เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
การกระจายอำนาจการคลังสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น By สกนธ์ วรัญญูวัฒนา
  • รีวิวเว้ย (1081) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    การกระจายอำนาจ (Decentralization ) เป็นวิธีการที่รัฐ (ราชการส่วนกลาง) ทำการโอนอำนาจการปกครอง หรือการบริหารงานและการจัดทำบริการสาธารณะบางส่วน บางเรื่อง ที่เกี่ยวกับการจัดบริการสาธารณะให้องค์กรหรือนิติบุคคลอื่นรับไปดำเนินการแทน ภายในอาณาเขตของแต่ละท้องถิ่นด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่น โดยมีอิสระพอสมควร ราชการส่วนกลางมีหน้าที่เพียงกำกับดูแล (ส่งเสริม) การกระจายอำนาจ ปราฏอย่างเป็นรูปธรรมภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีการแยกตำแหน่งของผู้บริหารองค์กรปกครองส่สนท้องถิ่น ออกจากข้าราชการส่วนภูมิภาค ทำให้ในช่วงแรกของการแยกออกจากกันเราอาจจะเคยเห็นข่าวที่ท้องถิ่นไปทวงเอาของที่จัดซื้อโดยงบประมาณจากท้องถิ่นคืนจากข้าราชการส่วนภูมิภาค และหลังจากก่รประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา การกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง มีความพยายามในการถ่ายโอนภารกิจต่าง ๆ ให้กับท้องถิ่นใยการปฏิบัติงานในหลากเรื่องหลายมิติ กระทั่งในช่วงหลายปีมานี้เกิดเป็นกระแสวิพากษ์ ในวงของท้องถิ่นทั้งนักวิชาการและนักปฏิบัติว่า "ภาระกิจมาแต่งบไม่ตามมา" ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ท้องถิ่นต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และดูจะเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบเสียที
    หนังสือ : การกระจายอำนาจการคลังสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: แนวคิดและการปฏิบัติกรณีศึกษาประเทศไทย 
    โดย : สกนธ์ วรัญญูวัฒนา
    จำนวน : 127 หน้า

    "การกระจายอำนาจการคลังสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: แนวคิดและการปฏิบัติกรณีศึกษาประเทศไทย" เป็นหนังสือเล่มขนาดกระทัดรัดที่ถูกจัดพิมพ์ขึ้นในโครงการ "ธรรมศาสตรา เสริมอาวุธทางปัญญาสู่สังคมไทย" โครงการที่ผลิตตำราและผลงานทางวิชาการเพื่อส่งมอบความรู้สู่สังคม

    โดยที่เนื้อหาของ "การกระจายอำนาจการคลังสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: แนวคิดและการปฏิบัติกรณีศึกษาประเทศไทย" เป็นการพูดถึงเรื่องของ "การกระจายอำนาจการคลัง" ที่นับเป็นอีกเรื่องสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเรื่องของการคลังและงบประมาณเป็นประเด็นและปัจจัยที่สำคัญของการขับเคลื่อนการกระจายอำนาจให้ดำเนินไปได้ทั้งในแง่ของการจัดทำบริการสาธารณะ และการขับเคลื่อนภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอน

    มีการให้นิยามของ "การกระจายอำนาจทางการคลัง" เอาไว้ว่า หมายถึง การที่รัฐบาลกลางมอบอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบทางการคลังให้กับหน่วยการปกครองท้องถิ่นให้มีอิสระในการตัดสินใจทางการคลัง อันได้แก่ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การก่อหนี้ และการบริหารการคลัง โดยไม่ต้องอยู่ในการบังคับบัญชาของรัฐบาลกลาง เพียงแต่อยู่ในการกำกับหรือการควบคุมบางเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น และ "การกระจายอำนาจการคลังสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: แนวคิดและการปฏิบัติกรณีศึกษาประเทศไทย" มีการแบ่งเนื้อหาภายในเล่มออกเป็นดังนี้

    บทนำ

    การกระจายอำนาจการคลังฯ กับสวัสดิการสังคมตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์

    ทฤษฎีการกระจายอำนาจการคลังของประเทศกำลังพัฒนาตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์

    การกระจายอำนาจการคลังกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศกำลังพัฒนา

    การจำแนกภาระกิจหน้าที่ระหว่างรัฐบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: กรณีศึกษาประเทศไทย

    สรุปสภาพปัญหาด้านการกระจายอำนาจการคลังสู่องค์กรปกรครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย 

    เมื่ออ่าน "การกระจายอำนาจการคลังสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: แนวคิดและการปฏิบัติกรณีศึกษาประเทศไทย" จบลง เราจะพบว่าความสำคัญของการกระจายอำนาจทางการคลังจะเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินไปได้อย่างดีเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะ อีกทั้ง "การกระจายอำนาจการคลังสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: แนวคิดและการปฏิบัติกรณีศึกษาประเทศไทย" ยังทิ้งท้ายเรื่องของปัญหาที่ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นปัญหาสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเต็มประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in