เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ความเสมอภาคระหว่างเพศฯ By มาลี พฤกษ์พงศาวลี
  • รีวิวเว้ย (1164) รีวิวเว้ย × สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ในภาษาไทยเวลาพูดถึงคำว่า "ความเสมอภาค" มันมักจะพ่วงมาพร้อมกับคำว่า "ความเท่าเทียม" ซึ่งกลายเป็นว่าความรับรู้ของผู้คนเกี่ยวกับคำทั้ง 2 คำนี้มีความเข้าใจว่าทั้ง 2 คำมีความหมายเหมือนกัน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว "ความเสมอภาค ≠ ความเท่าเทียม" โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากภาษาอังกฤษเราจะเห็นความแตกต่างของทั้ง 2 คำอย่างชัดเจน โดย ความเท่าเทียม (equality) มีการให้คำจำกัดความในภาษาอังกฤษเอาไว้ว่า "the state of being equal, especially in status, rights, and opportunities." และ ความเสมอภาค (equity) มีการให้คำจำกัดความในภาษาอังกฤษเอาไว้ว่า "the quality of being fair and impartial." หรือถ้าเราลองค้นให้ลึกในนิยามความแตกต่างของคำทั้ง 2 เราจะพบว่ามีการให้นิยามความแตกต่างของคำทั้ง 2 เอาไว้ดังนี้ "equality = sameness" ส่วน "equity = Fairness" เมื่อพิจารณาเช่นนี้เราจะพบว่า ความเสมอภาคนั้นมุ่งเน้นในเรื่องของการส่งเสริมให้ผู้คนมีสถานะภาพบางประการใกล้เคียงกันบนฐานของความแตกต่างที่เป็นพื้นฐานและข้อจำกัดของกลุ่มบุคคล ความเสมอภาคคือการทลายข้อจำกัดเหล่านั้นเพื่อให้บุคคลเสมอภาคกันอย่างเสมอหน้า
    หนังสือ : ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ความเสมอภาคระหว่างเพศ ในรัฐธรรมนูญไทย (พุทธศักราช 2475 - 2560)
    โดย : มาลี พฤกษ์พงศาวลี
    จำนวน : 120 หน้า

    "ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ความเสมอภาคระหว่างเพศ ในรัฐธรรมนูญไทย (พุทธศักราช 2475 - 2560)" หนังสือเล่มกระทัดรัดที่เนื้อหาอัดแน่นไปด้วยเรื่องของ "ความเสมอภาคระหว่างเพศ" ระหว่างเพศชายและเพศหญิงภายใต่กฎหมายสูงสุดของประเทศอย่าง "รัฐธรรมนูญ" โดยที่หนังสือ "ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ความเสมอภาคระหว่างเพศ ในรัฐธรรมนูญไทย (พุทธศักราช 2475 - 2560)" พาผู้อ่านกลับไปย้อนทบทวนเรื่องของความเสมอภาคระหว่างเพศที่ปรากฏขึ้นในสังคมไทยนับตั้งแต่ครั้งอดีตภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กระทั่งถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ด้วยการพาผู้อ่านไปสำรวจเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ตัวบทกฎหมาย และบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่เขียนถึงและว่าด้วยเรื่องของ "ความเสมอภาคระหว่างเพศ"

    โดยเนื้อหาของ "ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ความเสมอภาคระหว่างเพศ ในรัฐธรรมนูญไทย (พุทธศักราช 2475 - 2560)" แบ่งออกเป็น 9 บท ดังต่อไปนี้

    บทที่ 1 นิติศึกษา ทางสังคม ประวัติศาสตร์และปรัชญาว่าด้วย ผู้หญิง กฎหมาย และการเมือง

    บทที่ 2 มหาวิทยาลัย (วิชา) ธรรมศาสตร์ (และการเมือง) กับ การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างชายหญิง

    บทที่ 3 หลักการสำคัญบางประการของระบอบประชาธิปไตยที่เป็นลายลักษณ์อักษรในพัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทย

    บทที่ 4 กฎหมายกับการเมือง สองด้านของเหรียญเดียวกันและประชาธิปไตยแบบไทย ๆ

    บทที่ 5 ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ เวียนว่ายตายเกิดในวงจรรัฐประหารยึดอำนาจ : รัฐธรรมนูญ 2475 - 2560

    บทที่ 6 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 - สัญญา ธรรมศักดิ์ และรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 : อิฐก้อนแรกของความเสมอภาคระหว่างชายหญิง

    บทที่ 7 ความเสมอภาคระหว่างหญิงชายและความเสมอภาคระหว่างเพศ

    บทที่ 8 พัฒนาการหลักความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย และความเสมอภาคระหว่างเพศ หลังรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ - รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

    บทที่ 9 บทสรุป

    เมื่ออ่าน "ความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ความเสมอภาคระหว่างเพศ ในรัฐธรรมนูญไทย (พุทธศักราช 2475 - 2560)" จบลง เราจะพบว่าปัญหาประการหนึ่งในเรื่องของ "ความเสมอภาคระหว่างเพศ" ระหว่างเพศหญิงและเพศชายในสังคมไทย เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญ วงจรทางการเมืองในลักษณะนี้ทำให้ "ความเสมอภาคระหว่างเพศ" ในกฎหมายของไทยไม่ขยับก้างหน้าไปไหนเพราะหลายครั้งวงจรอุบาทของการรัฐประหารทำให้ความก้าวหน้าในเรื่องต่าง ๆ ต้องกลับมานับ 1 ใหม่ในทุกครั้งหลังการรัฐประหาร ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นก็คือเรื่องของ "ความเสมอภาคระหว่างเพศ" ในความรับรู้ของรัฐไทยในครั้งอดีตกระทั่งปัจจุบันที่แสดงออกผ่านตัวบทกฎหมายต่าง ๆ มันยังคงจำกัดอยู่เพียงเรื่องของ "เพศหญิง-เพศชาย" ตามความเข้าใจของรัฐแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แล้วเมื่อไหร่ที่ "ความเสมอภาค" จะมีขึ้นในสังคมแห่งนี้จริง ๆ เสียที ไม่ใช่แค่เรื่องของความเสมอภาคระหว่างเพศ หากแต่นับรวมไปถึงความเสมอภาคในฐานะของคนในสังคมเดียวกัน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in