เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ถังแดง: การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์ฯ By จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม
  • รีวิวเว้ย (1147) เหตุการณ์ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน สำหรับสันดานของรัฐไทย สิ่งนี้ดูจะเป็นสันดานเดิมและสัญชาติญาณของระยำรัฐที่แสพติดการใช้ความรุนแรงกระทำการต่อประชาชนในรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มที่รัฐเชื่อและมองว่าคนเหล่านั้นคือกลุ่ม "ผู้เห็นต่างจากรัฐ" อย่างกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นอย่างเหตุการณ์การสลายการชุมนุมในการประชุม APEC ที่รัฐกระทำการโดยไม่มีเหตุจำเป็นและมีการยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมคนหนึ่งจนตาบอด ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีกรณีของคนที่โดนยิงจนตาบอดมาแล้วหลายกรณี จากการกระทำของพวกสันดานระยำนิยมความรุนแรงอย่างเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ดู ๆ ไปเจ้าหน้าที่พวกนี้ก็แทบไม่ต่างจากสัตว์ร้ายใส่เครื่องแบบที่กระทำความรุนแรงต่อประชาชนมาตลอดยุคสมัย และตลอดช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของรัฐ โดยเฉพาะสัตว์รับใช้เหล่านี้จะยิ่งทวีความระยำมากขึ้นเมื่อรัฐแปะป้ายเหยื่อของสัตว์ระยำเหล่านั้นว่า "คนเลวที่คิดทำลายชาติ"
    หนังสือ : ถังแดง: การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย
    โดย : จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม
    จำนวน : 360 หน้า

    การปราบปรามการชุมนุมให้หลายครั้งที่ผ่านมาในสังคมไทย ทำให้เราต้องหยิบเอาหนังสือเล่มนี้กลับมานั่งอ่านอีกครั้ง เพื่อย้อนความว่ารัฐไทยกระทำความรุนแรงต่อประชาชนในลักษณะแบบนี้มาบ่อยครั้งแค่ไหน และข้อความตอนหนึ่งของหนังสือ "ถังแดง: การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย" สะท้อนให้เราเห็นวิธีคิดและชุดความเชื่อของรัฐไทยได้เป็นอย่างดี ในเรื่องของการใช้กำลัง ความรุนแรง และอำนาจรัฐในการกำจัด ทำร้าย ทำลายกลุ่มคนที่เห็นต่างจากรัฐ อย่างในกรณีที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นกรณี "ถังแดง" ที่ช่วงหนึ่งมีชุดคำชุดหนึ่งปรากฏขึ้นว่า "ถีบลงเขาเผาลงถังแดง" เหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐที่เกิดขึ้นในตำบลลำสินธุ์ จังหวัดพัทลุง ที่รัฐใช้กำลังเข้าฆ่าฟันประชาชนที่รัฐเชื่อว่าพวกเขาไม่ใช่ "คนดี" ในแบบที่รัฐอยากให้เป็น

    ข้อความในหน้า 322 - 324 ของ "ถังแดง: การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย" สะท้อนภาพการกระทำอันป่าเถื่อนโดยรัฐได้อย่างชัดเจน อีกทั้งข้อความดังกล่าวยังได้แสดงให้เห็นถึงความเหี้ยของเจ้าหน้าที่รัฐได้เป็นอย่างดี

    "ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ 2518 หนังสือพิมพ์ไทยแทบทุกฉบับลงพาดหัวหน้าหนึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ 'ถังแดง' เมื่อเป็นพฤติกรรมปราบปรามประชาชนของเจ้าหน้าที่ที่โหดร้ายทารุณ ข่าวเรื่องนี้สร้างความตกตะลึงให้กับสังคมไทยในยุคนั้น เพราะจำนวนคนตายและการหายไปอย่างไร้ร่องรอยนับพันคน 14 กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนกรณีถังแดงออกมาเปิดเผย และเรียกร้องความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐบริเวณสนามหลวง ทำให้เรื่องถังแดงกลายเป็นประเด็นสาธารณะในช่วงเวลาเพียงข้ามวัน และกลายเป็นประเด็นตัวอย่างให้กรณีปราบปรามในที่อื่น ๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกเปิดเผยกับสื่อมวลชนเพิ่มขึ้นหลังจากถูกปิดเงียบมาหลายปี แต่แล้วกรณีถังแดงก็กลายเป็นประเด็นที่ประชาชนทั่วไปตั้งคำถามต่อเจ้าหน้าที่รัฐได้ไม่นาน เนื่องจากถูกทำให้เงียบลงด้วยข้ออ้าง 2 ประการ (1) คณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้นยอมรับว่าเหตุการณ์ถังแดงมีจริง แต่คนตายคือผู้ต้องสงสัยว่าเป็น 'ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ คนเหล่านี้ล้วนเป็นกบฏของชาติไม่ใช่คนดี แต่เป็นคนร้าย ฉะนั้นเป็นความจำเป็นของรัฐที่ต้องกำจัดขนเหล่านี้เสีย' การผลักเหยื่อให้เป็นคนร้ายคือการทำให้คนเหล่านั้นกลายเป็นคนอื่นที่สมควรได้รับการลงโทษตามนิยามของรัฐ จึงไม่ควรรื้อฟื้นขึ้นมาสอบสวนลงโทษอีก 'เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่เสียกำลังใจได้' (2) ประการที่สอง การทำให้เรื่องนี้กลายเป็นความปกติ ถ้าในการทำสงครามความตายเป็นเรื่องปกติ จำนวนผู้เสียชีวิตหลักสิบเป็นตัวเลขที่ทางการเห็นว่าธรรมดา ทางการออกมาปฏิเสธเรื่องจำนวนคนตายจากกรณีถังแดงนับพันคนตามที่มีการร้องเรียน และอ้างว่ามีอย่างมากเพียง 70 - 80 คนเท่านั้น ความตายเท่านี้จึงกลายเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่ไม่สำคัญอะไรนักในสายตาของรัฐ สำหรับรัฐไทย เราคงหาคำตอบไม่ได้ว่าต้องมีจำนวนคนตายเท่าไหร่จึงจะเป็นเรื่องปกติ" (น. 323 - 324)

    สำหรับเนื้อหาของ "ถังแดง: การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย" แบ่งออกเป็น 5 บท ที่ตัวหนังสือจะพาผู้อ่านย้อนกลับไปทำความเข้าใจ และเรียนรู้เรื่องราวของเหตุการณ์ถังแดง ผ่านเรื่องราวของ "ความทรงจำ" ที่ในวงวิชาสังคมศาสตร์มักเรียกกันว่า "ความทรงจำบาดแผล" ที่เกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ถังแดง ทั้งจากผู้ที่เผชิญเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยตัวเอง และจากผู้ที่สูญเสียใครบางคนในครองครัวไปจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น โดยเนื้อหาแต่ละบทแบ่งเป็นดังนี้

    (1) แนวคิดว่าด้วยความทรงจำและเรื่องเล่า

    (2) บริบทความขัดแย้งและความรุนแรงในอดีตสู่การก่อรูปของความทรงจำ

    (3) เรื่องเล่าถังแดงกับความทรงจำ "ร่วม" ของชุมชน

    (4) ถังแดง ความรุนแรงและความทรงจำของบุคคล

    (5) บทสรุป

    เมื่ออ่าน "ถังแดง: การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย" จบลง ทำให้เราย้อนกลับมาคิดถึงคำของมักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ที่พูดถึง "รัฐ" เอาไว้ว่า "ผู้ซึ่งชอบธรรมแต่เพียงหนึ่งเดียวในการใช้อำนาจทางกายภาพในขอบเขตพื้นที่หนึ่ง (the monopoly of the legitimate use of physical force within the given territory.)" เมื่อยอนมองอำนาจของรัฐไทยผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหลายช่วงเวลาของสังคมไทย (รวมถึงรัฐอื่น ๆ ด้วย) สิ่งที่อาจจะต้องเติมเข้าไปในเรื่องของอำนาจอันชอบธรรมของรัฐในการใช้อำนาจ อาจจะต้องเพิ่มเติมว่านอกจากอำนาจแล้วรัฐ (ในปัจจุบัน) จำเป็นต้องมี "สำนึกของความหลากหลายและแตกต่าง" เพื่อป้องกันการเกิดขึ้นของระยำรัฐที่มักผลักให้ผู้ที่แตกต่างเป็น "ศัตรู" ที่รัฐพร้อมใช้อำนาจและความรุนแรงเพื่อกำจัดเสมอ 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in