รีวิวเว้ย (282) การที่เราเติบโตมาในประเทศที่ "พิพิธภัณฑ์" เป็นสิ่งหายากกว่าปืนเถือนและอาชญากรรมตามท้องถนน นั่นส่งผลให้เราต้องใช้ชีวิตและเติบโตขึ้นมากับอะไรก็ไม่รู้รอบ ๆ ตัว จะว่าโตขึ้นมากับกองหนังสือก็ดูจะไม่ถูกนัก หรือจะบอกว่าโตขึ้นมากับโทรทัศน์ก็คงจะไม่ผิดอะไร เมื่อให้ย้อนเวลากลับไปสัก 20-30 ปีก่อน คำว่า "พิพิธภัณฑ์" ไม่น่าจะอยู่ในความรับรู้ของคนสมัยนั่นสักเท่าไหร่นัก เต็มที่เราก็อาจจะรู้จักแค่ "พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์" (ตึกลูกเต๋า) และอาจจะมีท้องฟ้าจำลองตรงเอกมัย และพิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนคร ที่ดู ๆ แล้วทั้ง 3 แห่งก็ไม่น่าจะเพียงพอต่อการเป็นสถานที่สร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับพวกเราที่เกิดและเติบโตในช่วงเวลานั้น
หนังสือ : LONDON MUSEUMS
โดย : โอ๊ต มณเฑียร
จำนวน : 232 หน้า
ราคา : 395 บาท
ซึ่งในปัจจุบันก็อาจจะดีกว่าสมัยก่อนขึ้นมานิดหน่อย ตรงที่เรามีสถานที่เรียนรู้ในลักษณะของ "พิพิธภัณฑ์" และแหล่งเรียนรู้ที่ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้องค์การมหาชนอย่าง "OKMD" ที่ทำหน้าที่ในการผลิตและจัดสร้างองค์ความรู้ในลักษณะของแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน อย่าง MUSEUM SIAM TCDC และกิจกรรมในลักษณะของการให้ความรู้นอกห้องเรียนอื่น ๆ
แต่ก็ยังคงปฏิเสธไม่ได้ว่าวัฒนธรรมพิพิธภัณฑ์ ยังจัดเป็นของใหม่มาก ๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่เราจะเห็นว่าในหลายจังหวัด หลายอำเภอ หรือลึกลงไปในระดับหมู่บ้าน พื้นที่เหล่านี้ล้วนมีทรัพยากรณ์ในการสร้างพิพิธภัณฑ์ชุมชนขึ้นมาได้ เพราะในหลายพื้นที่มีเรื่องราวความเป็นมาและทรัพยากรณ์ที่น่าสนใจ แต่มันก็ยังติดปัญหาที่ว่าคนไทยและหน่วยงานที่มีอำนาจมนการจัดการเรื่องราวดังกล่าว ยังคงไม่เข้าใจหรือถ้าเข้าใจก็เข้าใจว่า "พิพิธภัณฑ์" คือสถานที่เก็บรวบรวมของเก่าเมื่อสร้างแล้วก็แค่ตั้งโชว์ไว้เฉย ๆ ใครจะมาดูไม่มาดูก็ช่างแม่ง ของที่เอามาจัดแสดงนั้นจะเก่า ชำรุด หรือเสียหายยังไงก็ช่างมัน ทัศนะแบบนี้น่าจะยังคงเป็นอุปสรรค์สำคัญต้อวงการพิพิธภัณฑ์ของไทยไปอีกหลายปี ตราบเท่าที่ผู้มีอำนาจยังชอบเอาเงินไปซื้อรถถัง เรือดำน้ำ ฯลฯ
หนังสือ "LONDON MUSEUMS" ว่าด้วยเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ในลอนดอน ที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปี หรือบางแห่งก็เป็นเพียงการจัดกิจกรรมชั่วครั้งชั่วคราวเพื่อให้ความรู้กับทุกคนในประเด็นที่จัดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น
"LONDON MUSEUMS" ได้พูดถึงเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจตามความเห็นของผู้เขียน ว่าพิพิธภัณฑ์ที่ถูกหยิบยกมาเล่าในหนังสือแต่ละแห่งนั้นมีความน่าสนใจอย่างไร ซึ่งผู้อ่านจะพบว่าหลายช่วงหลายตอนของหนังสือเล่มนี้ "พิพิธภัณฑ์" ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากหน่วยงานรัฐแต่เพียงอย่างเดียว แต่หลายแห่งเกิดขึ้นมาจากตัวบุคคลที่ทีความชื่นชอบเรื่องราวเหล่านั้นกระทั่งก่อเกิดเป็น "พิพิธภัณฑ์" ให้ใครต่อใครได้เข้ามาเรียนรู้และมีส่วนร่วม
นอกจากเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังพูดถึงเรื่องราวของการจัดการองค์ความรู้ภายในพิพิธภัณฑ์ โดยให้เกิดการเรียนรู้ที่รู้สึกสนุกและสร้างสรรค์ ดึฃดูดความสนใจของผู้คน และสร้างประสบการณ์การทีส่วนร่วมของคนทุกคนที่เข้ามาในพิพิธภัณฑ์ รวมถึงคนที่ใช้ชีวิตในชุมชนโดยรอบพิพิธภัณฑ์ ให้พวกเขารู้สึกว่าพิพิธภัณฑ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและเป็นสมบัติของชุมชนที่ทุกคนควรเป็นเจ้าของความภาคภูมิในเหล่านั้น
"LONDON MUSEUMS" ไม่เพียงฉายให้เห็นภาพของพิพิธภัณฑ์ที่น่าไปเที่ยว แต่ยังฉายให้เห็นภาพของพิพิธภัณฑ์ที่เกิดขึ้นมาจากการมีส่วนร่วมของคนทุกภาคส่วน รวมไปถึงเหตุผลว่าเพราะเห็นใดพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศจึงประสบความสำเร็จมนการบริหารจัดการและเปิดให้บริการทางด้านความรู้นอกห้องเรียน "LONDON MUSEUMS" ได้บอกเหตุผลเอาไว้ว่า นั่นไม่ใช่เพราะประเทศเขารวยหรือมีอารยธรรมที่ยาวนานกว่าบางประเทศ แต่นั่นเป็นเพราะพิพิธภัณฑ์ถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน ทั้งคนในชุมชนและคนที่เข้าชม ทุกคนล้วนถูกทำให้รู้สึกว่าความรู้นั้นจับต้องได้และทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันได้ทุกช่วงวัยและทุกช่วงความสนใจ
หากเราอยากทำให้พิพิธภัณฑ์ของไทย ที่ถูกบริการจัดการโดยหน่วยงานรัฐแบบโบราณ เราอาจจะต้องเรื่มต้นที่การเลิกทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นเพียงตู้โชว์สินค้า ที่ผู้ชมทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการเดินดูและกลับออกมาแบบงง ๆ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in