เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ทางรถไฟสายดาวตก พิมพ์ครั้งที่ 7 By ทรงกลด บางยี่ขัน
  • รีวิวเว้ย (1157) เราเคยอ่านหนังสือเล่มนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 (2557) ในช่วงที่หนังสือเล่มนี้ยังอยู่กับค่าย a book ในช่วงนั้นที่เรามีโอกาสได้อ่าน "ทางรถไฟสายดาวตก" ครั้งแรก สิ่งที่เรารับรู้ผ่านเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ คือ เรื่องของชายคนหนึ่งที่ออกเดินทางเพื่อขึ้นรถไฟขบวนต่าง ๆ ที่ถูกออกแบบโดยนักออกแบบรถไฟคนสำคัญอย่าง "เอจิ มิโตะโอะกะ"

    แต่เมื่อเวลาผ่านมาเกือบ 10 ปี ในวันที่มีโอกาสได้อ่านใหม่อีกครั้งสำหรับหนังสือ "ทางรถไฟสายดาวตก" สิ่งที่เราได้รับกลับมาจากหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของชายคนหนึ่งที่ออกเดินทางอีกต่อไป หากแต่ภายในความรับรู้ต่อ "ทางรถไฟสายดาวตก" ของเราในวันที่ผ่านมาเกือบ 10 ปี คือเรื่องของความน่าสนใจที่รถไฟท่องเที่ยวสายคิวชูถูกใช้เป็น "เครื่องมือ" ในการ "ฟื้นชีวิต" ให้กับเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคคิวชู และฟื้นชีวิตให้กับบริษัท JR Kyushu ที่รถไฟขบวนต่าง ๆ ช่วยให้งบการเงินของบริษัทกลับมาติดเขียวอีกครั้ง หลังจากช่วงเวลาที่การปฏิรูประบบรถไฟจากของรัฐที่ขาดทุนยับเยินให้กลายเป็นบริษัทเอกชน 6 บริษัทที่แบ่งกันบริหารจัดการระบบรางในแต่ละภูมิภาค และ JR Kyushu เองก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่ต้องเข้ามาเผชิญความท้าทายดังกล่าว ซึ่ง "ทางรถไฟสายดาวตก" ได้ช่วยฉายภาพการฟื้นชีพผ่านขบวนรถไฟได้อย่างน่าสนใจ รวมถึงเนื้อหาในหนังสือยังบอกเล่าไปถึงชุมชนและผู้คนในพื้นที่ ที่ชีวิตของพวกเขากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งพร้อม ๆ กับการมาของ "ทางรถไฟสายดาวตก"
    หนังสือ : ทางรถไฟสายดาวตก พิมพ์ครั้งที่ 7
    โดย : ทรงกลด บางยี่ขัน
    จำนวน : 280 หน้า

    หนังสือ "ทางรถไฟสายดาวตก"เป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวและเรื่องเล่าของ "รถไฟ" สายคิวชู ที่รถแต่ละขบวนถูกออกแบบมาในฐานะของ "รถไฟท่องเที่ยว" ที่แตกต่างและสวนทางกับรถไฟทำความเร็วสูงปรี๊ดอย่างชิงคันเซ็น หากแต่รถไฟท่องเที่ยวขบวนต่าง ๆ ที่ปรากฏใน "ทางรถไฟสายดาวตก" คือรถไฟขบวนกึเร็วกึ่งช้าที่ออกจากชานชาลาไปพร้อม ๆ กับความสุข ความสนุก ความทรงจำ และความหวังของหลากหลายชีวิต

    เนื้อหาภายใน "ทางรถไฟสายดาวตก" ได้รวบรวมเอา 25 บทความ ที่ว่าด้วยเรื่องของรถไฟสายท่องเที่ยวของบริษัท JR Kyushu ที่ออกแบบโดย "เอจิ มิโตะโอะกะ" นักออกแบบรถไฟคนสำคัญ ที่เป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมคืนชีพให้กับการท่องเที่ยวคิวชู และกอบกู้การเงินของ JR Kyushu ผ่านทางรถไฟ ตู้รถไฟ และโบกี้รถไฟที่ถูกออกแบบมาให้รถไฟกลายเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาค เมืองและผู้คน (https://readthecloud.co/iine-6/)

    การได้กลับมาอ่าน "ทางรถไฟสายดาวตก" อีกครั้งหลังจากที่ได้อ่านฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 เมื่อหลายปีก่อน มันทำให้เราเข้าใจและรับรู้เนื้อหาของ "ทางรถไฟสายดาวตก" ในมุมที่ต่างออกไป โดยในการอ่านครั้งนี้ เราพบว่าหนังสือเรื่องเดิมเมื่ออ่านมันในวันที่เราโตขึ้น เราจะมองและทำความเข้าใจมันจากในจุดที่เรายืน หลังจากการอ่านครั้งแรกที่เรามองเห็นแต่เพียงชายหนุ่มที่ออกเดินทางตามรถไฟขบวนแห่งความฝัน มาในวันนี้เราไม่ได้มองเห็นชายหนุ่มคนนั้นในฐานะแกนกลางของเรื่องเล่า หากแต่เรามองเห็นแกนกลางของการเล่าเรื่องอยู่ที่ "รถไฟขบวนแห่งความฝัน" ที่ถูกรายล้อมไปด้วยเหล่าผู้คนที่เดินทาง และเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กันกับ "ทางรถไฟสายดาวตก"

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in