รีวิวเว้ย (1186) รีวิวเว้ย × สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทสัมภาษณ์ปรีดี พนมยงค์ ใน เอเชียวีค 28 ธันวาคม 1970 - 4 มกราคม 1980 ปรีดีได้มีการให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดในเรื่องของปรัญาการเมืองของปรีดีเอาไว้ว่า "ปรัชญาการเมืองของข้าพเจ้า คือ สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ (Scientific Democratic Socialism) เพราะว่าประชาธิปไตยและสังคมควรมีพื้นฐานเป็นวิทยาศาสตร์ ... หลัก 5 ประการของ สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย กล่าวคือ เอกราชของชาติ อธิปไตยของชาติ สันติภาพ ความเป็นกลาง ความไพบูลย์ของประชาชนพร้อมด้วยประชาธิปไตยของประชาชน" พอลองค้นนิยามของคำว่าสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ (Scientific Democratic Socialism) ในภาษาอังกฤษจะพบว่าที่มาของคำว่าสังคมนิยมวิทยาศาสตร์นั้นเกี่ยวข้องกับกระบวนการของการเป็นเหตุและผล "Scientific socialism is a term coined in 1840 by Pierre-Joseph Proudhon in his book What is Property? to mean a society ruled by a scientific government, i.e., one whose sovereignty rests upon reason, rather than sheer will"
หนังสือ : ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย
โดย : มุนินทร์ พงศาปาน
จำนวน : 88 หน้า
"ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย" หนังสือปาฐกถาในวาระ 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยามเมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เนื้อหาของหนังสือว่าด้วยเรื่องแนวคิด "สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ (Scientific Democratic Socialism)" ของปรีดีพนมยงค์ แนวคิดที่เป็นพื้นฐานของการผลักดันให้ปรีดีเขียนสิ่งที่เรียกว่า "เค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์" หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อของ "สมุดปกเหลือง" และก็เป็นสมุดปกเหลืองนี้เองที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโจมตีนายปรีดีว่าเป็น "คอมมิวนิสต์"
เนื้อหาของ "ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย" ได้นำเสนอเนื้อหาใน 2 ส่วนได้แก่
(1) ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย
(2) บทสัมภาษณ์นายปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวกับทัศนะทางการเมือง
เมื่ออ่าน "ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย" จบลงเรารู้สึกสะดุดใจกับข้อความของผู้เขียนในหลายตอน ทั้งเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ การตีความกฎหมาย รัฐธรรมนูญ 2560 ความเท่าเทียมทางเพศ และรากฐานบางประการที่ทำให้สังคมไทยยังก้าวไปไม่ถึงระบอบการปกครองประชาธิปไตย ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ดังความของผู้เขียนที่ปรากฎในหน้า 26 ของหนังสือความว่า "เมื่อ 90 ปีก่อนเราเริ่มต้นด้วยการเป็นสังคมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย แต่ค่อย ๆ พัฒนาไปเป็นสังคมจารีตนิยม (ประชาธิปไตย) การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการปฏิรูปหลายครั้งหลายหน คนไทยได้ยินคำว่า 'สงบเรียบร้อย' 'คุณธรรมจริยธรรม' 'ความซื่อสัตย์สุจริต' จนชินหู คำเหล่านี้กลายเป็นเหตุผลสำคัญทุกครั้งในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คุณค่าทางจารีตประเพณีนิยมเป็นความชอบธรรมที่ทำให้ระบอบเผด็จการฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน" (น. 26)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in