เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
เส้นเวลา (Timeline) By ชลัท ประเทืองรัตนา
  • รีวิวเว้ย (1089) รีวิวเว้ย × สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    "ประชาธิปไตยที่แท้จริง จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากการพูดคุย ที่เปิดกว้างและเสรี แต่ถึงกระนั้นเสรีภาพในการพูดคุยอย่างเดียวก็อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่สังคมประชาธิปไตย"  ข้อความที่ปรากฎอยู่ใน "คำนำ" ของหนังสือเล่มนี้ ได้เป็นการชี้ให้เห็นถึงหัวใจสำคัญของกิจกรรมอย่างหนึ่งที่อาจจะนำไปสู่การส่งเสริมประชาธิปไตยโดยเฉพาะเรื่องของการพูดคุยและการรับฟังความคิดเห็น เรามักจะมีโอกาสได้เห็นอยู่บ่อย ๆ ในเรื่องของการทำกิจกรรมในลักษณะของการรับฟังความคิดเห็น หรือการเปิดวงให้บุคคลเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้น ๆ โดยเฉพาะกิจกรรมของท้องถิ่น ที่เรียกได้ว่าการทำประชาคม หรือว่าการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็น แทบจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ท้องถิ่นใช้กันอยู่บ่อย ๆ แต่หลายครั้งการเปิดรับฟังความคิดเห็นหรือการเปิดเวทีในลักษณะนี้ เป็นเพียงพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่ทำให้เสร็จไป หากแต่กระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นไม่เปิดโอกาส ให้กลุ่มบุคคลเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ อาจจะด้วยข้อจำกัดด้านเวลาหรืออาจจะด้วยข้อจำกัดในด้านประสบการณ์ของวิทยากรกระบวนการ ที่อาจจะขาดลูกเล่น เทคนิค หรือวิธีการที่กระตุ้นให้คนเข้ามามีส่วนร่วม หรือวิธีการที่จะทำให้คนเปิดอกคุยโดยเฉพาะในกรณีที่มีเรื่องของผลประโยชน์ หรือความอ่อนไหวเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นในหลายครั้งกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็น เลยถูกตั้งคำถามว่าเป็นเพียงพิธีกรรม หรือเป็นเพียงแค่กิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้ครบตามองค์ประกอบที่กฎหมายกำหนดขึ้นเท่านั้นหรือ จะดีกว่าไหม หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ทั้งในส่วนราชการส่วนภูมิภาค และข้าราชการส่วนท้องถิ่น ได้มีความรู้ ความเข้าใจ รวมไปถึงการฝึกฝนในการเป็นกระบวนกร ในการนำวงกิจกรรม เพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัย และมีใจที่อยากจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมในพื้นที่ของตน
    หนังสือ : เส้นเวลา (Timeline)
    โดย : ชลัท ประเทืองรัตนา
    จำนวน : 63 หน้า

    "เครื่องมือเส้นเวลา (Timeline)" เป็นเครื่องมือหนึ่งในการประชุมกลุ่มย่อย ที่ทำให้เห็นภาพอย่างชัดเจน ในการใช้การทบทวนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันตามลำดับเหตุการณ์ใด อย่างชัดเจนและเป็นระบบ เป้าหมายของเครื่องมือนี้เพื่อสร้างมุมมองร่วมกัน แบ่งปันความเข้าใจระหว่างผู้เข้าร่วม เกิดการสะท้อนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมเพื่ออุดช่องว่าง ได้บทเรียนให้เห็นแนวโน้มที่เกิดขึ้น ตลอดจนใช้การสนับสนุนการวางแผนโครงการในอนาคตต่อไป เครื่องมือนี้ใช้ในกิจกรรมกลุ่มซึ่งผู้ร่วมกลุ่ม จะได้ร่วมกันระบุเหตุการณ์ที่สำคัญ ผลสำเร็จ อุปสรรค และพัฒนาการที่ดีร่วมกัน และวาดภาพในรูปแบบของลำดับเหตุการณ์ ซึ่งจะมีวิธีการแลกเปลี่ยนกันเผื่อได้รายละเอียด และการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน

    หนังสือ "เส้นเวลา (Timeline)" เป็นหนังสือที่จัดอยู่ในหมวดหมู่ของหนังสือเครื่องมือวิทยากรกระบวนการ (Tools for Facilitator) สำหรับเป็นคู่มือในการทำความเข้าใจเครื่องมือการทำกิจกรรมของวิทยากรกระบวนการ หรือที่หลายคนเรียกย่อ ๆ ว่า "กระบวนกร"

    โดยเนื้อหาของหนังสือ "เส้นเวลา (Timeline)" เล่มนี้ แบงก์ออกเป็นบทดังต่อไปนี้

    บทนำ

    หลักการสำคัญของเครื่องมือเส้นเวลา

    เมื่อใดควรใช้และทำไมถึงใช้เครื่องมือเส้นเวลา

    วิธีการในการจัดเครื่องมือเส้นเวลา

    จุดแข็ง ข้อจำกัดและสิ่งที่พึ่งระวังของเครื่องมือเส้นเวลา

    ตัวอย่างการจัดเครื่องมือเส้นเวลา

    บทสรุป

    เมื่ออ่านหนังสือ "เส้นเวลา (Timeline)" เล่มนี้จบลง เราจะพบว่า การใช้เครื่องมือในลักษณะของการสร้างภาพร่วมกัน หรือทำกิจกรรมให้คนเห็นภาพเดียวกัน โดยอาจจะไม่ได้อยู่ในลักษณะของการเห็นร่วมกันเป็นเอกฉันท์ หากแต่ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมเห็นภาพของสิ่งนั้นในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน คล้ายกัน หรือเห็นมันในมิติเดียวกัน อีกทั้งได้มีการพูดคุยกันถึงจุดมุ่งหมาย ความต้องการ และการคาดการณ์ไปในอนาคตถึงเหตุการณ์นั้นๆร่วมกันว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เครื่องมือในลักษณะนี้อาจจะช่วยให้การทำกิจกรรมในลักษณะของกิจกรรมกลุ่ม หรือการรับฟังความคิดเห็นในท้องถิ่น สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะหากใช้กิจกรรมในลักษณะนี้กับการรับฟังความคิดเห็นของท้องถิ่นเพราะคนในท้องถิ่นส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะร่วมกันบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ พื้นเพ ภูมิหลัง หรือกระทั่งความคาดหวังต่อการกำหนดอนาคตของบ้านเรือนของตนเอง การทำให้เขาเห็นภาพเดียวกัน คิดไปในทิศทางเดียวกัน รวมไปถึงสามารถคาดคะเนผลกระทบ หรือผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากกิจกรรมเหล่านั้นได้ อาจจะช่วยให้การทำกิจกรรมระหว่างส่วนราชการท้องถิ่น หรือกระทั่งส่วนราชการส่วนกลางกับท้องถิ่น สามารถดำเนินงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in