เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ในสายธาร วัฒน์ วรรลยางกูร By รวมบทความรำลึกถึง วัฒน์ วรรลยางกูร
  • รีวิวเว้ย (1069)

    เมื่อข้าตาย

    เพื่อนข้ายังอยู่

    ลูกข้ายังสู้

    หลานข้ายังฝัน

    ชีวิตต้องดีกว่า สังคมต้องก้าวหน้า

    สันติภาพต้องมีมา เป็นจริง, เป็นจริง ใช่เพียงฝัน

    (ฝันให้ไกลไปให้ถึง -- วัฒน์ วรรลยางกูร)

    ในช่วงที่ผ่านมา เห็นกระแสข่าวในเรื่องของการฉายหนัง ในโครงการกรุงเทพกลางแปลง ที่มีการหยิบเอาหนังเรื่องต่างๆมาฉายในลักษณะของหนังกลางแปลง ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร แล้วเมื่อวานนี้ (15/07/65) ได้มีการหยิบเอาหนังเรื่องนึง ที่ปรับปรุงมาจากนวนิยายจากปลายปากกาของ “วัฒน์ วรรลยางกูร” ชื่อเรื่องว่า “มนต์รักทรานซิสเตอร์” มาฉายในกิจกรรมดังกล่าว และได้มีกระแสข่าวในเรื่องของการห้ามไม่ให้มีการจัดบูธ เพื่อทำกิจกรรมและการระลึกถึงผู้เขียนในงานดังกล่าวด้วย อาจจะด้วยเพราะลูกโป่งที่แจกในกิจกรรมครั้งนั้น มีข้อความ ที่เขียนเอาไว้ว่า “ยกเลิก 112” อยู่ในลูกโป่งที่จะแจก ทำให้กิจกรรมดังกล่าวถูกผู้จัดงานห้ามไม่ให้มีการจัดกิจกรรมเกิดขึ้น แต่กิจกรรมฉายหนังก็ยังคงดำเนินและฉายต่อไปซึ่งในส่วนนี้เราก็ไม่ทราบถึงรายละเอียด ของสิ่งที่เกิดขึ้นมากนักว่าในท้ายที่สุดแล้ว เรื่องเล่าและเรื่องราวของเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเช่นไรกันแน่ เพราะถ้าหากเราฟังความทั้งสองฝ่าย เราอาจจะได้เห็น ความจริงของเรื่อง ในลักษณะเดียวกันกับนวนิยาย "ราโชมอน" ของริซโนซูเกะ อากูตางาวะ หรือหนังเรื่อง "Vantage Point" ของ Pete Travis
    หนังสือ : ในสายธาร วัฒน์ วรรลยางกูร
    โดย : รวมบทความรำลึกถึง วัฒน์ วรรลยางกูร
    จำนวน : 276 หน้า

    "วัฒน์ วรรลยางกูร" เป็นนักเขียนนักประพันธ์ ที่ผลิตผลงานจำนวนมากออกมาให้กับสังคมไทย และงานหลายชิ้นของเขา ก็เป็นงานที่สะท้อนสังคมในลักษณะของการเรียกร้องการต่อสู้และเท่าเทียมของกลุ่มคน ในสังคมไทย เรียกร้องให้คนได้ใช้ชีวิตดีขึ้น ให้คนทุกคนถูกนับในฐานะของคนอย่างเท่าเทียมกัน งานรายชิ้นของเขาสะท้อนเรื่องของความต่างทางชนชั้น แล้วมุมมองของคนที่ถูกเรียกว่าคนชนชั้นล่างในสังคมแห่งนี้ ถึงการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งการใช้ชีวิตที่ดี ภายใต้โครงสร้างของสังคมที่ไม่เอื้ออำนวยและเป็นสังคมที่นับเพียงคนไม่กี่กลุ่มเอาไว้ด้วยกันเท่านั้น ตัวอย่างของงานชิ้นหนึ่งที่ชัดเจนของเขา ก็คือผลงานประพันธ์เรื่องมนต์รักทรานซิสเตอร์ที่กลายเป็นหนังที่ถูกเอามาฉายในกิจกรรมกรุงเทพกลางแปลง

    สำหรับหนังสือ "ในสายธาร วัฒน์ วรรลยางกูร" เล่มนี้ หากเราจะเรียกกันว่าหนังสืองานศพก็คงไม่ผิดนัก เพราะหนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ขึ้นมา เพื่อแจกในโอกาศของงาน เพื่อระลึกถึงวัฒน์ วรรลยางกูร ที่เกิดขึ้นมาจากการร่วมมือกันของกลุ่มนักเขียน นักประพันธ์ คอลัมนิสต์ และกลุ่มบุคคลนักเคลื่อนไหวนักกิจกรรมที่อยู่โดยรอบเขา ร่วมกันจัดทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการระลึกถึงในวาระการจากไป อย่างไม่มีวันกลับของวัฒน์ วรรลยางกูร

    คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการสูญเสีย หรือว่าการจากไปของเขาในครั้งนี้ อาจจะเป็นผลเกี่ยวเนื่อง ที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 และเป็นผลมาจากคดีอาญา มาตรา 112 และ 116 ที่เขาถูกออกหมายจับด้วยเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ตัวเขาต้องลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ และเสียชีวิตในต่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่านักเคลื่อนไหว นักกิจกรรม และกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอีกหลายคน ที่ต้องเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับเขา หลายคน หายตัวไปโดยที่ไม่มีใครรู้ว่าหายไปไหน หลายคนต้องจากครอบครัวอันเป็นที่รัก และไม่รู้ว่าจะได้กลับมาอีกทีเมื่อไหร่ จะได้พบหน้าค่าตากันอีกมั้ย และหลายคนก็ต้องจบชีวิตลงแบบเขาในต่างประเทศ ดังข้อความที่ปรากฏในส่วนนำของหนังสือเล่มนี้ว่า

    "นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 คสช. ออกหมายเรียกรายงานตัว นักเคลื่อนไหวนักวิชาการ รวมถึงวัฒน์ วรรลยางกูรด้วย ซึ่งวัดแสดงออกในทางอารยะขัดขืนด้วยการไม่ไปรายงานตัวและลี้ภัยออกจากประเทศไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยภายหลังก็ปรากฏว่ามีออกหมายจับวัฒน์ในคดีอาญามาตรา 112, 116 และอื่น ๆ นับเป็นเวลากว่าเกือบ 8 ปี ที่วัดต้องระหกระเหินลี้ภัยต่างแดน และยังคงต่อสู้ในแนวทางของนักเขียน พร้อมกันกับต้องหนีภัยไล่ล่าผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน หลังเกิดเหตุฆาตกรรมผู้ลี้ภัยในประเทศลาวอย่างโหดเหี้ยม วัฒน์จึงลี้ภัยไปยังประเทศฝรั่งเศสและอาศัยอยู่โดยได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และได้รับการดูแลจากรัฐสวัสดิการของประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่ง 21 มีนาคม 2565 วัฒน์ วรรลยางกูล เสียชีวิตอย่างสงบจากอาการป่วย ที่เมืองเบอซ็องซง ประเทศฝรั่งเศส ด้วยอายุ 67 ปี" (น.14-15)

    จากการนั่งไล่ดูความเห็น เกี่ยวกับกรณีของกรุงเทพกลางแปลงเมื่อวันก่อน เราไปสะดุดตากับข้อความอันหนึ่ง ของกลุ่มคนที่มาแสดงความเห็นในเฟซบุ๊คว่า "การจัดกิจกรรมระลึกถึงวัฒน์ ในลักษณะของการออกบูธและการแจกลูกโป่ง อาจจะดูไม่ถูกต้องตามกาละเทศะเท่าใดนัก" ในมุมของเรา ประเด็นนี้ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยว่าคำว่า "ถูกต้องตามกาลเทศะเท่าใดนัก" มันหมายถึงอะไร (?) หากลองคิดกันดูเล่น ๆ ว่าเราจัดกิจกรรมหนึ่ง ที่หยิบเอางานเขียนของนักเขียนผู้เสียชีวิตจากผลกระทบทางการเมือง มาใช้ในกิจกรรมเหล่านั้น แล้วการจัดกิจกรรมโดยที่ไม่บอกเล่าเรื่องราวของผู้เขียนในฐานะของคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเมือง และผลสืบเนื่องต่าง ๆ เรากลับมองว่าความไม่สมเหตุสมผลของกิจกรรมในลักษณะนี้หรือการห้ามทำกิจกรรมแบบนี้ อาจจะถูกเรียกว่าสิ่งที่ไม่ถูกกาละเทศะมากกว่าเสียอีก โดยเฉพาะเมื่องานเขียนแทบทุกชินของวัฒน์ว่าด้วยเรื่องของการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียม และชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างทางชนชั้นระหว่างกลุ่มคนในสังคมไทย

    สำหรับการเขียนรีวิวหนังสือ "ในสายธาร วัฒน์ วรรลยางกูร" เล่มนี้ ไม่ต้องการที่จะบอกว่าใครผิดหรือใครถูก หากแต่อยากให้ผู้ที่กำลังค้นหาคำ โดยเฉพาะคำว่า "วัฒน์ วรรลยางกูร" ได้รับรู้ ได้เรียนรู้ แล้วได้เข้าใจ ถึงสิ่งที่ชายคนนี้ทำมาตลอดชีวิต และสิ่งที่เขาต้องเสียสละมันไปเพื่อรักษาบางสิ่งบางอย่าง ที่เขายึดมั่นมาตลอดลมหายใจของเขาว่ามันคืออะไร (?) ดังความตอนหนึ่งที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ที่สุจิตต์ วงษ์เทศได้เขียนรำลึกถึง วัฒน์ วรรลยางกูร เอาไว้ว่า

    "เพราะฉะนั้น ถ้าจะรำลึกถึงวัฒน์ ขอให้รำลึกเรื่องการต่อสู้เพื่อความเสมอภาค เพื่อประชาธิปไตย เพื่อคนเท่ากัน" (น. 155 // ผลงานที่ดีที่สุดของวัฒน์ไม่ใช่งานวรรณกรรมแต่คือการต่อสู้ทางการเมือง ต่อสู้เพื่อคนเท่ากัน -- สุจิตต์ วงษ์เทศ)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in