เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
A Genealogy of Bamboo Diplomacy: The Politics of Thai Détente with Russia and China By Jittipat Poonkham
  • รีวิวเว้ย (966) การดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของไทยในยุคหนึ่งถูกขนานนามว่ามีการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศในลักษณะของ "การทูตไผ่ลู่ลม (Bamboo Diplomacy)" ที่การดำเนินนโยบายระหว่างประเทศ หรือนโยบายทางการทูตนั้นจะหันเหไปตามกระแสลมของประเทศมหาอำนาจในแต่ละช่วงเวลา กระทั่ง "Bamboo Diplomacy" กลายมาเป็นหนึ่งในจุดขายสำคัญของนโยบายระหว่างประเทศและการทูตของไทยที่ถูกขนานนามและกล่าวขวัญถึงมาช้านาน และนักวิชาการ นักวิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างประเทศหลายท่านยังคงยึดเอาแนวทางดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญในการอธิบายความถึงการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศและการทูตของไทยในยุคสมัยหลัง (บางครั้งก็ยังเห็นมีคนหยิบมาอธิบายบริบทในปัจจุบันอยู่บ้าง)

    กระทั่ง "Bamboo Diplomacy" ดูเหมือนว่าจะเป็นชุดคำอธิบายหลักที่ทั้งง่ายต่อการหยิบใช้เพื่ออธิบายสถานการณ์ต่าง ๆ ในด้านการระหว่างประเทศ จนหลายครั้งอาจจะหลงลืมไปว่าด้วยตัวคำและความเคยชินของการฉวยใช้ความหมายของคำว่า "Bamboo Diplomacy" นี่เองที่อาจจะกลายมาเป็นข้อจำกัดที่สำคัญของการจะกำหนดนโยบายระหว่างประเทศของไทยในยุคสมัยใหม่ (และในอนาคต) เพราะคงเป็นไปได้ยากที่ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน เรายังจะสามารถอธิบายอะไรด้วยสิ่งเดิมหรือแบบเดิม ๆ เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลังจากเหตุการณ์ 911 การอธิบายโลกในแบบเดิมดูจะเป็นไปได้ยากและลดความน่าเชื่อถือลงอย่างมากในยุคนี้
    หนังสือ : A Genealogy of Bamboo Diplomacy: The Politics of Thai Détente with Russia and China
    โดย : Jittipat Poonkham
    จำนวน : 325 หน้า

    "A Genealogy of Bamboo Diplomacy: The Politics of Thai Détente with Russia and China" หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องของการตั้งคำถามและย้นทวนถึงที่มา และบทบาทของ "การทูตไผ่ลู่ลม (Bamboo Diplomacy)" ที่ถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในแนวทางหลัก (สำคัญ) ของการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศและการดำเนินนโยบายทางการทูตของประเทศไทยมาเป็นเวลาช้านาน โดยที่หนังสือเล่มนี้ชักชวนให้ผู้อ่านย้อนกลับไปดูที่มาของแนวทางดังกล่าว และตั้งคำถามถึงบทบาท ความสำคัญ และการเปลี่ยนแปลงของการดำเนินนโยบายทาง "การทูตไผ่ลู่ลม (Bamboo Diplomacy)" ในช่วงยุคสงครามเย็นที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียใต้กลายมาเป็นพื้นที่ของ "สงครามตัวแทน (proxy war)" และด้วยสถานะดังกล่าวทำให้ไทยต้องดำเนินนโยบายทางการทูตในลักษณะที่ถูกเรียกขานจนกระทั่งปัจจุบันว่า "การทูตไผ่ลู่ลม (Bamboo Diplomacy)"

    โดยเนื้อหาในหนังสือ "A Genealogy of Bamboo Diplomacy: The Politics of Thai Détente with Russia and China" แบ่งออกเป็น 8 บท ดังต่อไปนี้

    Introduction

    Cold War Discursive Hegemony: Anticommunism, Americanism and Antagonism

    Bending Before the Wind: The Emergence of 'Flexible Diplomacy' (1968-1969)

    Flexible Diplomacy: Thanat and the First Détente (1969-1971)

    Interregnum - 1971: A Coup against Diplomacy ?

    A Diplomatic Transformation: Chatichai, Kukrit and the Second Détente (1975-1976)

    Equidistance: Kriangsak and the Third Détente (1977-1980)

    Conclusion: The End of 'Bamboo' Diplomacy ? Back to the Future

    เมื่ออ่าน "A Genealogy of Bamboo Diplomacy: The Politics of Thai Détente with Russia and China" จบลง จะพบว่าหนังสือเล่มนี้พาผู้อ่านไปย้อนทวนความเข้าใจในเรื่องของ "การทูตไผ่ลู่ลม (Bamboo Diplomacy)" และชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถามถึง ความสำคัญ ความสัมพันธ์และบทบาทของการกำหนดนโยบายทางการทูตของไทยในลักษณะดังกล่าว ว่าในท้ายที่สุดแล้ว "การทูตไผ่ลู่ลม (Bamboo Diplomacy)" ที่ตกทอดมานั้นเป็นขุมทรัพย์หรือเป็นข้อจำกัดของการดำเนินนโยบายทางการทูตและการกำหนดนโยบายระหว่างประเทศของไทย ยิ่งเมื่อถึงช่วงเวลาที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้วรัฐไทยจะปรับตัวหรือพาตัวเองออกจากการดำเนินนโยบายในลักษณะนั้นอย่างไร และรวมถึงการจัดการผลที่ตามมาของการดำเนินนโยบายในลักษณะดังกล่าวด้วย ซึ่งในตอนท้ายผู้เขียนได้ตั้งคำถามถึงการดำเนินนโยบายแบบ "การทูตไผ่ลู่ลม (Bamboo Diplomacy)" ในแนวทางว่าเอาเข้าจริงแล้วไผ่มันลู่ไปในทิศทางของกระแสลมเพียงกระแสเดียว หรือว่าในระหว่างที่กระแสลมกำลังพัดแรงอยู่นั้นลำไผ่บางลำก็อาจจะหาทางลู่ไปยังอีกทิศเพื่อคอยโอกาสที่อาจจะเกิด "กระแสลมพัดหวน"

    สำหรับใครที่สนใจหนังสือ "A Genealogy of Bamboo Diplomacy: The Politics of Thai Détente with Russia and China" สามารถเข้าไปดูได้ที่ https://press.anu.edu.au/publications/genealogy-bamboo-diplomacy

    หมายเหตุ: ด้วยเหตุที่หนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษ และมีขอบข่ายของเนื้อหาอยู่ในเรื่องของ "ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประวัติศาสตร์" ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีศัพท์บางคำที่เรามนฐานะผู้อ่านไม่แน่ใจว่าจะเก็บบริบทของหนังสือเล่มนี้มาเขียนรีวิวได้มากน้อยแค่ไหน หากอยากรู้ว่าที่เขียนรีวิวมาเก็บเอาบริบทมาได้ครอบหรือไม่ครบ แนะนำให้ย้อนกลับไปดูที่ link ที่แนบมาในด้านบน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in