เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ปฏิวัติที่ปลายลิ้น By ชาติชาย มุกสง
  • รีวิวเว้ย (1064) ในบทแรกของหนังสือเล่มนี้ (ที่ทำหน้าที่เป็นคล้าย ๆ กับบทนำผสมกับคำนิยมของหนังสือที่ขียนโดยธเนศ วงศ์ยานนาวา ว่าด้วยเรื่องของ "พลวัต" ความเปลี่ยนแปลงทางด้านรสชาติ ความชอบ และอาหารในบริบทสากลเพื่อเป็นการฉายให้เห็นภาพพลวัตการเปลี่ยนแปลงของอุสาหกรรมรสชาติที่ถูกทำมห้กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ภายหลังจากสภาวะสงคราม ข้อความตอนหนึ่งที่น่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะหากใครเคยนักเรียนกับธเนศ ในชั้นเรียนเรามักจะมีโอกาสได้ยินคำพูดนี้หลุดลอยออกมาในระหว่างวิชาเรียนอยู่บ่อย ๆ คำพูดที่เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความเป็น "อนุรักษ์นิยมรสชาติ" ของมนุษย์เรา

    " ... รสนิยมเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ง่ายนัก แต่ก็เปลี่ยนแปลงตลอด ลิ้นในฐานะอวัยวะหนึ่งของการรับรสของมนุษย์ถือได้ว่ามีความเป็นอนุรักษนิยมสูง อาหารแบบกินแล้วมีความสุข (comfort food) อันเป็นอาหารที่คุ้นเคยแต่เด็ก ๆ นั้นเป็นอะไรที่ผู้คนมักจะโหยหา การกินกับอุดมการณ์ทางการเมืองจึงเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันวิถีชีวิตประจำวันที่คุ้นเคยไม่จำเป็นต้องมีอะไรที่แปลกใหม่ แต่ก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ... " (จากชาติไทยสู่ "ชาติชาย" อาหารสยามสู่ไทย : ธเนศ วงศ์ยานนาวา)

    ซึ่งความท่อนนี้เป็นการตอบคำถามได้อย่างชัดเจนว่า "การเมือง" จะอยู่กับเราทุกที่ทุดเวลาและในทุกโอกาสสถานการณ์ หลายคนพยายามปฏิเสธการเมืองให้ออกจากเรื่องต่าง ๆ แต่ในคยามเป็นจริงแล้วการเมืองอยู่ในทุกพื้นที่ของสังคม อยู่ในทุกเรื่อง มิใช่แค่เรื่องของ กองทัพ นักการเมือง สภา แม้กระทั่งเรื่องของ "รสชาติ" และ "ปากท้อง" การเมืองก็อยู่ในนั้น และเป็นหนึ่งในตัวเดินเกมกำหนดกติกาสำคัญของสังคมแทบไม่แตกต่างไปจากบทบาทของรัฐสภาเลย
    หนังสือ : ปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทย หลัง 2475
    โดย : ชาติชาย มุกสง
    จำนวน : 400 หน้า

    "ปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทย หลัง 2475" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของอาหาร การกิน รสชาติและการเมืองในการกำหนดรสชาติ ที่เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กว่า 90 ปีจากวันที่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นเมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นเวลากว่า 90 ปีที่ประชาธิปไตยของไทยเดินหน้าถอยหลังคล้ายคนเต้นลีลาศ ความน่าสนใจประการหนึ่งหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมา 90 ปี ในวงวิชาการในยุคก่อนเคยมีความเชื่อว่า "การปฏิวัติ 2475" นับเป็นการ "ชิงสุกก่อนห่าม" (ในสมัยที่เรียนวิชาการการเมืองไทยกับ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เคยมีข้อสอบถามว่า "การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถือว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่เพราะอะไร) ซึ่งงานวิชาการหลายชิ้นในช่วงปี พ.ศ. 2535 ก็ดูจะสร้างข้อเสนอของงานไปที่ประเด็นของการ "ชิงสุกก่อนห่าม" และในช่วงไม่กี่ปีมานี้ (นับจาก 2550) เราจะพบว่างานศึกษาในเรื่องของก่รปฏิวัติสยามมักจะสร้างความตื่นตาให้กับผู้อ่านได้เสมอ โดยเฉพาะงานที่ว่าด้วยเรื่องของ "สามัญชนในการปฏิวัติ" ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภาพอีกด้านหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เคยถูกครอบเอาไว้ด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นการ "ชิงสุกก่อนห่าม"

    กลับมาที่หนังสือ "ปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทย หลัง 2475" ในฐานะของคนที่อ่านหนังสือในกลุ่มที่เขียนเกี่ยวกับ 2475 มาบ้าง เราพบว่า "ปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทย หลัง 2475" นำเสนอเรื่องน่าสนใจที่หลายคน "ละเลย" นั่นก็คือเรื่องของ "รสชาติ" ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เรื่องของรสชาติและอาหาร อาจจะถูกพูดถึงอยู่บ้างในบางครั้ง แต่ก็จะถูกจำกัดวงเอาไว้ให้แคบแค่ช่วงเวลาของ "จอมพล ป. กับก๋วยเตี๋ยวและผัดไทย" หากแต่ "ปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทย หลัง 2475" คือ การขยายเรื่องของรสชาติและอาหารให้ถ่างกว้างขึ้น และสร้างความรับรู้ใหม่ ๆ ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงด้านรสชาติภายหลังการปฏิวัติ 2475 อีกทั้งโครงการ "โภชนาการ" ต่าง ๆ ที่เราเคยได้ยิน ได้ฟัง หรือกระทั่งหลายโครงการก็ยังมีใช้อยู่ (แต่อาจจะเปลี่ยนรูปไปบ้าง) ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโภชนาการ อุตสาหกรรมอาหารบางรายการ หรือกระทั่งคำสอนที่ว่า "กินข้าวแต่น้อย กินกับให้มาก" ที่ทุกวันนี้เราคงได้ยินในลักษณะของกินข้าวแค่ 1 ใน 4 ของจานอาหาร ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

    เนื้อหาใน "ปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทย หลัง 2475" แบ่งเป็น 5 บทใหญ่ ที่ประกอบไปด้วยรายการบทย่อยในบทใหญ่เยอะมาก ๆ โดยเนื้อหาทั้ง 5 บทแบ่งออกเป็นดังนี้

    บทที่ 1 2475 กับการปฏิวัติรสชาติอาหาร

    บทที่ 2 เปลี่ยนวิถีการผลิต เปลี่ยนวิธีการกิน เปลี่ยนรสเปลี่ยนชาติ

    บทที่ 3 น้ำตาลกับการประกอบสร้างภูมิทัศน์ ด้านรสชาติอาหารใหม่ในสังคมไทย

    บทที่ 4 จากแม่ศรีเรือนถึงแม่บ้านทันสมัย: การต่อสู้ทางศีลธรรมและการเมือง วัฒนธรรมของ "อาหารไทย" ผ่านแม่บ้านหลังการปฏิวัติ 2475 ถึงยุคประชาธิปไตยแบบไทย ทศวรรษ 2500

    บทส่งท้าย

    เมื่ออ่าน "ปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทย หลัง 2475" จบลง เราจะพบว่าแท้จริงแล้วเรื่องของ "รสชาติ" มิใช่แค่เรื่องของหารกินให้อิ่มท้อง และนอนให้เต็มตื่น หากแต่เรื่องของอาหารและโภชนาการ ก็มีประเด็นให้เราได้ติดตาม ตรวจสอบ ตั้งคำถาม และโดยเฉพาะการเอาใจใส่ในประเด็นดังกล่าว เพราะ "อาหารกับการเมือง" ไม่ใช่เรื่องที่ห่างไกล และแยกออกจากกัน ดังข้อความตอนหนึ่งใน "ปฏิวัติที่ปลายลิ้น ปรับรสแต่งชาติ อาหารการกินในสังคมไทย หลัง 2475" ที่ว่า
    " ... การต่อสู้และต่อรองความหมายทางการเมืองด้านรสชาติถูกแฝงไปยังปลายลิ้น หากกลุ่มใดในสังคมสามารถครองอำนาจนำที่ปลายลิ้นได้ ก็ย่อมสามารถครองอำนาจทางการเมืองวัฒนธรรมในระดับมวลชนได้เช่นกัน ... " 

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in