เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ อ่านหนังสือ หนังสืออ่านกลับ ไม่โกง
  • รีวิวเว้ย (1030) ผู้สมัครผู้ว่าฯ อ่านหนังสือ หนังสืออ่านกลับ ไม่โกง
    .
    เราได้เห็นผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ แนะนำหนังสือและบอกเล่าถึงหนังสือที่พวกเขาเลือก ทั้งที่พวกเขาอ่าน พวกเขาชอบ หรือสำหรับบางคนก็ไม่รู้ว่าจะเลือกเล่มไหนก็หยิบ ๆ คว้า ๆ เอาของที่อยู่ข้าง ๆ ตัวมานำเสนอ หลังจากที่เราได้เห็นแล้วว่าเหล่าผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ แนะนำหนังสือแล้ว ในฐานะที่ “รีวิวเว้ย” ทำรีวิวหนังสือมาแล้ว 1,029 เล่ม เราเลยอยากลองหยิบเลือกเอาหนังสือที่เคยรีวิวไว้แล้ว มาจับคู่กับผู้สมัคร ว่าในความคิดเราผู้สมัครชิงตำแหน่ง “ควรอ่านหนังสือเล่มไหน” ในความคิดของเรา
    [ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็ควรต้องอ่านเล่มนี้]
    หนังสือ : รัฐ ท้องถิ่น: ต้นทางแห่งอำนาจและปลายทางของศักยภาพการจัดการวิกฤติพื้นที่เสี่ยงภัย
    โดย : ทวิดา กมลเวชช
    จำนวน : 458 หน้า
    .
    หนังสือเรื่อง "รัฐ ท้องถิ่น: ต้นทางแห่งอำนาจและปลายทางของศักยภาพการจัดการวิกฤติพื้นที่เสี่ยงภัย" คือ หนังสือที่เราในฐานะของคนอ่านตั้งตารอคอยมาเนิ่นนาน เพราะหนังสือหมวดที่ว่าด้วยเรื่องของ "ภัยพิบัติ" ในภาษาไทยนั้นมีอยู่น้อย ถึงน้อยมาก น้อยขนาดที่ว่าเราน่าจะสามารถนับจำนวนของหนังสือในหมวดนี้ด้วยนิ้วบนมือของตัวเอง โดยไม่ต้องขอยืมมือของคนข้าง ๆ มาช่วยนับแต่อย่างใด "รัฐ ท้องถิ่น: ต้นทางแห่งอำนาจและปลายทางของศักยภาพการจัดการวิกฤติพื้นที่เสี่ยงภัย" บอกเล่าเรื่องราวของ "การจัดการวิกฤติ" ในลักษณะของหนังสือที่เราอยากให้นิยามว่าเป็น "คู่มือ" และ "ชุดความรู้" สำหรับการจัดการวิกฤติและภัยพิบัติแบบครอบวงจร เพราะเนื้อหาแต่ละบท แต่ละตอนนั้นครอบคลุมในเรื่องของระบบการจัดการภัยพิบัติและสภาวะวิกฤติ อีกทั้งเนื้อหาต่าง ๆ ใน "รัฐ ท้องถิ่น: ต้นทางแห่งอำนาจและปลายทางของศักยภาพการจัดการวิกฤติพื้นที่เสี่ยงภัย" เหมาะสำหรับคนเกือบทุกคน ต่อให้ไม่มีความรู้มาก่อนในเรื่องดังกล่าว แต่ถ้าสนใจหนังสือเล่มนี้ก็จะช่วยให้คุณเข้าใจการจัดการวิกฤติและการจัดการภัยพิบัติได้อย่างดี อีกทั้งเนื้อหาในหนังสือยังมีการชี้ให้เห็นตัวอย่างของการดำเนินงานที่มีทั้งคะแนนในแดนบวก และคะแนนในแดนลบ เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างให้ผู้อ่านสามารถเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น (https://minimore.com/b/Us3Wj/664)
    [ชัชชาติ]
    หนังสือ : ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว
    โดย : ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย
    จำนวน : 216 หน้า
    ราคา : 305 บาท
    .
    "ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว" หนังสือสารคดีที่จับเอาเรื่องราวต่าง ๆ ทั้ง 13 เรื่องมาร้อยเรียงกันด้วยหัวใจหลักของเรื่อวอย่าง "ความหวัง" ถ้าเราลองอ่านเรื่องทั้งหมดที่อยู่ใน "ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว" เราจะพบว่า "ความหวัง" คือแกนสำคัญของการดำเนินเรื่อง ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ในเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดลงในหนังสือทุกเรื่อง อัดแน่นไปด้วย "ความหวัง" ถึงแม้บางเรื่องเมื่อเราอ่านแล้ว เราอาจจะมองไม่เห็นเลยว่า "ความหวัง" จะเกิดขึ้นได้อย่างไรกัน หรือความหวังเหล่านั้นจะตั้งมั่นอยู่ได้อย่างไรกัน เมื่อความหวังเหล่านั้นมักโดนบทขยี้โดยโครงสร้างสังคม ผู้มีอำนาจของสังคม หรือกระทั่งจากคนในสังคมด้วยกันเอง (https://minimore.com/b/Us3Wj/544)
    [อัศวิน]
    หนังสือ : LEADER SHIP LEADRE Shit ผู้นำคนนั้นสอนให้รู้ว่า
    โดย : ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
    จำนวน : 295 หน้า
    .
    "LEADER SHIP LEADRE Shit ผู้นำคนนั้นสอนให้รู้ว่า" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของ "ผู้นำ" ที่มีทั้งเข้าท่าและระยำตำบอน โดยที่เนื้อหาของหนังสือแบ่งออกเป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ และในแต่ละหมวดจะประกอบไปด้วยเรื่องเล่าและเรื่องราวของผู้นำแต่ละแบบ แน่นอนว่ามีตั้งแต่ผู้นำที่มีสติปัญญา ไปจนถึงผู้นำที่ทั้งหัวสมองมี cell อยู่แค่ 84,000 cell (แม่ง cell สมองน้อยกว่าลูกอ๊อดอีก) ด้วยการที่เนื้อหาในแต่ละตอนจะบอกเล่าถึงผู้นำที่แตกต่างออกไปในแต่ละรูปแบบ รวมไปถึง "LEADER SHIP LEADRE Shit ผู้นำคนนั้นสอนให้รู้ว่า" ยังบอกเล่าเรื่องของการทำงาน การปฏิบัติตัว และวิธีคิดของผู้นำแต่ละรูปแบบเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะรูปแบบของผู้นำที่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง และแน่นอนว่าก็มีเรื่องราวของผู้นำที่ถ้าใครทำตามรับรองว่าชีวิตคงระยำน่าดู (https://minimore.com/b/Us3Wj/749)
    [วิโรจน์]
    หนังสือ : ซาฮาโตโพล์ค
    โดย : เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ แปล ภัควดี วีระภาสพงษ์
    จำนวน : 108 หน้า
    .
    "... เขาไม่ใช่เทพ ความงมงายในการเทิดทูลเขา เกิดมาจากความกลัว กลัวความตาย...กลัวทรราชในหมู่คน...แต่ความกลัวทั้งหมดคือความต่ำช้า ความงมงายที่เกิดมาจากความกลัวก็ต่ำช้าและคนที่ความงมงายเทิดทูนขึ้นก็ต่ำช้าเช่นกัน ซาฮาโตโพล์คไม่ใช่เทพเจ้า แต่เป็นบุคคลธรรมดาและในหลายด้านเลสยิ่งกว่าสัตว์ ..." ข้อความดังกล่าวปรากฎบนคำโปรยปกหลังของหนังสือเล่มนี้ "... อาณาจักรสูงส่งนี้สร้างขึ้นมาบนคำโป้ปดมดเท็จ ความโหดร้ายและความต่ำช้าเลวทราม ..." ข้อความนี้ก็เช่นเดียวกัน (https://minimore.com/b/Us3Wj/747)
    [สุชัชวีร์]
    หนังสือ : ประวัติศาสตร์แห่งความหลอกลวง
    โดย : แปล นรา สุภัคโรจน์
    จำนวน : 248 หน้า
    .
    "ประวัติศาสตร์แห่งความหลอกลวง" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของการ "โกหก" และ "หลอกลวง" ในหน้าประวัติศาสตร์ของโลก ที่ถูกผู้เขียนหยิบเลือกมาเล่าทึ้งสิ้น 50 เรื่อง ที่สะท้อนเรื่องราวของการโกหกและหลอกลวงในหลากมิติ หลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง วัฒนธรรม เทคโนโลยี ความเชื่อ ซึ่งน่าประหลาดใจว่าแทบทุกพื้นที่มีเรื่องราวของการโกหกและหลอกลวงเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ อาจจะเรียกได้ว่า "ประวัติศาสตร์แห่งความหลอกลวง" เป็นหนังสือที่บอกเล่าให้เราได้ทำความเข้าใจ และรับรู้ถึงเรื่องราวของการโกหก หลอกลวง ที่หลายเรื่องปรากฎขึ้นเป็น "เรื่องจริง" เพียงเพราะหลายคนบอกเล่า และเชื่อมั่นในเรื่องเล่าเหล่านั้นมาตลอดห้วงเวลาของประวัติศาสตร์ (https://minimore.com/b/Us3Wj/514)
    [สกลธี]
    หนังสือ : ความจำเป็นยิ่งชีวิตของการต่อต้านเผด็จการ
    โดย : จอร์จ ออร์เวลล์ แปล บัญชา สุวรรณานนท์
    จำนวน : 352 หน้า
    .
    "ความจำเป็นยิ่งชีวิตของการต่อต้านเผด็จการ" หนังสือเล่มใหม่ที่รวมความเรียงและคัดสรรจากผลงานของ "จอร์จ ออร์เวลล์" ในหลายวาระโอกาสที่ออร์เวลล์ได้เขียนเอาไว้ ตามวารสารและการบรรยายมนหลาย ๆ โอกาส โดยงานเขียนแต่ละชิ้นที่ถูกนำเสนอไว้ในหนังสือเล่มนี้ แสดงให้เห็นถึงทัศนะของออร์เวลล์ที่มีต่อการต่อต้านระบอบเผด็จการ โดยเฉพาะในเรื่องของการควบคุมสื่อของเผด็จการ แต่ที่น่าแปลกใจไปกว่านั้นคือใน "ความจำเป็นยิ่งชีวิตของการต่อต้านเผด็จการ" งานเขียนหลาย ๆ ชิ้นของออร์เวลล์พูดถึงเรื่องของการต่อต้านเผด็จการในรูปของการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย ในบริบทของงานเขียนต่าง ๆ ใน "ความจำเป็นยิ่งชีวิตของการต่อต้านเผด็จการ" เป็นการฉายภาพของสังคมหนึ่ง ๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และในช่วงสงครามเย็น ที่ทั้งรัฐเผด็จการและรัฐเสรีประชาธิปไตย ต่างใช้อำนาจในการควบคุมบงการสื่อชิ้นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หนังสือ (วงการวรรณกรรม) วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ ผ่านแนวทางของการควบคุมในลักษณะใกล้เคียงกันกับระบอบเผด็จการ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าออร์เวลล์นั้นมิได้มุ่งเน้นการต่อต้านเผด็จการไปที่คสามเป็น "รัฐเผด็จการ" หากแต่การต่อต้านยั่วล้อของออร์เวลล์นั้น มุ่งไปที่การตีไปที่ใจของการเป็นเผด็จการเป็นสำคัญ (https://minimore.com/b/Us3Wj/257)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in