เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
หนังสือภาพของแอนน์ แฟร้งค์ By แปล ในใจ เม็ทซกะ
  • รีวิวเว้ย (1065) ความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้กำลังทำร้ายบุคคลอื่น รวมไปถึงการใช้อำนาจที่ดูไม่ชอบมาพากล เป็นสิ่งที่มีเกิดขึ้นอยู่เสมอ ในแทบทุกประเทศทั่วโลก น่าสนใจว่าหากย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ความรุนแรง การทำสงคราม รวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะเป็นที่รับรู้ได้อย่างไร (?) ก็ในเมื่อยุคสมัยนั้นเทคโนโลยี การสื่อสาร และการเข้าถึงสารต่าง ๆ ของคน ไม่สามารถทำได้อย่างในปัจจุบัน ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ฮิตเลอร์กระทำต่อกลุ่มคนชาวยิว อาจจะไม่เป็นที่รับรู้มากนักในช่วงเวลานั้น หากแต่เหตุการณ์ต่าง ๆ กลับมาถูกเปิดเผยให้ความสำคัญได้รับการศึกษากระทั่งมีการวางแนวทางในการป้องกันคนอย่างฮิตเลอร์ไม่ให้ขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งในรัฐบาลเยอรมัน

    ทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากความรุนแรงผ่านพ้นไป หลังจากผู้คนเรือนล้านถูกฆ่า หลังจากที่กลุ่มคนหลายสิบล้าน ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงคราม แล้วมีอีกหลายคนที่สงครามครั้งนั้น เปลี่ยนแปลงพวกเขาไปตลอดกาล พรากครอบครัว พรากคนที่เขารัก พรากทุกสิ่งทุกอย่างไปจากพวกเขา สงครามไม่เคยทำประโยชน์ให้กับใครยกเว้นกลุ่มผู้ก่อสงคราม

    ในปัจจุบันความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความที่มันแตกต่างกันออกไปเรื่องของการเข้าถึงข่าวสาร การที่คนสามารถรับรู้ได้มากขึ้นว่ามีเหตุการณ์การกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น มีการใช้ความรุนแรงอย่างไม่เป็นธรรม รวมไปถึงมีการใช้กำลังอย่างเปิดเผยในการปราบปรามประชาชน ที่มีความคิดความเห็นไม่ตรงกับรัฐบาล โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยเองก็ดำเนินอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น สถานการณ์ที่ผู้มีอำนาจ ใช้อำนาจของตนเองเพื่อปกป้องคนเพียงคนเดียวหรือคนเพียงกลุ่มเดียว หากแต่ละเลยการฟังเสียงของประชาชนทั้งประเทศ น่าแปลกใจที่คนหลายกลุ่มยังคงให้ความสำคัญ และให้การยอมรับการกระทำความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านั้น โดยที่พวกเขา ไม่เคยจดจำเลยว่าในช่วงสงคราม การละเมิดสิทธิมนุษยชน การปกป้องคนเพียงบางกลุ่ม หรือการยอมให้คนแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจมากจนเกินไป มันนำพามาซึ่งความตายของบุคคลนับล้านคนและ "แอนน์แฟรงค์" ก็คือหนึ่งในนั้น เด็กที่เขียนบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับความรุนแรงความโหดร้าย และการใช้ชีวิตในช่วงสงครามโลก น่าเสียดายที่คนหลายกลุ่ม ไม่เคยอ่านบันทึกของแอนน์แฟรงค์ อย่างน้อย ๆ หากพวกเขาอ่านพวกเขาอาจจะเข้าใจว่าการใช้ความรุนแรงการละเมิดสิทธิมนุษยชน มันมักนำพาไปสู่ความยากลำบากของชีวิตคนของคนอื่นเสมอ
    หนังสือ : หนังสือภาพของแอนน์ แฟร้งค์
    โดย : แปล ในใจ เม็ทซกะ
    จำนวน : 176 หน้า

    หนังสือภาพ "หนังสือภาพของแอนน์ แฟร้งค์" เป็นหนังสือที่ถูกตีพิมพ์ขึ้น ในลักษณะของหนังสือภาพ ที่มีการหยิบเอาบทบันทึกของแอนน์แฟรงค์ที่เคยตีพิมพ์มาก่อนหน้า มาจัดรูปแบบใหม่ในฐานะรูปวาด รวมถึงเป็นการขยายความของการอ่านบันทึกให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้มากขึ้นในฐานะภาพวาด ในลักษณะของการ์ตูนช่อง โดยที่หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่และได้รับการสนับสนุนจากวิถีของแอนน์แฟรงค์โดยตรง เพื่อเป็นการช่วยให้กับเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงหนังสือของแอนน์แฟรงค์ได้มากขึ้น โดยเริ่มต้นจากในลักษณะของหนังสือภาพหรือว่าภาพวาดประกอบเรื่องราว

    หากใครที่เคยได้อ่าน "บันทึกของแอนน์แฟรงค์" มาก่อน แล้วมาอ่านหนังสือเล่มนี้ เราจะพบว่าเนื้อหาของหนังสือ ไม่ได้แตกต่างไปจากในตัวบันทึกของแอนน์แฟรงค์สักเท่าไหร่ หากแต่เนื้อหาในหลายส่วนที่ปรากฏอยู่ในหนังสือภาพเล่มนี้ ถูกขมวดรวม และจับเอาบางประเด็นมาควบรวมเข้าด้วยกันในลักษณะของภาพวาด เพื่อป้องกันไม่ให้หนังสือมีความหนาของจำนวนหน้ามากจนเกินไปนัก ผู้ที่รับผิดชอบในการแปลงหนังสือบันทึกของแอนน์แฟรงค์ให้กลายมาเป็นหนังสือภาพเล่มนี้ ได้กล่าวเอาไว้ด้วยตัวเองว่า หากตีความทุกหน้าในบันทึกให้ออกมาเป็นหนังสือภาพ หนังสือเล่มนี้คงมีความหนาหลายพันหน้า เมื่อเป็นเช่นนั้นกลุ่มผู้เรียบเรียง จึงได้ทำการรวบรวมเอาเนื้อหาหลายๆอย่าง หลายๆตอน ที่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกันในบันทึก ให้กลายเป็นภาพวาด เพียงไม่กี่หน้าเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของสถานการณ์ในขณะนั้น

    ซึ่งอาจเรียกได้ว่าหนังสือ "หนังสือภาพของแอนน์ แฟร้งค์" เล่มนี้ ยังคงรักษา เนื้อหา อารมณ์ เรื่องราว และความต้องการของแอนน์แฟรงค์ที่จะสื่อสารให้กับผู้อ่าน ผ่านบันทึกเล่มเล็กของเธอ ที่เธอเองก็ไม่ได้รู้หรอกว่า วันหนึ่งข้างหน้าบันทึกเล่มนี้จะกลายเป็นหนังสือเล่มสำคัญ ที่พูดถึงเรื่องราวของการใช้ความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาวยิวในช่วงสงครามที่เกิดจากการกระทำของฮิตเลอร์และเยอรมัน น่าสนใจว่าหากแอนน์แฟรงค์ยังมีอายุยืนจนถึงทุกวันนี้ เราอาจจะได้เห็นเรื่องราวอื่น ๆ นอกเหนือไปจากบันทึกแอนแฟรงค์ ที่เธอเขียนทิ้งเอาไว้เธออาจจะได้อยู่เพื่อบอกเล่า ถึงความรุนแรง ความร้ายกาจ และความโศกเศร้า ที่สงครามได้พรากออกจากเธอไป ที่สงครามได้พรากเอาจากทุกบ้านไป และสงครามในครั้งนั้น ก็ได้พรากเอาหายใจของเธอไป และเธอทิ้งไว้เพียงบันทึกความทรงจำ ในฐานะบันทึกของแอนน์แฟรงค์ บันทึกที่บอกกับโลกว่า "มนุษย์เราเคยทำความโหดร้ายกับมนุษย์ด้วยกัน" ซึ่งในปัจจุบันความโหดร้ายดังกล่าวก็ดูจะไม่จบลง และดูจะยังคงสืบเนื่องต่อไปอีกนานเนิ่น ก็น่าแปลกใจว่าเหตุใดมนุษย์ไม่รู้จักเรียนรู้จากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in