เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
เดินข้ามพรมแดน: บนเส้นทางวิชาการและงานเคลื่อนไหว By ประภาส ปิ่นตบแต่ง
  • รีวิวเว้ย (1148) รีวิวเว้ย × สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    สมัยเข้าเรียนปริญญาตรี ที่คณะรัฐศาสตร์ วิชารหัส 3 ของคณะตัวแรกที่ได้ลงเรียนคือวิชา "311 การเมืองภาคประชาชน" ที่ในช่วงนั้นมีอาจารย์ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ เป็นผู้สอน และหนึ่งในหนังสือที่อยู่ใน Reading List ของวิชามีชื่อว่า "การเมืองบนท้องถนน: 99 วัน สมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวน ชุมนุมประท้วงในสังคมไทย" โดย ประภาส ปิ่นตบแต่ง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าหนังสือเล่มดังกล่าวเปลี่ยนความรับรู้ของเราในเรื่องของ "การเมืองภาคประชาชน" และแสดงให้เราเห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า "การเมือง" ส่งผลโดยตรงต่อผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายต่าง ๆ อย่างไร โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของการบริหารตัดการและการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ ที่ผูกโยงอยู่กับรัฐบาลในส่วนกลางในลักษณะของการ "รวมอำนาจ" ในการตัดสินใจและบริหารโครงการต่าง ๆ เอาไว้ที่ส่วนกลาง ทั้งเรื่องของการกำหนดนโยบาย การออกแบบกอจกรรมในท้องที่ท้องถิ่น รวมถึงกิจกรรมและกิจการต่าง ๆ ที่ส่วนกลาง "เชื่อว่าดี" แต่ในความเป็นจริงมันอาจจะไม่ได้เหมาะสม เข้ากับ และสอดรับกับบริบทความสามารถของพื้นที่เลยแม้แต่น้อย
    หนังสือ : เดินข้ามพรมแดน: บนเส้นทางวิชาการและงานเคลื่อนไหว
    โดย : 60 ปี ประภาส ปิ่นตบแต่ง
    จำนวน : 406 หน้า

    "เดินข้ามพรมแดน: บนเส้นทางวิชาการและงานเคลื่อนไหว" หนังสือที่จัดทำขึ้นในวาระครบรอบ 60 ปี ของ "อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง" นักวิชาการด้านการเมือง (การเคลื่อนไหว) ที่ศึกษาและลงมือทำในเรื่องของการเมืองภาคประชาชน และภาคประชาสังคมอื่น ๆ หากใครเคยติดตามอ่านงานของ Way magazine ในช่วงวันที่นิตยสารฉบับนี้ยังมีแบบเล่ม เราอาจจะเคยเห็นเรื่องราวของวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชน คลองโยน-ลานตากฟ้า ที่ชักชวนชาวนาในพื้นที่ผลิตข้าวปลอดสารของชุมชนที่คนอ่าน Way รู้จักกันในชื่อของ "ข้าวคลองโยน" ซึ่งโครงการดังกล่าวนับเป็ยภาพสะท้อนหนึ่งของการบอกว่าสังคมและชุมชนแต่ละแห่งสามารถออกแบบและกำหนดชีวิตของชุมชนได้ด้วยตัวเอง และในแต่ละชุมชนกิจกรรมแต่ละแบบก็เหมาะควรกับบางพื้นที่เท่านั้น

    สำหรับหนังสือ "เดินข้ามพรมแดน: บนเส้นทางวิชาการและงานเคลื่อนไหว" เป็นการรวมบทความของนักวิชาการ นักคิด นักขับเคลื่อนสังคม ที่เขียนถึงการต่อสู้ของผู้คน กลุ่มคน การเคลื่อนไหว การขับเคลื่อนทางการเมือง ที่เป็นประเด็นที่ประภาส ขับเคลื่อนมาตลอดช่วงชีวิตของเขากระทั่งย่างเข้าวัย 60 ปี

    โดยบทความใน "เดินข้ามพรมแดน: บนเส้นทางวิชาการและงานเคลื่อนไหว" แบ่งออกเป็นบทต่าง ๆ ดังนี้

    บทนำ แด่ “ดอกเตอร์ดอกตีน” ผู้เดินข้ามพรมแดนวิชาการและงานเคลื่อนไหว (กองบรรณาธิการ)

    (1) ประภาส ปิ่นตบแต่งในสายธารขบวนการทางสังคม (ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล)

    (2) ขบวนการทางสังคม ขบวนการสังคม (Social Movements) (ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล)

    (3) วิชาการกับงานเคลื่อนไหวภาคประชาชน
    (ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ)

    (4) พลวัตของคนจนเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลกับสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง (บุญเลิศ วิเศษปรีชา และกฤษณ์พชร โสมณวัตร)

    (5) คนจนเมืองนอกระบบ: เรื่องราวของชุมชนไทใหญ่แห่งหนึ่งในเชียงใหม่ (สมชาย ปรีชาศิลปกุล, สิริไพลิน สิงห์อินทร์, วัชลาวลี คำบุญเรืองและวรรณา แต้มทอง)

    (6) พลวัตการต่อสู้จาก “ลงถนน” สู่ “#ปฏิวัติ” (และในทางกลับกัน): ทบทวนสถานภาพการศึกษาและพรมแดนความรู้เชิงทฤษฎีด้านขบวนการทางการเมืองและสังคมในไทย (เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์)

    (7) จากรากหญ้า-ถึงยอดหญ้า: กรอบการศึกษาการเมืองของคนข้างล่างแบบ “ประภาส” กับทิศทางแนวการวิเคราะห์รัฐศาสตร์ไทยในอนาคต (วีระ หวังสัจจะโชค)

    (8) ชาวนา ระหว่างบรรทัดของความเปลี่ยนแปลง
    (สุภา ใยเมือง)

    (9) ชาวนาและที่ดิน ในกระแสความเปลี่ยนแปลง: กรณีชุมชนชาวนาตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา (พรพนา ก๊วยเจริญ)

    (10) 60 ปี อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง มองมุม ผ่านงาน “การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองในชุมชนชนบท” สู่ปฏิบัติการการขับเคลื่อนความเข็มแข็งของชุมชนท้องถิ่น (โอฬาร อ่องฬะ)

    (11) “ความรู้” ของสังคมไทย (อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์)

    (12) สนทนากับประภาส ปิ่นตบแต่ง: บทสนทนาว่าด้วยบทบาทนักวิชาการเพื่อสังคม (วรา ลักษณา)

    เมื่ออ่าน "เดินข้ามพรมแดน: บนเส้นทางวิชาการและงานเคลื่อนไหว" จบลง มันทำให้เราย้อนกลับไปคิดถึงครั้งแรกที่ได้อ่าน "การเมืองบนท้องถนน: 99 วัน สมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวน ชุมนุมประท้วงในสังคมไทย" ในช่วงที่เรียนวิชาการเมืองภาคประชาชนในชั้นเรียน หนังสือ "เดินข้ามพรมแดน: บนเส้นทางวิชาการและงานเคลื่อนไหว" คล้ายกับเป็นภาพขยายและชี้ให้เห็นถึงพลวัตของการเมืองภาคประชาชน การเมืองของคนตัวเล็ก ๆ ที่พวกเขามีศักยภาพและเจตจำนงเสรี ในการกำหนด "ชีวิต" ของพวกเขาเอง

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in