รีวิวเว้ย (1102) ตอนเด็ก ๆ เรากังวลเรื่องของการส่งการบ้านคุณครูในชั้น พอเข้ามหาลัยสิ่งที่เรากังวลต่อมาคือเรื่องของเกรดว่าขอให้รอดและไม่ต้องมานั่งเรียนซ้ำ ๆ ให้โดนเพื่อนและรุ่นน้องย่ำยี และพอเรียนสูงขึ้นในระดับบัณฑิตศึกษาเราจะพบว่าปัญหาและความกังวลที่เคยผ่านมาดูเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลยเมื่อต้องมาเขียน "วิทยานิพนธ์" ให้จบ โดยต้องเขียนให้ตรงตามรูปแบบของการทำงานวิจัย ทั้งการตั้งคำถาม การสร้างกรอบแนวคิด การทบทวนวรรณกรรม การออกแบบเครื่องมือ การเก็บข้อมูล การลงมือเขียน และที่สำคัญคือการสอบให้ผ่านตั้งแต่ขั้นของอาจารย์ที่ปรึกษาไปจนกระทั่งสอบปิดเล่มเพื่อสำเร็จการศึกษา และหากใครใจหาญที่จะเรียนสูงขึ้นไปอีกชั้น ก็ได้แต่ยืนเอามือทาบอกและอวยพรให้เขาคนนั้นโชคดีและมีเวลานอนที่เพียงพอ
หนังสือ : คลินิกวิจัย คำแนะนำและแนวปฏิบัติการทำวิจัย
โดย : ปรีชญาณ์ นักฟ้อน
จำนวน : 103 หน้า
"คลินิกวิจัย คำแนะนำและแนวปฏิบัติการทำวิจัย" เป็นหนังสือขนาดกระทัดรัดที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนเข็มทิศของการแนะนำ "ขั้นตอนและแนวทาง" ของการทำวิจัย แบบที่ช่วยให้ผู้อ่านเห็นโครงร่างของวิธีการทำงานวิจัย หากขยายภาพอีกนิดอาจจะเรียก "คลินิกวิจัย คำแนะนำและแนวปฏิบัติการทำวิจัย" คือโครงกระดูกของการทำวิจัย ที่หนังสือจะบอกกับเราว่าอันไหนคือสันหลัง อันไหนคือกระดูกต้นขา และอันไหนคือกระดูกอะไรใช้ทำหน้าที่อะไร เพื่อให้ผู้ทำงานวิจัยเข้าใจโครงสร้างของการทำงานวิจัยในขั้นต้นเสียก่อน ก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นงานวิจัยในระดับต่อไป เพราะในหลายครั้งเราหลายคนก็เริ่มทำงานวิจัยจากการสร้างผิวหนังก่อนจนในท้ายที่สุดรายกายก็ตั้งไม่ได้หลายเป็นเศษเนื้อกองอยู่มุมห้องที่รอกวาดลงถังขยะเพราะขาดโครงร่างที่ถูกต้องและมั่นคง
"คลินิกวิจัย คำแนะนำและแนวปฏิบัติการทำวิจัย" แบ่งออกเป็นบทสั้น 5 บทที่จะพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจขั้นตอน วิธีการ ของการทำงานวิจัยในแต่ละขั้น แบบสั้น ง่าย กระชับ และบอกเทคนิคให้ผู้วิจัยไปสอบค้นในส่วนของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และเส้นเลือดต่อได้ด้วยตัวเองโดยไม่หลงทาง โดยแต่ละบทของ "คลินิกวิจัย คำแนะนำและแนวปฏิบัติการทำวิจัย" แบ่งออกเป็นดังนี้
บทที่ 1 วิจัยคือศิลปะของการแสวงหาความจริง
บทที่ 2 ทบทวนสิ่งที่รู้เพื่อแสวงหาสิ่งที่ไม่รู้
บทที่ 3 ออกแบบเส้นทางแสวงหาคำตอบ
บทที่ 4 เปิดหู เปิดตา เปิดใจ
บทที่ 5 เสียงของข้อมูล
เป็นที่แน่นอนว่าเมื่ออ่าน "คลินิกวิจัย คำแนะนำและแนวปฏิบัติการทำวิจัย" จบลง คุณอาจจะไม่สามารถทำงานวิจัยให้ลุล่วงได้ทั้งชิ้นเพียงเพราะอ่านหนังสือขนาดกระชับความยาว 103 หน้าเล่มนี้จบ เพราะในบทต่าง ๆ ของ "คลินิกวิจัย คำแนะนำและแนวปฏิบัติการทำวิจัย" ก็บอกไว้แล้วว่าการทำวิจัย คือ การทำงานที่ต้องอาศัยความอดทน ความเข้าใจ ความรู้ และวิธีการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ ที่แน่ ๆ เมื่ออ่าน "คลินิกวิจัย คำแนะนำและแนวปฏิบัติการทำวิจัย" จบลง อย่างน้อยผู้อ่านจะสามารถตั้งต้นได้ว่า "งานวิจัยควรเริ่มต้นจากตรงไหนดี"
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in