เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
The Old Man and SEA ชายชรากับอุษาคเนย์ By ชานันท์ ยอดหงษ์ บรรณาธิการ
  • รีวิวเว้ย (1080) "เรารู้จักผลงานของคน ๆ หนึ่ง ก่อนที่จะรู้จักตัวตนของเขาเสียอีก" คำพูดนี้ดูจะไม่เกินไปเท่าไรเมื่อมองย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน ชื่อของ "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" คือในความรับรู้ของเรา ก็เมื่อตอนที่เขาเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาในการเรียนวิชา ที่ถูกเรียกว่าวิชาเรียนรวมเป็นวิชาพื้นฐานที่นักศึกษาที่เข้ามหาลัยในปีแรก จะถูกบังคับให้เรียนวิชานี้ หรือเลือกเรียนอีกวิชาหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกัน และผลงานที่ปรากฏในรายการหนังสือต้องอ่าน สำหรับใช้ในการเรียนการสอนของวิชานี้ เล่มหนึ่งที่ปรากฏ เป็นผลงานแปลของชาญวิทย์ เกษตรศิริ  หนังสือเรื่อง "โจนาธาน ลิฟวิงตัน"  ถูกหยิบมาเป็นหนึ่งในรายการหนังสือต้องอ่านสำหรับนักศึกษาที่เรียนในวิชานั้น แน่นอนว่าก่อนหน้านี้เราเคยอ่านหนังสือเล่มนี้มาก่อน แต่เราก็ไม่ได้สนใจชื่อผู้เขียน ชื่อผู้แปล และเนื้อหาจริงจังของหนังสือเล่มนี้นอกจากเป็นเรื่องราวของนกนางนวลตัวหนึ่ง หากแต่เมื่อเรียนวิชานี้และมีหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออ่านประกอบ ความรับรู้เกี่ยวกับตัวของนกนางนวลโจนาธานก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และหลังจากนั้นเมื่อเขาเรียนในวิชาต่อ ๆ มาของคณะ หนังสือที่ปรากฏอยู่ในรายการต้องอ่าน ก็มีหลายเล่มที่เป็นงานของชาญวิทย์ เกษตรศิริ และอาจจะเรียกได้ว่ากึ่งหนึ่งของหนังสือที่ใช้ประกอบการเรียนตลอดช่วงการเรียนมหาลัย เป็นหนังสือที่ชาญวิทย์ มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยทางตรงและทางอ้อมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะในฐานะบทบาท ของประธานมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ ที่เป็นหน่วยผลิตความรู้ และตำรา ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และยังคงอยู่มาจนกระทั่งปัจจุบัน
    หนังสือ : The Old Man and SEA  ชายชรากับอุษาคเนย์: 80 ปี การโต้คลื่นลมชีวิต (ประวัติศาสตร์และความคิด) ของชาญวิทย์ เกษตรศิริ
    โดย : ชานันท์ ยอดหงษ์ บรรณาธิการ
    จำนวน : 404 หน้า

    หนังสือ "The Old Man and SEA  ชายชรากับอุษาคเนย์" เป็นการรวมบทความในวาระครบรอบ 80 ปี ของชาญวิทย์เกษตรศิริ ที่ได้ทำการรวบรวมเอาบทความ จากบรรดานักวิชาการ เพื่อนร่วมอาชีพ กลุ่มลูกศิษย์ ที่ได้หยิบใช้งานของชาญวิทย์เกษตรศิริ หรือวิธีคิดของชาญวิทย์มาใช้ในการสร้างผลงานทางวิชาการ เพื่อขับเคลื่อนโลกวิชาการให้เดินต่อไปข้างหน้า โดยเฉพาะบทบาทของชาญวิทย์ ในฐานะนักวิชาการ ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาในเรื่องของอุษาคเนย์

    "อุษาคเนย์" หมายถึง ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมาจาก Southeast Asia แปลว่าประเทศและดินแดนในบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย (Asia ในภาษาอังกฤษตรงกับคำในภาษาบาลี-สันสกฤตว่าอุษา เพราะอยู่ในตระกูลภาษาเดียวกัน คือ อินโด-ยูโรเปียน) เพิ่มเติมใน (https://www.matichonweekly.com/sujit/article_407261#:~:text=%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%8C%20%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2,%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%94%2D%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99)

    โดยบทความที่ปรากฏในหนังสือ "The Old Man and SEA  ชายชรากับอุษาคเนย์" แบ่งออกเป็นบทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    (1) ในคลื่นลมโลกาภิวัตน์
    - Artical to celebrate the 80 birthday of Professor Chanvit Kasetsiri
    Thak Chaloemtirana

    - Travelogue: On The Road With Chanvit Kasetsiri
    ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

    - เอเชียศึกษาข้ามวงวิชาการ
    ธงชัย วินิจจะกูล

    - Thinking About Zomai and Beyond
    Gridthiya Gaweewong

    (2) ทำความรู้จักอุษาคเนย์
    - อุษาคเนย์ศึกษาท่าพระจันทร์ มานุษยวิทยา และชาญวิทย์ เกษตรศิริ
    พิเชฐ สายพันธ์

    - จดหมายถึง โจนาทาน ของฉัน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
    นนทวัฒน์ นำเบญจพล

    - ปูจังกา บารู (Pujangga Baru): วรรณกรรมกับเปอมูตา (Pemuda) ผู้ (แอบ) ท้าทายอาณานิคม
    อรอนงค์ ทิพย์พิมล

    - หินตั้ง, หินใหญ่ และความตายในศาสนาผี กับพระนอนและพุทธประวัติคอนปรินิพพาน
    ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

    - ความเคลื่อนไหวต่อต้านเวียดนามของชาวเขมรกับวรรณกรรมจบับ (ทศวรรษ 1820 - 1840)
    พิชยะพัฒน์ นัยสุภาพ

    (3) หวนมองสยามประเทศ
    - ประชากร อาหารและสังคมเมืองฝนสมัยอยุธยาตอนกลาง
    คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร

    - ปริทรรศน์สัญญาวิปลาสพระเจ้ากรุงธนบุรี: พระเจ้าตากสินเป็นบ้าจริงหรือ ?
    สมฤทธิ์ ลือชัย

    - การเปลี่ยนรูปของรัฐไทยกับความหมายของ "ประชาธิปไตย" ก่อนและหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475
    สายชล สัตยานุรักษ์

    - 2475: อดีต ปัจจุบัน อนาคต
    ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

    - การเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงการปฏิวัติเงียบ
    สายพิน แก้วงามประเสริฐ

    - วิวาทะคนเดือนตุลาฯ ท่ามกลางการเติบโตของขบวนการต่อต้านทักษิณ ชินวัตร
    กนกรัตน์ เลิศชูสกุล

    - การก่อรูปและอิทธิพลของความคิดทางการเมืองอนุรักษ์นิยมไทยในยุคโลกาภิวัตน์: จาก "ธรรมราชา" สู่ "พระมหากษัตริย์มหาชน"
    ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

    เมื่ออ่านหนังสือ "The Old Man and SEA  ชายชรากับอุษาคเนย์" เล่มนี้จบลง เราจะพบว่าบทความหลาย ๆ ชิ้นที่ปรากฏในงาน ไม่ไช่แค่เป็นเพียงการพูดถึงชาญวิทย์ เกษตรศิริแต่เพียงเท่านั้น หากแต่งงานที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ เป็นการพูดถึงคุณูปการ และเป็นการพูดถึงพัฒนาการ ของวงการในการศึกษา "วงศาวิทยาของอุษาคเนย์" ในประเทศไทย ที่ตลอด 80 ปีของชาญวิทย์เกษตรศิริ เค้าทำหน้าที่เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่พัฒนาวงการศึกษาดังกล่าว สร้างแนวความคิด วางรากฐานทางความรู้ ผลิตนักวิชาการร่วมกันกับเพื่อนนักวิชาการ นักวิชาการรุ่นน้อง  และกลุ่มนักวิชาการรุ่นลูกศิษย์ เพื่อสร้างรากฐานความรู้ ความคิด สำหรับวงวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ของประเทศไทย  ดังพันธกิจของมูลนิธิโครงการตำราฯ ที่อาจารย์ป๋วยได้เขียนเอาไว้เมื่อปี พ.ศ. 2519 ว่า "โครงการตำราฯ ก็มีเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะทำหน้าที่เป็นแหล่งชุมนุมงานเขียนของนักวิชาการต่าง ๆ ทั้งในและนอกสถาบัน เพื่อให้ผลงานวิชาการที่มีคุณภาพได้เป็นที่รู้จักและเผยแผ่ออกไปโดยทั่วถึงทั้งในหมู่ผู้สอน ผู้เรียน และผู้สนใจงานวิชาการ" ซึ่งตลอด 80 ปีที่ผ่านมาชาญวิทย์ เกษตรศิริ ก็ได้ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นแกนกลางของ "แหล่งชุมนุมงานเขียนนักวิชาการต่าง ๆ ทั้งในและนอกสถาบัน เพื่อให้ผลงานวิชาการที่มีคุณภาพได้เป็นที่รู้จักและเผยแผ่ออกไปโดยทั่วถึง"

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in