เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
รีเซ็ตการศึกษาท้องถิ่นเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม By ไกรยส ภัทราวาท
  • รีวิวเว้ย (1067) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ปัญหาในเรื่องของการจัดการศึกษาดูจะเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆสำหรับการจัดการศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะการสร้างหลักสูตรการศึกษาที่มาจากส่วนกลางเป็นหลัก รูปแบบของโครงสร้างการศึกษาที่มาจากส่วนกลางโดยส่วนมากมักจะสร้างภาระอันเกินจำเป็นต่อการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ทั้งเรื่องของจำนวนคู่จำนวนงานที่ครูต้องทำ จำนวนเอกสารที่ครูต้องจัดการ และภาระหน้าที่อื่น ๆ ที่ครูถูกยัดเยียด ให้ต้องดำเนินการตามมาตรฐานของกระทรวง หรือของหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ในการกำกับ จนในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีแคมเปญเรียกร้อง ในชื่อโครงการคืนครูให้กับห้องเรียน คืนการเรียนให้กับนักเรียน โดยข้อเรียกร้องหลักของกิจกรรมดังกล่าวคือการลดภาระหน้าที่อื่นๆของครูที่ไม่ใช้การสอนออกไป เพื่อให้ครูสามารถทำหน้าที่ในการสอนหนังสือได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปัญหาดังกล่าวดูจะเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมาอย่างมากในสังคมไทย โดยเฉพาะเมื่อเราสังเกตในเรื่องของการประเมินวิทยฐานะของครู เราจะพบว่าเอกสารที่ครูต้องใช้ เนื้อหาที่ครูต้องเตรียมผลงานที่ครูต้องจัดทำ ดูจากปริมาณสิ่งเหล่านี้แล้วมันน่าจะดึงเวลาของครูออกจากห้องเรียนไปไม่น้อย นี่ยังไม่นับรวมว่าหลักสูตรแกนกลางหรือว่าหลักสูตรที่ได้รับการอนุมัติมาจากหน่วยงานส่วนกลาง มีข้อเรียกร้องให้ครูต้องทำและดำเนินการอย่างมาก รวมถึงหลายๆครั้งหลักสูตรเหล่านี้ ได้ละเลยความแตกต่างเชิงพื้นที่ ทั้งในเรื่องของฐานะ เรื่องของความพร้อม และเรื่องของความมีประสิทธิภาพของโรงเรียนในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในโรงเรียนพื้นที่ที่อยู่ต่างจังหวัด กระทั่งโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากความเจริญอย่างตัวเมืองเป็นต้น
    หนังสือ : รีเซ็ตการศึกษาท้องถิ่นเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม
    โดย : ไกรยส ภัทราวาท
    จำนวน : 154 หน้า

    "คำว่ารีเซ็ต กับคำว่าการศึกษาท้องถิ่น มาใช้ร่วมกันเป็นวลีที่เรียกว่ารีเซ็ตการศึกษาท้องถิ่น ย่อมหมายถึงการปฏิรูปการศึกษาท้องถิ่นให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญตรงกับความต้องการการศึกษาของทุกคน ทุกภาคส่วนในท้องถิ่นได้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของความเป็นธรรมทางสังคม" (น. 1)

    หนังสือ "รีเซ็ตการศึกษาท้องถิ่นเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม" เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของการถอดบทเรียน การจัดการศึกษาโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เรียกได้ว่าให้ท้องถิ่นเป็นแกนกลางในการสร้างหลักสูตรการศึกษา สร้างรูปแบบวิธีการ รวมไปถึงจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นนั้นๆ โดยที่เนื้อหาของหนังสือ ได้เปิดเผยให้เห็นถึงความไม่สมมาตรของสิ่งที่เรียกว่า ความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา ที่หลายครั้งมันเกิดขึ้นมาจากหลักสูตรแกนกลางไม่ได้มองเห็นความสำคัญ และไม่ได้ให้ค่ากับความแตกต่างในส่วนนี้มากนัก เนื่องจากผู้ออกแบบหลักสูตรแกนกลางคิดว่าเด็ก โรงเรียน ครู ผู้ปกครอง ทุกคนมีความสามารถเท่าเทียมกัน หากแต่ในความเป็นจริงแล้วความแตกต่างเชิงพื้นที่เป็นปัญหาอย่างยิ่งใหญ่สำหรับการจัดการเรียนการสอน และการสร้างความรู้ให้กับตัวผู้เรียน ดังนั้นเราจะเห็นว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาเกิดขึ้นผ่านกลไกของระบบการศึกษาที่ถูกวางโดยส่วนกลาง

    หนังสือเล่มนี้เลยพยายามที่จะชี้ชวนให้เราเห็นว่าวิธีการสร้างการศึกษาอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ในหลายประเทศสามารถดำเนินการได้ด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นตัวนำ รวมถึงการสร้างหลักสูตรการศึกษาที่ท้องถิ่นเป็นผู้สร้าง ครู ชุมชน สังคม เป็นผู้ร่วมมือกันในการจัดทำหลักสูตรเพื่อให้กับนักเรียนได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกัน การสร้างหลักสูตรในลักษณะนี้จะสร้างให้กับผู้เรียน ผู้สอน และชุมชนที่อยู่ภายในโดยรอบโรงเรียน สามารถมีปฏิสัมพันธ์ในการสร้างการเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน และอาจจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ต้องอาศัยรูปแบบของเครื่องมือเทคโนโลยี และอื่นๆที่ในพื้นที่บางพื้นที่อาจจะไม่ตอบสนองและไม่จำเป็น

    สำหรับเนื้อหาของหนังสือรีเซ็ตการศึกษาท้องถิ่นเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม แบ่งออกเป็นบทต่างต่างดังนี้

    บทที่หนึ่ง สถานการณ์และปัญหาของระบบการศึกษาไทย
    - สถานการณ์คุณภาพการศึกษาไทยในบริบทนานาชาติ
    - สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาในระบบการศึกษาไทย
    - ลงทุนมากแต่ได้น้อย สถานการณ์ประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากรในระบบการศึกษาไทย
    - ปัญหาการศึกษาเริ่มต้นที่พื้นที่ ทำไมไม่เริ่มแก้ไขที่พื้นที่

    บทที่สอง องค์ความรูและกลไกเชิงระบบเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่
    - แนวคิดและประสบการณ์การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ในระดับนานาชาติ
    - ปัญหาของการนำแนวคิดการกระจายอำนาจในการศึกษา สู่การปฏิบัติในประเทศไทย
    - องค์ความรู้เชิงระบบเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่
    - เครื่องมือสนับสนุนนโยบายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่
    - กลไกสนับสนุนการบูรณาการทำงานโดยเอาเด็กเป็นเป้าหมายการทำงาน

    บทที่สาม กรณีศึกษาการรีเซ็ตการศึกษาท้องถิ่น
    - กรณีศึกษาการรีเซ็ตการศึกษาท้องถิ่นในต่างประเทศ กรณีศึกษาประเทศบราซิล กรณีศึกษามหานครเซี่ยงไฮ้ กรณีศึกษาประเทศสหรัฐอเมริกา
    - กรณีศึกษาการรีเซ็ตการศึกษาท้องถิ่นในประเทศไทย แม่ฮ่องสอนโมเดล กระบี่โมเดล เชียงใหม่โมเดล ภูเก็ตโมเดล วางนำคู่โมเดล

    บทที่สี่ ข้อสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

    เราจะเห็นว่าเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลงเนื้อหาในแต่ละส่วนของหนังสือเล่มนี้แสดงให้เราเห็นถึงความสำคัญของการจัดการศึกษา โดยอาศัยท้องถิ่น ชุมชน ผู้เรียน  เป็นส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ไปด้วยกัน เพื่อให้การเรียนรู้เหล่านั้นไม่ละทิ้งใครไว้ข้างหลังและไม่เป็นการสร้างภาระจนเกินไปให้กับผู้เรียน ผู้สอน อีกทั้งผู้ปกครอง ไม่ท้ายที่สุดแล้วการสร้างความเท่าเทียมกันทางการศึกษาผ่าน การสร้างความเป็นธรรมทางสังคม จึงเป็นเรื่องสำคัญและท้องถิ่นหน้าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องราวดังกล่าว

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in