เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
กฎหมายรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรสเปน By อนันต์ คงเครือพันธุ์
  • รีวิวเว้ย (1176) รีวิวเว้ย × สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    เมื่อพูดถึงประเทศสเปน หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ "ราชอาณาจักรสเปน" หลายคนน่าจะคิดถึงอยู่ 2-3 เรื่องดังนี้ หมูดำสเปน สู้วัวกระทิง ฟุตบอล และอาจจะมีเรื่องอื่น ๆ แทรกเข้ามาด้วยเมื่อพูดถึงสเปน แต่เมื่อพูดถึงสเปนในห้องเรียนวิชารัฐศาสตร์ เรากลับพบเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองสเปนอยู่เพียงไม่กี่ประเด็น อาทิ ความขัดแย้งระหว่างแคว้นคาตาลูญญาที่ต้องการประกาศจะแยกตัวเป็นรัฐเอกราช สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งประเด็นนอกเหนือไปจากนี้อาจจะเป็นประเด็นเฉพาะที่ยากต่อการทำความเข้าใจเนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของภาษา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว "การปกครองท้องถิ่นสเปน" (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://minimore.com/b/Us3Wj/434) และ "รัฐธรรมนูญสเปน" ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน
    หนังสือ : กฎหมายรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรสเปน
    โดย : อนันต์ คงเครือพันธุ์
    จำนวน : 212 หน้า

    ราชอาณาจักรสเปนมีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 12 ฉบับ โดยฉบับแรกมีการประกาศใช้เมื่อปี ค.ศ. 1808 - 1814 (พ.ศ. 2351 - 2357) และฉบับปัจจุบันประกาศใช้เมื่อ ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสเปน ค.ศ. 1978 ได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติที่มี "การคุ้มครองสิทธิทางสังคม ทั้งมีความเป็นประชาธิปไตยสูง" สำหรับรัฐธรรมนูญ 1978 มีการกำหนดให้ในรัฐธรรมนูญต้องมีกลุ่มของกฎหมายที่บัญญัติเรื่องของ "สิทธิทางสังคม (derechos sociales)" ซึ่งเป็นลักษณะของบทบัญญัติของกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของสิทธิแบบเสรีนิยมมาสู่ "สิทธิทางสังคม" ที่ในหนังสือได้เขียนอธิบายเพิ่มเติมเอาไว้ว่า "หัวใจของรัฐสังคมก็คือ สร้างกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเชิงปฏิบัติในระบบทุนนิยม เพื่อหลีกเลี่ยงความอยุติธรรมแบบสุดโต่งในสังคมจากระบบทุนนิยม ความได้สัดส่วนในเสรีภาพในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม กับการแทรกแซงของรัฐ (Intervención estatal) จะทำให้เกิดรัฐสังคมในที่สุด" (น. 26)

    "กฎหมายรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรสเปน" ได้อธิบายถึงรายละเอียดของรัฐธรรมนูญสเปน ออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนรกเป็นการเล่าถึงประวัติศาสตร์ บริบทต่าง ๆ ของสเปน กระทั่งการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญของสเปนนับตั้งแต่ฉบับแรกกระทั่งฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ในส่วนที่สองของเนื้อหาว่าด้วยเรื่องของ "รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1978 รายมาตรา" ที่ผู้เขียนจะพาไปทำความเข้าใจรายละเอียดต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญรายหมวดและรายมาตรา ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจในตัวบทและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญสเปนได้อย่างชัดเจน

    สำหรับเนื้อหาของ "กฎหมายรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรสเปน" ได้มีการแบ่งเอาไว้เป็นบทต่าง ๆ ดังนี้

    บทนำ ประวัติความเป็นมาโดยสังเขปเกี่ยวกับประเทศสเปนและรัฐธรรมนูญของประเทศสเปน

    บทที่ 1 หมวดทั่วไป (Título Preliminar)

    บทที่ 2 หมวด 1 ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ขั้นพื้นฐาน (Título I: De los Derechos y deberes fundamentales)

    บทที่ 3 หมวด 2 ว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ (Título II: De la Corona)

    บทที่ 4 หมวด 3 รัฐสภา (Título III: De las Cortes Generales)

    บทที่ 5 หมวด 4 ว่าด้วยรัฐบาลและฝ่ายปกครอง (Título IV: Del Gobierno y de la Administración)

    บทที่ 6 หมวด 5 ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและรัฐสภา (Título V: De las relaciones enter el Gobierno y las Cortes Generales)

    บทที่ 7 หมวด 6 ว่าด้วยองค์กรตุลาการ (Título VI: Del Poder Judicial)

    บทที่ 8 หมวด 7 ว่าด้วยเศรษฐกิจและการคลัง (Título VII: De la Economía y Hacienda)

    บทที่ 9 หมวด 8 ว่าด้วยการบริหารจัดการเชิงดินแดนของรัฐ (Título VIII: De la Organización Territorial del Estado)

    บทที่ 10 หมวด 9 ศาลรัฐธรรมนูญ (Título IX: Del Tribunal Constitucional)

    บทที่ 11 หมวด 10 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ สเปน (Título X: De la reforma constitucional)

    เมื่ออ่าน "กฎหมายรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรสเปน" จบลง เราจะพบว่า แท้จริงแล้วรัฐธรรมนูญที่หลายคนนิยามมันว่าเป็นกติกากลางของประเทศหนึ่ง ๆ นั้น สามารถออกแบบให้ยืนระยะ นับรวม และสร้างเสริมบทบาทในเรื่องต่าง ๆ ของรัฐและประชาชนในรัฐได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการออกแบบและการเขียนรัฐธรรมนูญบนฐานคิดเบื้อหลังที่รัฐหรือผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีความประสงค์จะกำหนดมันออกมาให้มีผลบังคับใช้ต่อประชาชน "กฎหมายรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรสเปน" เป็นตัวอย่างที่ดีของคำยืนยันที่ว่า "รัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องมีน้อยฉบับ" เพราะสเปนได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่าที่ผ่านมาเขามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 12 ฉบับ แต่ในแต่ละฉบับมันถูกออกแบบมาให้สอดรับและปรับตัวกับบริบทต่าง ๆ เพื่อให้รัฐธรรมนูญทำหน้นที่ในการส่งเสริม คุ้มครอง ปกป้อง ประชาชนในสังคมประชาธิปไตย

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in