประชาสัมพันธ์” เพื่อติดต่อสำรองการจองเข้าชมที่แห่งนี้ผ่านทางอินบ็อกซ์ โดยจองได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุด

    2. แอดมินก็จะถามว่า “จะเข้าชมกี่คนและเข้ามาวันไหนเวลาใด” คือ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ตั้งแต่ 10.00 น. - 16.30 น. “ซึ่งถ้าจะให้ดีควรจองล่วงหน้าเป็นวัน ๆ วีค ๆ เดือน ๆ” (โดยผมตื่นเช้าวันจันทร์ที่เข้าไปชม คือ 10 กค 66 ก็ติดต่อจองเลย 1 คน)

    3. หลังจากติดต่อจองเสร็จแอดมินจะยืนยันการจองให้ทันที “และหลังจากนี้รอเวลาไปเยี่ยมชมได้เลย”


    ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้…ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม หรือต้องเรียกว่าเข้าชมฟรีเล้ย


    -


    พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถ้าเข้าไปข้างในแล้ว คุณจะสัมผัสบรรยากาศของความอนาล็อกตั้งแต่ทีวีจอตู้ ตู้เพลง ไมโครโฟน อุปกรณ์บันทึกเทปโทรทัศน์ของช่อง 11 ในอดีต… "นั่นคือแค่น้ำจิ้ม"



    -

    แต่บรรยากาศความอนาล็อกผ่านเสียงมนต์เสียงดนตรี…จะเริ่มจากนี้



    ถ้าคุณเองเข้าไปในตัวพิพิธภัณฑ์ จะเห็นชั้นวางแผ่นเสียงที่เป็นคลังแสง มีครบทุกแนวตั้งแต่สตริง ลูกทุ่ง ลูกกรุง และสากล โดยจะแบ่งตามตัวอักษร ก-ฮ A-Z "หรือแม้แต่แบ่งเป็นรายศิลปินเลย" (อนึ่ง ถ้าเป็นสายสตริงไทยแบบหายาก จะอยู่ในชั้น "รวมวงดนตรี") ที่นี่จึงได้ขึ้นชื่อว่า..."ห้องสมุดแผ่นเสียง"



    เท่านั้นไม่พอ พี่ ๆ พนักงานพิพิธภัณฑ์ก็ใจดี พร้อมให้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์สื่อสารมวลชนยันประเภทของแผ่นเสียงในที่แห่งนี้ แม้กระทั่งช่วยเหลือทั้งหาแผ่นเสียงและเล่นแผ่นที่ถูกใจตัวเองเลย ชื่นชมบริการของพี่ ๆ จากใจครับ (ถ้าคอแห้ง ก็มีน้ำดื่มขวดเล็กมาบริการด้วยนะ)


    -


    แนะนำแผ่นเสียงสตริงไทย "ปกสวย / เพลงฟังเพลิน"


    ด้วยนิสัยที่ชอบค้นรูปแผ่นเสียงเพลงไทยสมัยก่อนตามเว็บ PisutShop ThaiGramophone (หรือแม้แต่เพจ/เฟซบุ๊กของคนขายเทป ซีดี แผ่นเสียงออนไลน์) มาตั้งแต่ปิดเทอมตุลา ป.6 ปี 53 ผมรู้สึกประทับใจดีเทลอันคลาสสิกของสิ่งที่เรียกว่า "แผ่นเสียง" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


    และนี่คือแผ่นเสียงสตริงไทยบางส่วนที่เจอในที่แห่งนี้ครับผม


    (รีวิวจากซ้ายไปขวา และ บนลงล่าง)

    1. วง Crystal สองสาวจากฟิลิปปินส์กับเพลงป๊อปภาษาไทยชุด "อยากรักใครสักคน" ปี 2530 ภายใต้การควบคุมงานจากพี่แอ๊ด ทนงศักดิ์ อาภรณ์ศิริ จากวงเพื่อน ที่มีเพลงเด่นอย่าง "เพียงความฝัน" "สุดห้ามใจรัก" "อยากรักใครสักคน" หรือแม้แต่เพลงที่เนื้อหาโผงผางสไตล์สาวมั่นอย่าง "ฉันซะอย่าง" เพลงหลังสุดเป็นงานปลายปากกาของ อ.ชาลี อินทรวิจิตร (ศิลปินแห่งชาติ)

    2. วงฟอร์เอฟเวอร์ ชุด "วันนั้น...วันนี้" ปี 2530 ปกอัลบั้มชุดนี้มีไวป์ Pop Art/City Pop ชัดมาก แสดงความเป็นยุค 80s อันเป็นยุคที่สุขนิยมมาก ๆ ตอนนั้น

    3. โดมิแน้นท์ ชุด "หัวใจเทอร์โบ" ปี 2534 บั้มนี้เพลงเด่นคัน ๆ แสบ ๆ อย่าง "ปาก" จากเสียงร้องของ "โจโจ้" อันเป็น One Hit Wonder ของวง

    4. จอห์น อิสรัมย์ ชุด "บิดสุดขีด" ปี 2535 เพลงป๊อปลูกทุ่งซูเปอร์ฮิตแต่งใหม่จากตำนานโมโตครอสเมืองไทย ผมแนะนำเพลงปิดอัลบั้ม "ชัยชนะ" เพลงป๊อปร็อกจังหวะมัน ๆ ที่ผมฟังแล้ว ถ้าเอาเพลงนี้ไปให้นิค นิรนามร้องก็ยังร้องได้สบาย ๆ เลย เนื้อหาให้กำลังใจแบบเข้ม ๆ สไตล์นักบิดเลย


    เดอะ สไปรท์ส ชุด "อยู่เพื่อรัก" วงเก่าพี่ดาอินคา ปี 2531 เป็นอัลบั้มเพลงสตริงที่เป็น Hidden Gem เคยฟังทางยูทูบที่มีคนลงทั้งชุด (แต่ตอนนี้หายไปแล้ว) เพลงดีระดับนึงเลย แม้จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แต่ผมมีเพลงที่ชอบสุดในชุดคือ "สิ่งสุดท้ายที่เหลือ" เพลงเศร้าที่งดงามทุกมิติดนตรีตั้งแต่อินโทรจนถึงทางลงเมโลดี้ตอนจบ


    ตามที่มาของเพลงที่ผมถ่ายจากเทปที่มีอยู่ มีใจความว่า...ดังนี้...


    เอาล่ะ ๆ มาอยู่ในอัลบั้มที่ปกสวยมั่ง


    รอยัลสไปรท์สที่ซู่ซ่า กับผลงานชุด "ผ้าขาวม้า" ซึ่ง อ.สุรินทร์ ภาคศิริ แต่งทั้งชุด "ไฮไลท์ของปกแผ่นเสียงนี้คือ "ปกกระดาษห่อด้วยผ้าขาวม้าแท้ ๆ" ซึ่งผมสัมผัสแล้วได้กลิ่นของความลูกทุ่งจริง ๆ


    อัลบั้มเดียวที่ไม่ใช่แค่วงการเพลงยุค 80s ฟู่ฟ่า...แต่พัฒนาวงการออกแบบปกอัลบั้ม "จากใบตองห่อแผ่นเสียง"


    ปกสตริงที่ Pop Art นิด ๆ แต่สวยงาม และเพลงชุดนี้เพราะทั้งชุดจริง

    Heartland Rock (เพื่อชีวิตแบบฝรั่ง) กลิ่น New Wave ที่ "เก่า แต่ เก๋าเสมอ" (หน้าปกนี้คือสังกะสัีห่อแผ่นเสียงครับผม)


    "วิ่งไปท้าทายใยแมงมุม สู่ท้องฟ้าที่มีพระจันทร์สีส้มที่งดงาม"


    อีกวงที่มี One Hit Wonder อย่าง "นางพญากับคนป่า" กับปกงานวาดที่สวยงามฝีมือ อ.เกริกบุระ ยมนาค


    งานสตริงสนุกสไตล์ไทย ๆ ในปีที่ท้าทายดาวหางฮัลเลย์ (มีแถมด้วยเครดิตคณะผู้จัดทำนะ / ว่าไปชอบฟอนต์เครดิตชุด เพ้อเจ้อ ของพี่เต๊ะ โชคดี พักภู่ มาก ที่เขาใช้ฟอนต์อีเอซี ชวนพิมพ์ (EAC ChuanPim) ถ้าคิดถึงฟอนต์นี้ลองโหลดฟอนต์ JS Saowapark มาใช้ได้นะครับ)


    "หวังจะรักให้นาน ๆ รักไม่หวานไม่เป็นไร รักไม่รักไม่เท่าไหร่ ความจริงใจนั้นสำคัญ" จากใจศิลปิน LGBTQ ในตำนานของยุค 80s คนนี้


    งานเดี่ยวจากสาวน้อยตำนานใจเธอใจฉัน ที่รุ่นพี่ไร้เดียงสาอยู่เบื้องหลังเพลงดีในชุดนี้


    Before his สามโทน days


    Before her เจ็บนิดเดียว days 


    มุมเท่ ๆ จากร็อกเกอร์เก็บตะวันในอัลบั้มชุดที่สองของเขา...ไปต่อไป 


    ปกสองภาษาก็น่าสนใจนะ


    ตัวโน้ตอารมณ์ดีในมาดที่ขึงขัง...กับการตามล่าสิ่งหนึ่งที่เหมือนจะหายไป


    อยากได้เพลงสไตล์ Exposé (เจ้าของเพลงฮิต Season Changes) ต้องชุดนี้ วงนี้



    แถมพิเศษ : มนตร์เสน่ห์ของเลย์เอาท์เนื้อเพลงและเครดิตคนทำงานสมัยก่อนในยุครุ่งเรืองเพลงไทย ตามคำบอกเล่าของพี่เสือ ธนพล ในรายการป๋าเต็ด ทีมงานจะต้องเขียนด้วยมือ แล้วไปสั่งตัวเรียงพิมพ์ข้างนอก แล้วเอามาตัด-ปะ-จับฉาก ก่อนที่จะมีคอมพิวเตอร์มาทุ่นแรง (ถ้าคิดถึงฟอนต์ในรูปนี้ ลองโหลดฟอนต์ JS Sadayu และ JS Synjai มาลองใช้เล่น ๆ ได้นะครับ / ผู้เขียน)


    -


    และที่ตรงนี้ ที่ตัดแต่งภาพในแอป Layout (ของ Instagram) "นี่คือปกแผ่นเสียงฝีมือทีมงานในตำนาน Omnivisions (ที่ผมเคยเขียนบทความทรีบิวต์เมื่อสองปีก่อน และปีที่แล้วได้เสริมข้อมูลเชิงลึกไปแล้ว)"


    ตรงนี้คือลายแทงทีมงานออกแบบนี้ และยืนยันว่าพวกเขาทำปกแต่ละอัลบั้มจริง ๆ



    -


    เล่าไว้ก่อน...รู้ไม่รู้ไม่ว่ากัน


    ถ้าคุณมาที่พิพิธภัณฑ์ที่นี่ และจองมาก่อนหน้าในเวลาเพิ่งเปิด (คือ ช่วง 10 โมงเช้า) บรรยากาศจะโล่งมาก และคนจะค่อย ๆ มาในช่วงเที่ยง ๆ เลย ฉะนั้นแล้ว ถ้าอยากฟังเพลงผ่านแผ่นเสียง ให้จองตามวิธีข้างต้น เพราะมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงแค่ 3 เครื่องเท่านั้น


    เอาเข้าจริง วันนั้นที่ผมไป ผมอยู่ตั้ง 5 ชั่วโมง ตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึงบ่ายสามต้น ๆ เวลาที่ฟังเพลงผ่านแผ่นเสียง ผมรู้สึกสงบและใจไม่เร่งเร้าไปตามเวลา เหมือนอยู่ในโลกส่วนตัวเลยก็ว่าได้ "และพร้อมที่จะสละเครื่องเมื่อมีคนมาใหม่ในแต่ละวัน"


    "มาที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ครั้งเดียว...จะประทับใจไปอีกนาน"



    "แล้วจะกลับมาแวะใหม่นะ"

    จากใจบล็อกเกอร์ที่พูดไม่ค่อยเก่งคนนี้


    -


    เรื่อง/ภาพ : Mister Tok

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in