เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
Dream Bangkok: Short Stories: เรื่องเล่า เราฝัน ถึงกรุงเทพฯ By 10 นักเขียน
  • รีวิวเว้ย (1028) สมัยเด็ก ๆ เราเคยท่องคำขวัญประจำจังหวัดกันไหมครับ (?) โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัดเรามักจะถูกโรงเรียนสอนให้ท่องคำขวัญประจำจังหวัด ตัวเราเองโตมาในอำเภอชายแดนของจังหวัดชลบุรี อย่างสัตหีบซึ่งเป็นอำเภอที่มีคำขวัญประจำอำเภอเป็นของตัวเอง ทำให้ตอนเด็กต้องท่องทั้งคำขวัญประจำจังหวัดชลบุรี และคำขวัญประจำอำเภอสัตหีบ หากเราเคยท่องและยังคงจำคำขวัญเหล่านั้นได้ เราจะพบความคล้ายกันอย่างหนึ่งของคำขวัญประจำจังหวัดเล่านั้น คือ เรื่องของภาพสะท้อนความเป็นจังหวัดนั้น ๆ หรือของดีประจำจังหวัดนั้น ๆ อยู่ในคำขวัญ อย่างชลบุรี "ทะเลงาม ข้าวหลามอร่อย อ้อยหวาน จักสานดี ประเพณีวิ่งควาย" แน่นอนว่าสิ่งที่ปรากฎอยู่ในคำขวัญนั้นเป็นหนึ่งในของดีประจำจังหวัดทั้งสินค้าและประเพณี แต่คำขวัญของกรุงเทพฯ นี่สิแปลก "กรุง​เทพฯ ดุจ​เทพสร้าง เมืองศูนย์กลาง​การปกครอง วัด วัง งาม​เรืองรอง เมืองหลวงของประ​เทศ​ไทย" จากคำขวัญของกรุงเทพฯ เมื่อเทียบกับคำขวัญของหลาย ๆ ที่แล้วเราแทบไม่พบของดีประจำกรุงเทพฯ นอกเสียจากวัด วัง และความเป็นเมืองหลวง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วกรุงเทพฯ นับเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เก็บซ่อนของดีเอาไว้มากมาย อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่สะท้อนความหมายของสิ่งที่เรียกว่า Cosmopolitan City ได้เป็นอย่างดี แต่น่าแปลกที่ไม่ว่าจะผ่านมากี่ปีกรุงเทพฯ ก็ไม่ค่อยชูจุดขายในลักษณะนี้เท่าใดนัก รวมถึงพื้นที่แต่ละย่านในกรุงเทพฯ ก็มีความเฉพาะตัวอันเป็นจุดเด่นของตัวเอง รวมถึงคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ แห่งนี้เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรก็นับว่ามีความหลากหลายเป็นอย่างมาก นอกจากความหลากหลายเหล่านั้นไม่ถูกสะท้อนในคำขวัญกรุงเทพฯ แล้ว ความหลากหลายเหล่านั้นยังคงถูกละเลยจากสายตาของผู้กำหนดนโยบาย ทั้งในระดับเมือง (ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ) และในระดับนโยบาย (รัฐบาล) ทำให้กลุงเทพฯ ถูกพาไปในฐานะของ "เมืองหลวง" ที่ "ตัดขาดชีวิตของเมือง" อย่าง "ประวัติศาสตร์เมือง ลมหายใจของเมือง และผู้คนในเมือง"
    หนังสือ : Dream Bangkok: Short Stories: เรื่องเล่า เราฝัน ถึงกรุงเทพฯ
    โดย : 10 นักเขียน
    จำนวน : 208 หน้า

    "Dream Bangkok: Short Stories: เรื่องเล่า เราฝัน ถึงกรุงเทพฯ" หนังสือรวมเรื่องสั้นที่สะท้อนความต้องการของ "มนุษย์กรุงเทพฯ" หนังสือ "Dream Bangkok: Short Stories: เรื่องเล่า เราฝัน ถึงกรุงเทพฯ" ได้ชักชวน 4 นักเขียนอย่าง วีรพร นิติประภา, วิภว์ บูรพาเดชะ, จิราภรณ์ วิหวา และ ภาณุมาศ ทองธนากุล มาสะท้อนภาพของ "เรื่องเล่า เราฝัน ถึงกรุงเทพฯ" ว่ากรุงเทพฯ ในมุมมองของพวกเขาผ่านเรื่องสั้นพวกเขาอยากใหม่มันมีหน้าตาแบบไหน เป็นอย่างไร และฝันเห็นอะไรในเมืองแห่งนี้

    นอกจากนั้น "Dream Bangkok: Short Stories: เรื่องเล่า เราฝัน ถึงกรุงเทพฯ" ยังคัดเลือกเรื่องสั้นอีก 6 เรื่องจากนักเขียน นักเล่าเรื่องหน้าใหม่ ให้มาสะท้อนภาพของ "เรื่องเล่า เราฝัน ถึงกรุงเทพฯ" ในแบบเดียวกันกับที่นักเขียนทั้ง 4 ทำไว้ ซึ่งเมื่อรวมกับงานของนักเขียน นักเล่าเรื่องหน้าใหม่ทำให้ "Dream Bangkok: Short Stories: เรื่องเล่า เราฝัน ถึงกรุงเทพฯ" มีเรื่องสั้นที่เป็นเรื่องเล่าเราฝัน รวมกันถึง 10 เรื่อง เพื่อเป็นภาพและเสียงที่สะท้อนความฝัน ความหวังและความต้องการของตัวแทนกลุ่มคนผ่านเรื่องสั้น

    โดยเรื่องสั้นทั้ง 10 ชิ้นใน "Dream Bangkok: Short Stories: เรื่องเล่า เราฝัน ถึงกรุงเทพฯ" ประกอบไปด้วย

    (1) เมืองเลือนละลาย โดย วีรพร นิติประภา
    (2) ห้องสมุด โดย วิภว์ บูรพาเดชะ
    (3) ดีไหม มารี โดย จิราภรณ์ วิหวา
    (4) อภิเชษฐ์ โดย ภาณุมาศ ทองธนากุล
    (5) อาจเป็นช่วงวินาทีหนึ่งในคุกอวกาศ โดย อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์
    (6) รอยยิ้มที่ริมคลอง โดย จันทรา รัศมีทอง
    (7) กรุงเทพฯ ในฝันนั้นอยู่ไม่ไกลหรอก โดย สิริ พรไสว
    (8) กรุงเทพฯ สู้ ๆ โดย ประเสริฐศักดิ์ ปัดมะริด
    (9) เธอกับฉันและวันของเรา โดย ธีราพร เจี่ยสกุล
    (10) ขอที่พักใจให้กับคนที่เรารัก โดย ศุภมณฑา สุภานันท์

    ความตั้งใจประการหนึ่งของคณะผู้จัดทำหนังสือ "Dream Bangkok: Short Stories: เรื่องเล่า เราฝัน ถึงกรุงเทพฯ" คือ การได้บอกเล่าเรื่องราวในเรื่องเล่าให้กับผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้ลองอ่าน หากพวกเขาได้อ่าน "Dream Bangkok: Short Stories: เรื่องเล่า เราฝัน ถึงกรุงเทพฯ" บางทีพวกเราอาจจะสร้างนโยบายบางอย่างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อ "เรื่องเล่า เราฝัน ถึงกรุงเทพฯ" แต่ถ้าจะให้ดีนโยบายเหล่านั้นไม่ควรมาจากแค่เรื่องสั้น 10 เรื่อง แต่มันควรมาจากความคิดที่จะเกื้อกูลและช่วยเหลือเมืองเมืองหนึ่งที่มีผู้คนอาศัยอยู่กว่า 6 ล้านคน (ข้อมูลจากสำนักสถิติฯ: 2564) ให้คนเมืองใช้ชีวิตเพื่อสร้างความฝันของตัวเอง และช่วยให้เมืองเป็นพื้นที่บ่มเพาะความฝันเหล่านั้น มิใช่เป็นเพียงเมืองที่ปลุกให้คนออกมาทำงานหาเงินในตอนเช้า และส่งพวกเขาเข้านอนตอนกลางคืนเพื่อที่จะตื่นขึ้นมาหาเงินต่อในเช้าวันถัดไป

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in