เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
บงการธิปไตย By จา เอียน ชง แปล ธรรมชาติ กรีอักษร และคณะ
  • รีวิวเว้ย (1068) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ย้อนกลับไปสมัยเด็ก ในห้องเรียนวิชาสังคมศาสตร์ ในชั้นเรียนวิชาสังคม เรามักจะถูกสอนว่าประเทศไทยเป็นประเทศอธิปไตย ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของชาติใด และไม่เคยอยู่ใต้การปกครองของประเทศใดมาก่อน นับเนื่องมาตลอดประวัติศาสตร์ แต่เมื่อเราโตขึ้น คำพูดดังกล่าวกลับถูกตั้งคำถามอีกครั้ง จากสำนักคิด งานศึกษา กระทั่งงานวิชาการหลาย ๆ ชิ้น ที่ออกมาตั้งคำถามต่อความเชื่อที่ว่าประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใครจริงหรือ งานศึกษาหลายชิ้นพยายามชี้ให้เห็นว่าในท้ายที่สุดแล้วประเทศไทยหรือว่าสยามในอดีต อาจจะไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นในทางนิตินัย หากแต่ในทางพฤตินัยแล้วมีหลายครั้งที่สยามหรือไทย กลายเป็นเมืองขึ้นของประเทศเพื่อนบ้าน แล้วก็มีหลายครั้งที่สยามหรือไทยกลายเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจในทางนิตินัย แต่อาจจะไม่ใช่เรื่องที่ชัดเจนนัก หากแต่ในทางพฤตินัยแล้ว อาจจะเห็นชัดเจนกว่าเมื่อพิจารณาในมุมนั้น ย้อนกลับไปที่คำถามเดิมในชั้นเรียนตอนประถมหรือว่าตอนที่พวกเราเป็นเด็ก ในความเป็นจริงแล้วสยามไม่ได้กลายเป็นเมืองขึ้นของคนอื่นจริงหรือ และเหตุผลที่สยามหรือไทยไม่ได้กลายเป็นเมืองขึ้นนั่นเป็นเพราะว่าผู้ปกครองในช่วงเวลานั้นมีพระปรีชาสามารถมากพอจนกระทั่งทำให้สยามหรือไทยไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่นจริงหรือ หรือว่าในความเป็นจริงแล้วมีเหตุผลอื่นที่ทำให้สยามหรือไทย ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของใครในทางปฏิบัติ
    หนังสือ : บงการธิปไตย: การแทรกแซงจากจักรวรรดินิยมตะวันตกกับการก่อรูปของรัฐสยาม (ปกแข็ง)
    โดย : จา เอียน ชง แปล ธรรมชาติ กรีอักษร และคณะ
    จำนวน : 344 หน้า

    "บงการธิปไตย: การแทรกแซงจากจักรวรรดินิยมตะวันตกกับการก่อรูปของรัฐสยาม" หนังสือที่สร้างมุมมองและมิติในเรื่องของการถกเถียงกันในเรื่องของการสร้างอธิปไตยของสยาม ในช่วงยุคก่อนที่จะสยามเป็นไทย หรืออาจจะเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นอยู่ในยุค ที่พวกเราทุกคนเข้าใจว่าคือยุคของการสร้างชาติ ในช่วงรัชกาลที่ 5 และช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวของการเข้ามามีอำนาจ ของมหาอำนาจยุโรป ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่ความน่าสนใจประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ อยู่ที่ข้อความดังที่จะยกมาต่อไปนี้

    “อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงไม่ได้มาแบบได้เปล่า หากมีราคาค่างวดที่ต้องจ่ายตามการคิดคำนวณความคุ้มได้คุ้มเสีย ตามที่ผู้เขียนได้หยิบยืมคำศัพท์ ต้นทุนค่าเสียโอกาส จากวิชาเศรษฐศาสตร์มาใช้อธิบายระดับการคาดคำนวณที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่ และบริบทย่อมส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของรัฐมหาอำนาจต่อพื้นที่ชายขอบที่ต้องการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์” … “ผู้เขียน ได้เสนอให้เห็นถึงการก่อตัวเป็นรัฐอธิปไตยของสยาม ว่าเป็นผลมาจากการที่มหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศส ต่างเห็นพ้องว่าการเข้ายึดครองสยามเป็นเรื่องต้นทุนค่าเสียโอกาสสูงและไม่คุ้มค่า การปล่อยให้สยามมีอิสระในระดับนึงน่าจะเป็นทางออกที่ดี” (น.xvii)

    ซึ่งหากพิจารณาจะข้อความดังกล่าว เราจะพบว่าความน่าสนใจประการหนึ่งของหนังสือ "บงการธิปไตย: การแทรกแซงจากจักรวรรดินิยมตะวันตกกับการก่อรูปของรัฐสยาม" เล่มนี้ คือการมองเรื่องของการเข้ามาควบคุมอำนาจของสยาม หรือว่าทำให้สยามไทยกลายเป็นเมืองขึ้นอาจจะ "ไม่ใช่การลงทุนที่คุ้มค่า" เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่เรียกว่า "ค่าเสียโอกาส" หากแต่การปล่อยให้สยามมีเอกราชในลักษณะของตัวเอง สามารถบริหารอธิปไตยของตัวเองได้ อาจจะเป็นความคุ้มค่ามากกว่าที่สองมหาอำนาจจะต้องมาห้ามหั่นกันเอง หรืออาจจะมีการดึงมหาอำนาจอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าว ความน่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ การนำเสนอถึงการสร้างชาติของสยามไทยในช่วงเวลานั้น ผ่านการผ่อนปรนอำนาจของมหาอำนาจที่เข้ามามีบทบาทในช่วงเวลานั้น โดยที่หนังสือเล่มนี้อาจจะเรียกว่าเป็นการ แทรกแซงจากภายใน และการแทรกแซงจากภายนอก เพื่อส่งผลให้การเกิดรัฐอธิปไตยอย่างสยามและไทย เกิดขึ้นได้ดีและไวมากขึ้น โดยเฉพาะการนำกลไกเข้ามาใช้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรวมศูนย์อำนาจและกลไกอื่นๆที่เราอาจจะเคยเห็น เคยผ่านๆตา จากแบบเรียนในวิชาสังคมศาสตร์

    เนื้อหาของหนังสือ "บงการธิปไตย: การแทรกแซงจากจักรวรรดินิยมตะวันตกกับการก่อรูปของรัฐสยาม" เล่มนี้แบ่งเป็นบทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    บทนำ บงการอธิปไตย อีกหนึ่งบทสนทนาว่าด้วยสยามอธิปไตยในทัศนะ จา เอียน ชง โดย ศิวพล ชมภูพันธุ์

    บทที่ 1 การสร้างสถาบันทางการปกครอง: ทฤษฎีการก่อรูปของรัฐและความบังเอิญของรัฐอธิปไตยในบริเวณชายขอบของโลก

    บทที่ 2 พลิกโฉมรัฐ: ระบบการแข่งขัน,  ทัศนะของประเทศมหาอำนาจต่อต้นทุนค่าเสียโอกาสในการแทรกแซง และรูปแบบองค์กรของรัฐในระบบการปกครองชายขอบ

    บทที่ 3 ข้อสังเกตเชิงวิธีวิทยา: สมมติฐาน ขอบเขต การศึกษา และการออกแบบการวิจัย

    บทที่ 4 สยามที่แตกต่าง ค.ศ. 1893-1952: การแทรกแซงจากภายนอกและการโอนอ่อนในการก่อรูปของรัฐอธิปไตยสยาม

    ภาคผนวกที่หนึ่ง การเมืองเบื้องหลังเสด็จประพาสยุโรป โดย ฉลอง สุนทรวาณิชย์

    ภาคผนวกที่สอง คำนำ: จากสภาวะเส้นทางบังคับสู่การก้าวข้ามความคิดเศเศรษฐนิยม โดย ธิติ แจ่มขจรเกียรติ

    เส้นทางการรวมศูนย์อำนาจและการพัฒนา: กรณีศึกษาจากสยาม โดย คริสโตเฟอร์ เพ็ก และเจสสิก้า เวชบรรยงรัตน์

    เมื่ออ่านหนังสือ "บงการธิปไตย: การแทรกแซงจากจักรวรรดินิยมตะวันตกกับการก่อรูปของรัฐสยาม" เล่มนี้จบลง เราจะพบกับข้อถกเถียงใหม่ ๆในเรื่องของการสร้างชาติหรือว่าการสร้างความเป็นอธิปไตยของรัฐไทย หรือว่าสยามในครั้งอดีต ว่าในที่สุดแล้วข้อเสนอหรือว่ามุมมองต่อการสร้างรัฐให้มีความเป็นอธิปไตย อาจไม่ได้มีแค่บทเรียน หรือว่างานศึกษาที่เคยทำผ่านมาแล้วเท่านั้นในการอธิบายการเกิดขึ้นของอธิปไตยของรัฐ หากแต่งานชิ้นนี้ได้เปิดมุมมองใหม่ ๆ โดยเฉพาะเรื่องของการเกิดขึ้นของอธิปไตยที่อาจจะเกิดขึ้น ตามรูปแบบที่ปรากฎอยู่ในชื่อของหนังสือเล่มนี้

    และหากใครสนใจบทวิจารณ์ ของสื่อเล่มนี้สามารถตามอ่านต่อกันได้ในลิงค์ที่แนบมาพร้อมกันนี้ https://bit.ly/3yKE6XU

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in