เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
เลี้ยงลูกในโลกใหม่ By ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
  • รีวิวเว้ย (983) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ข้อเขียนของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่องของการอยู่ดีกินดีของคนไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์ถึงเชิงตะกอน" เป็นหนึ่งในงานเขียนขนาดสั้น "แต่สำคัญ" ของอาจารย์ป๋วย อีกชิ้นหนึ่งที่สะท้อนภาพของสังคมที่ควรจะเป็นได้เป็นอย่างดี ในการนี้เราขอยกเอาข้อเขียนดังกล่าวมาให้ทุกคนได้ลองอ่านกันดู

    เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมอยากให้แม่ได้กินอาหารถูกหลักโภชนาการ และได้รับการเอาใจใส่ ด้านสวัสดิการของแม่และเด็ก

    ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อแม่ผมมีมา และผมไม่อยากให้แม่มีน้องกะชั้นชิดกับผมเกินไปนัก

    แม่กับพ่อผมจะแต่งงานกันตามประเพณีหรือไม่ ไม่สำคัญ ที่สำคัญคือแม่กับพ่อต้องอยู่ร่วมกัน และไม่ทะเลาะกันบ่อย ๆ

    ในระยะ 2-3 ปี หลังจากที่ผมเกิดมา ผมอยากให้แม่กับผมได้กินอาหารที่ถูกหลักโภชณาการ เพราะเป็นระยะที่ร่างกายและสมองผมเติบโตขึ้น และเป็นระยะที่จะส่งผลดีผลภัยให้ผมในอนาคต

    ผมต้องการไปโรงเรียน และอยากให้พี่สาวหรือน้องสาวผมได้เรียนหนังสือครับ แล้วเรียนรู้วิชาที่จะไปทำงานได้ กับให้โรงเรียนอบรมสั่งสอนเรื่องศีลธรรมจรรยาให้เรา ถ้าเผอิญผมเรียนเก่งไปได้ถึงชั้นสูงๆ ก็ขอให้มีโอกาสเรียนได้สูงที่สุด

    เมื่อออกจากโรงเรียน ผมก็อยากทำงานเลี้ยงชีพ และงานนั้นควรจะน่าสนใจพอที่จะรู้สึกว่าผมได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น

    บ้านเมืองที่ผมอยู่ควรจะมีขื่อมีแป มีความสงบเรียบร้อย ปลอดภัย และพวกเราไม่ถูกกดขี่ข่มเหงประทุษฐภัย

    บ้านเมืองเราควรจะติดต่อมีความสัมพันธ์อันดีมีประโยชน์และชอบธรรมกับต่างประเทศ เราจะได้เรียนรู้วิชาทั้งด้านปัญญาและด้านอาชีพจากมนุษย์ทั่วโลก กับเราจะได้มีทุนจากต่างประเทศมาช่วยเราพัฒนา

    บ้านเมืองของเราส่งสินค้าที่ผมทำขึ้นหรือที่เพื่อนร่วมชาติผมทำขึ้นไปขายต่างประเทศ ราคาสินค้านั้นควรจะเป็นราคาที่ยุติธรรม

    ถ้าผมเป็นชาวนา ผมก็อยากมีที่นาของผมเป็นกรรมสิทธิ และมีช่องทางที่จะได้สินเชื่อมาลงทุน ได้วิชาแบบใหม่มาใช้เพาะปลูก ได้ตลาดมั่นคง และราคายุติธรรมสำหรับพืชผลของผม

    ถ้าผมเป็นชาวเมือง ทำงานรับจ้างเขา ผมก็อยากมีหุ้นส่วนในงานที่ผมทำ และมีส่วนในการดำเนินงานโรงงานหรือห้างที่ผมทำอยู่

    ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ผมอยากจะได้อ่านหนังสือพิมพ์ถูกๆ หนังสือเล่มถูกๆ มีวิทยุฟัง มีโทรทัศน์ดู (แต่ไม่อยากฟังหรือดูโฆษณาสินค้ามากนัก)

    ผมอยากมีสุขภาพแข็งแรง และหวังว่ารัฐบาลจะจัดให้มีบริการอนามัยป้องกันโรคชะนิดฟรี และบริการรักษาโรคชะนิดที่ถูกและเรียกหาได้ง่าย

    ผมหวังว่าจะมีเวลาพักผ่อนเป็นของตนเองบ้าง จะได้มีความสุขร่วมกับครอบครัวผม ถ้าอยากไปเที่ยวสวนก็ไปได้ อยากดูศิลปะชนิดต่างๆ ก็ได้ชม อยากไปงานวัดงานวัฒนธรรมก็ได้ไปเที่ยว

    ผมจำเป็นต้องมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ และน้ำสะอาดสำหรับดื่ม

    ผมอยากได้ร่วมมือเป็นสหกรณ์กับเพื่อนฝูง จะได้ช่วยกัน เขาบ้าง เราบ้าง แล้วแต่ความจำเป็น

    ผมจำเป็นต้องมีโอกาสได้ร่วมงานของชุมชนที่ผมอาศัยอยู่ และสามารถมีปากมีเสียงในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในประเทศของผม

    เมียผมก็ควรมีโอกาสอย่างเดียวกับผม และเราทั้งสองคนควรได้รับความรู้ และทราบวิธีการวางแผนครอบครัว

    พอผมแก่ลง บ้านเมืองก็ควรจะให้บริการทางการเงินและสังคมสังเคราะห์แก่ผม เพราะผมก็ได้ออกเงินบำรุงมาตลอด

    เมื่อผมตายแล้ว และเผอิญมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ ผมอยากให้รับฐบาลแบ่งให้เมียผมไว้พอกิน แล้วเอาที่เหลือไปทำประโยชน์ให้คนอื่นได้อยู่ดีกินดีด้วย

    นี่แหละคือความหมายอันแท้จริงแห่งชีวิต นี้แหละคือการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของทุกคน
    หนังสือ : เลี้ยงลูกในโลกใหม่ พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตยและอนาคตของทุกคน
    โดย : ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
    จำนวน : 202 หน้า

    "เลี้ยงลูกในโลกใหม่ พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตยและอนาคตของทุกคน" เป็นหนังสือที่ถูกจัดทำขึ้นในวาระของการจัดงาน "ปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18" ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตัวเราเองตอนเห็นหัวข้อและชื่อขององค์ปาฐกครั้งแรกก็แอบสงสัยว่าหมอประเสริฐ จะมาเกี่ยวข้องกับเรื่องของเศรษฐศาสตร์ และอาจารย์ป๋วยได้อย่างไร

    ความน่าแปลกอย่างหนึ่งของ "เลี้ยงลูกในโลกใหม่ พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตยและอนาคตของทุกคน" มันเหมือนกับการหยิบเอาข้อเขียน "ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์ถึงเชิงตะกอน" มาถอดรื้อและหยิบเอาแต่ละส่วนของข้อเขียนของอาจารย์ป๋วยมามองในมุมใหม่ ผ่านความเปลี่ยนแปลงของโลกและสังคมในยุคปัจจุบัน ซึ่งนั่นทำให้ "เลี้ยงลูกในโลกใหม่ พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตยและอนาคตของทุกคน" มีความน่าสนใจยิ่งในมิติของการฉายให้เห็นถึงพัฒนาการของเด็กในยุคต่าง ๆ ที่ผูกโยงอยู่กับสังคม ผ่านกลไกมากมายไม่ว่าจะเป็นครอบครัว การศึกษา เศรษฐกิจ ระบอบการปกครอง ภาษี ไล่ไปกระทั่งถึงเรื่องของท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ที่ "เลี้ยงลูกในโลกใหม่ พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตยและอนาคตของทุกคน" ช่วยให้เรามองเห็นความเชื่อมโยงของตัวแสดงต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายเหล่านั้นให้เห็นปรากฏเป็นเส้นของความสัมพันธ์ที่แต่ละหน่วยเชื่อมถึงกันอย่างมีเป้าประสงค์ ที่มุ่งไปในการขับเคลื่อน "การพัฒนาเด็กหรือพลเมืองในโลกยุคใหม่"

    ความตอนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ใน "เลี้ยงลูกในโลกใหม่ พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตยและอนาคตของทุกคน" ที่ผู้เขียนได้กล่าวถึง และเรามองว่ามันน่าสนใจและเป็นประเด็นที่หลายคน โดยเฉพาะคนที่ศึกษาเรื่องการเมืองและการเมืองท้องถิ่นอาจจะมองข้ามความสำคัญของมันไป ซึ่งหมอประเสริฐ ได้กล่าวเอาไว้ว่า

    "โรงเรียนควรเป็นของส่วนท้องถิ่น หลักสูตรก็ควรเป็นส่วนท้องถิ่น ครูยิ่งควรเป็นส่วนท้องถิ่น พูดง่ายๆ ผมซึ่งเป็นประชาชนในท้องถิ่นก็อยากให้คุณให้โทษโรงเรียนได้ ทุกวันนี้ทำไม่ได้ เพราะทุกอย่างเป็นของส่วนกลาง แต่ผมอยากให้คุณครูอยู่ใกล้เรา เป็นคนของเรา มีหลักสูตรที่รับใช้ชุมชนของเรา ถ้าท่านทำการศึกษาเพื่อชุมชน เราจะเป็นผู้ให้โบนัสท่านเอง ไม่ใช่ให้คนอื่นมาให้โบนัส นี่คือการกระจายอำนาจที่เป็นจริง" นี่เป็นการแสดงให้เห็นว่าความสำคัญของการพัฒนาเด็ดและเยาวชนในโลกยุคใหม่ กลไกสำคัญไม่ได้มีแต่รัฐหรือการศึกษาที่ถูกจัดโดยรัฐเท่านั้น หากแต่เรื่องของการเลี้ยงลูกในโลกใหม่ การพัฒนาการเด็ก การประชาธิปไตย การพพัฒนาอนาคต มันเป็นเรื่องของทุกคน และเป็นเรื่องที่ทุกคนจำเป็นจะต้องลงมือทำร่วมกันเพื่ออย่างน้อย ๆ จะได้ขยับเคลื่อนสังคมให้เดินไปในแนวทางของ "ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์ถึงเชิงตะกอน" ให้เข้าใกล้เรื่อย ๆ แบบค่อย ๆ ไปแต่ไม่หยุดก็น่าจะดี

    สำหรับใครที่สนใจอ่าน "เลี้ยงลูกในโลกใหม่ พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตยและอนาคตของทุกคน" สามารถโหลดได้ที่ https://www.econ.tu.ac.th/archive/detail/84 และสามารถรับชมได้ที่ https://waymagazine.org/prasert-p-karnpim-puey-speech/

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in