รีวิวเว้ย (1008) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
"ทำไมผู้ว่าราชการจังหวัดถึงไม่มาจากการเลือกตั้งบ้าง" (?) ในช่วงหลายสัปดาห์มานี้เราได้ยินคำถามนี้ตามที่ต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง ถ้าให้ตอบคำถามนี้จริง ๆ ก็ไม่แน่ใจว่าจะตอบมันอย่างไรดี แต่เวลาที่มีคนถามแบบจริงจังและดูแล้วเหมือนเขาจะต้องการคำตอบจริง ๆ ก็คงตอบได้แค่ว่า "ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด คนของกระทรวงมหาดไทยคงนั่งหน้าแห้งกันเป็นแถบ ๆ" ซึ่งคำตอบดังกล่าวดูไปแล้วก็เหมือนเป็นเรื่องตลกขำขัน แต่ในความเป็นจริงเหตุผลข้อนี้ก็คงมีน้ำหนักไม่มากก็มาก ที่ทำการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและการกระจายอำนาจการปกครองในไทยย่ำอยู่กับที่ และมรสภาพเหมือนรถที่ติดหล่มโคลนอยู่แบบนี้ น่าแปลกใจที่แนวคิดเรื่องของการกระจายอำนาจเกิดขึ้นในประเทศไทยมาหลายสิบปี และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาความพยายามในการกระจายอำนาจก็มีมาตลอดแต่มันก็ดูจะไม่คืบหน้าไปอย่างที่ควรเป็น หากแต่หลายเรื่องหลายประเด็นวนกลับมาเป็นที่ให้สังคมต้องถกเถียงเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง อย่างกรณีเรื่องของ "การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด" อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้วเหมือนหลาย 10 ปีก่อน และหลาย 10 ปีผ่านมาสังคมเราก็ยังต้องกลับมาเรียกร้องและถกเถียงในเรื่องเดิม
หนังสือ : เทศบาล: พื้นที่ เมือง และกาลเวลา
โดย : ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์
จำนวน : 184 หน้า
"เทศบาล: พื้นที่ เมือง และกาลเวลา" หรือในชื่อเต็ม ๆ ของงานชิ้นนี้ว่า "เทศบาล: พื้นที่ เมือง และกาลเวลา ดำเนิดความเปลี่ยนแปลง 3 ทศวรรษแรกของเทศบาล ประชาธิปไตยของประชาชนในเขตเมือง" เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของการตั้งคำถามและหาคำตอบว่า "อะไรคือเทศบาล" (?) และ "เทศบาลมีคบามสำคัญอย่างไรต่อสังคมแห่งนี้" (?) โดยที่งานชิ้นนี้จะพาผู้อ่านย้อนกลับไปทำความรู้จักและทำความเข้าใจต่อที่มาที่ไปของ "เทศบาล" โดยมุ่งช่วงเวลาไปที่หลังการเปลี่ยนแปลง 2475 จนถึงทศวรรษที่ 2500 โดยเนื้อหาของ "เทศบาล: พื้นที่ เมือง และกาลเวลา" แบ่งออกเป็นบทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
บทนำ
บทที่ 2 กำเนิดเทศบาล: ความเป็นเมืองและประชาธิปไตยใกล้ตัว
บทที่ 3 เทศบาลและความเป็นเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สองและทศวรรษสองสี่เก้าศูนย์
บทที่ 4 ความเป็นเมืองที่ขยายตัวและการลดอำนาจการเมือง ของเทศบาลในยุคอวสานประชาธิปไตย ทศวรรษ 2500
บทที่ 5 บทสรุป
งานชิ้นนี้มีความพยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าไปทำลายวาทกรรม ว่าด้วยเรื่องจุดกำเนิดของ "การกระจายอำนาจ" ในสังคมไทย ที่หลายคนยึดถือและเชื่อมั่นว่า การปกครองท้องถิ่นหรือว่ารูปแบบพื้นฐานของการปกครองท้องถิ่นอย่างการกระจายอำนาจนั้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หรือที่ถูกเรียกกันว่า "สุขาภิบาล" ซึ่งเราจะพบเรื่องนี้ได้ในแบบเรียนวิชาสังคมศาสตร์ (ในสมัยที่ตัวเราเรียนในโรงเรียน)
นอกจากนี้งานชิ้นนี้ได้พูดถึงเรื่องของการกระจายอำนาจที่กลับไปตั้งคำถามว่า "อะไรคือการกระจายอำนาจ" กันแน่แล้วมันเริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่ (?) หากไม่ใช่สมัยสุขสภิบาลของรัชกาลที่ 5 โดยที่งานชิ้นนี้มุ่งให้คำตอบไปที่ช่วงเวลาของการ เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หรือหลัง 2475 ที่มีการจัดตั้งหน่วยการปกครองที่เรียกกันว่า "เทศบาล" (municipality/commune) ขึ้น และเทศบาลนี้เองเป็นหนึ่งในความตั้งใจของ "ปรีดี พนมยงค์" ที่อยากจะให้มันเป็นรูปแบบของการปกครอง ขั้นพื้นฐานที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด
อีกหนึ่งความสำคัญของงานชิ้นนี้ คือการฉายให้เห็นความสัมพันธ์ของ สิ่งที่เรียกว่า (1) การปกครองส่วนกลาง (2) ส่วนภูมิภาค และ (3) ส่วนท้องถิ่น ที่หนังสือเล่มนี้พยายามแสดงให้เห็นถึงการซ้อนทับกันของการใช้อำนาจของทั้ง 3 พื้นที่ของ 3 ตัวแสดง และอำนาจดังกล่าวมีการยื้อยุดและแย่งชิงในการใช้อำนาจกันตลอดมา ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลอดช่วงระยะเวลาที่หนังสือเล่มนี้อธิบายตั้งแต่ 2475 ถึงช่วงทศวรรษ 2500 การปกครองท้องถิ่นมีความเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งนี่อาจจะเป็นลักษณะสำคัญของการปกครองท้องถิ่นในประเทศไทยมาตลอดกระทั่งปัจจุบัน น่าแปลกใจที่งานศึกษาชิ้นนี้ ได้จบผลการศึกษาลงในช่วงทศวรรษ 2500 แต่หากเราลองมองต่อมาจากช่วงเวลานั้นเราจะเห็นว่า การปกครองท้องถิ่นไทยลักษณะของความสัมพันธ์เชิงอำนาจของ 3 ตัวแสดง ก็ยังคงมีความซ้อนทับและไม่สามารถชี้เฉพาะอำนาจของตัวเองได้อย่างชัดเจน (หลายครั้งมันยิ่งถูกทำให้พร่าเลือนลงไปเมื่อส่วนกลางมีอำนาจแข็งแกร่ง) หรืออย่างในกรณีล่าสุดที่เราจะเห็นได้ชัดคือการเปลี่ยน "ตราสัญลักษณ์" ใหม่ของ "กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น" ที่มีการตั้งประเด็นกันว่าในชื่อของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนั้นในส่วนที่เป็นชื่อภาษาอังกฤษ กลับ "ไม่มีคำภาษาอังกฤษที่สื่อถึงคำว่าส่งเสริมอยู่ในชื่อเลย" นี่ก็เป็นอีกประเด็นนึงที่ถูกตั้งคำถามตลอดมา
น่าสนใจว่าการปกครองท้องถิ่นไทยจะพัฒนาไปถึงไหน และเมื่อไร ที่การปกครองท้องถิ่นไทย จะเป็นไปดั่งคำที่ "คึกฤทธิ์" ได้กล่าวไว้และปรากฏอยู่ในงานชิ้นนี้ว่า ... "ผมก็อยากจะขอพยากรณ์ว่า ในที่สุดนายกเทศมนตรีก็ต้องเป็นฝ่ายชนะ จะมีในเมืองไทยสักวันหนึ่งซึ่งเด็กรุ่นหลังจะไต่ถามกันว่า ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนี่ตำแหน่งอะไรกันแน่ เป็นตำแหน่งโบรัมโบราณเหมือนอย่างกับสมุหะพระนครอะไรอย่างนั้นหรือ จะกลายเป็นตำแหน่งประวัติศาสตร์ที่จะต้องศึกษากันไป" (น. 29) ... แต่นี่เป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งเราจะเห็นว่าในปัจจุบันเริ่มมีกระแสของการเรียกร้องให้มี "การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด" มากขึ้น หลังจากที่กระแสดังกล่าวถูกหยิบชูขึ้นมาครั้งหนึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อน และก็ดูกระแสนี้จะเงียบไป แต่ไม่แน่ว่าในครั้งนี้กระแสของการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกระจายเต็มทุกพื้นที่ อาจจะส่งผลเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างขึ้นก็เป็นได้ถึงเราจะรู้ว่าในทางปฏิบัติมันอาจจะยาก แต่เมื่อไหร่ที่ไฟถูกจุดขึ้นแล้วในไม่ช้าเราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in