เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี 1910-1920s, 1930-1940s, 1950-1960s By ภาณุ ตรัยเวช
  • รีวิวเว้ย (1048,1049,1050) ถ้าให้ลองคิดเร็ว ๆ มันจะมีอาชีพอะไรบ้างที่ผู้หญิงสามารถทำได้และได้รับการยอมรับในฐานะของ "เจ้าของผลงาน" ถ้าย้อนกลับไปในอดีต เผลอ ๆ ว่าอาชีพเหล่านั้นเราอาจจะนับด้วยนิ้วของมืองเพียงช้างเดียวก็คลอบคลุมอาชีพเหล่านั้นแล้ว ซึ่งทุกวันนี้เองในบางสังคมการยอมรับในอาชีพและการทำงานของผู้หญิงก็อาจจะยังผูกติดอยู่กับมายาคติที่ล้าหลังและย้อนเวลา หากเรายังจำกันได้ถึงบทสัมภาษณ์ของสิ่งมีชีวิต 84,000 cell สมองที่แสดงทัศนะในเรื่องของ "บทบาทของผู้หญิง" เอาไว้ว่า

    "หน้าที่ 3 อย่าง หนักนะสำหรับผู้หญิง ในเรื่องของ บทบาทการเป็นภรรยา บทบาทที่ 2 คือการเป็นแม่ บทบาทที่ 3 คือการช่วยสามีทำอะไรให้กับครอบครัว" ... "เอ้า ปรบมือให้ตัวเองหน่อยซิ ! เออนะ เพราะงั้นรักกันให้มาก ๆ นะจ๊ะ สังคมมันจะเริ่มมีความสงบสุขได้ก็เริ่มจากในครอบครัวมาก่อน ความสุขในครอบครัว ก็จะออกมาข้างนอก มาเบ่งบานข้างนอกไง เพราะงั้นก็รักกันมาก ๆ แล้วกัน"

    ตอนได้ยินครั้งแรกก็ได้แต่เวทนาและคิดว่าคนที่มีทัศนะแบบนี้เติบโตมาในโลกยุคปัจจุบันได้ยังไง มีชีวิตริดอยู่จนถึงวันนี้ได้อย่างไร การมีชีวิตอยู่ของคนแบบนี้เหมือนเป็นการท้าทายว่าทฤษฎี "การคัดเลือกโดยธรรมชาติ" (Natural selection) ของดาร์วินอาจจะมีปัญหา หรือที่จริงธรรมชาติรวนกันแน่ถึงได้คัดเลือกคนแบบนี้ให้เติบโตมาได้แถมยังจับเอาอำนาจยัดใส่มือคนแบบนี้อีกต่างหาก โอ้ยหัวจะปวด
    หนังสือ : อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี 1910-1920s, 1930-1940s, 1950-1960s
    โดย : ภาณุ ตรัยเวช
    จำนวน : 464 หน้า

    "อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี" หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิต (หรือที่หลายคนชอบใช้คำว่าชีวประวัติ) ของผู้หญิง 5 คนที่มีตัวตนอยู่จริงในอดีต โดยที่ผู้หญิงห้าคนที่เป็นตัวเอกของ "อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี" ล้วนแต่เป็นนักเล่าเรื่อง

    (1) โยโกะ โอโนะ เป็นศิลปิน นักดนตรี นักเขียน เธอเล่าเรื่องราวของชีวิตในแวดวงศิลปะ ผ่านความนิ่งเฉยบนเวที ระหว่างเชื้อเชิญคนดูให้ขึ้นมาตัดเสื้อผ้าของเธอ

    (2) มาริลิน มอนโร เป็นนักร้อง กวี  เรารู้จักเธอในฐานะดาวจรัสแสงแห่งฮอลลีวูด เธอเล่าเรื่องราวของชีวิตตัวเองด้วยการสวมบทบาทเป็นตัวละครที่คนอื่นเขียน

    (3) เซลดา แซร์ เป็นนักเขียน นักบัลเลต์ และศิลปิน เธอเล่าเรื่องราวของชีวิตด้วยท่วงท่าลีลา ปลายเท้าจดปลายนิ้ว เล่าชีวิตด้วยการใช้ชีวิต

    (4) โดโรธี ปาร์กเกอร์ เป็นนักเขียนบทละคร และบทความ  เธอเล่า เพราะนั่นเป็นอาชีพ เล่าไปบ่นไป จิกกัดคนฟัง คนอ่านเพื่อนร่วมวงการ มือหนึ่งคีบบุหรี่สลับพิมพ์ดีดเสียงดังต๊อกแต๊ก

    (5) เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เป็นนักเขียน เธออาจปฏิเสธวรรณกรรมที่เล่าเหตุการณ์ตามขนบ แต่เธอก็ใช้หน้ากระดาษ ถ่ายทอดเรื่องราวอันสลับซับซ้อน เจ็บปวด ลิงโลด พิศวง

    โดยเนื้อหาในเล่มของ "อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี" คือการเล่าเรื่องราวของผู้หญิงทั้ง 5 คน ที่ถูกเอาเรื่องของพวกเขามาร้อยเข้าด้วยกันโดยอาศัยการบอกเล่าผ่านช่วงเวลาที่แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 10 ปี หรือตีง่าย ๆ ว่าทศวรรษละ 1 เล่ม โดยแต่ทั้ง 3 เล่มแบ่งออกเป็นช่วง 1910-1920s, 1930-1940s และ 1950-1960s ซึ่งการเขียนในลักษณะนี้ทำให้เราในฐานะผู้อ่านมองเห็นความสัมพันธ์ของตัวละครที่ไม่ได้แยกขาดออกจากกันแบบโดด ๆ รวมถึงการเขียนเล่าเรื่องในแบบของ "อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี" ยังช่วยให้เราเข้าใจและมองเห็นถึงบริบทแวดล้อมที่ส่งผลต่อตัวละครแต่ละตัวที่ต้องเผชิญความท้าทาย ความยากลำบาง บนฐานของสังคมในห้วงเวลานั้น ๆ ได้อย่างน่าสนใจ

    ตอนที่ได้หนังสือ "อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี" มาอ่าน เราเคยบอกหลายคนว่าการเขียนหนังสือประวัติบุคคลในลักษณะนี้เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะมันช่วยเชื่อมโยงมิติความสัมพันธ์ของตัวละครต่าง ๆ ให้มีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงมันยังเชื่อมโยงมิติของช่วงเวลาของสังคมหนึ่ง ๆ เอาไว้ได้อย่างดี "อ่อนโยนหนักหนาคือราตรี" ทำให้เราเข้าใจตัวละครแต่ละตัวไปพร้อม ๆ กับการทำความเข้าใจบริบทของสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ อีกด้วย

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in