เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
กำเนิดกระแสเกาหลี By Euny Hong แปล วิลาส วศินสังวร
  • รีวิวเว้ย (930) เมื่อวานนี้ (15/12/64) ผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและพลังของ 250 สว. ได้สร้างกระแสของเรื่องการแนะนำให้คนไทยเลี้ยงไก่ และในเวทีเดียวกันนั้นเองผู้นำที่มาจากพลัง สว. ยังพูดถึงเรื่องของ "soft power" ที่เป็นแนวคิดของนักวิชาการอเมริกันอย่าง Joseph Nye แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่เมื่อหลายปีก่อนในห้องเรียนวิชาความสัมพันธ์ระหส่างประเทศเบื้องต้น (PO271) ที่สอนโดย ศ.ดร.จุลชีพ ชินวรรโณ เรามีโอกาสได้นั่งเรียนในวิชานั้นกับอาจารย์ อาจารย์เรียกแนวคิดนี้ในภาษาไทยว่า "อำนาจอ่อนหรืออำนาจละมุน" ที่อาศัยความละมุนละม่อมในการโน้มน้าวให้บุคคล กลุ่มบุคคล หรือกระทั่งระดับสังคมยอมรับ ทำตามบางสิ่งบางอย่างโดยไม่ใช้ความรุนแรงหรือกำลังบังคับขู่เข็ญ ซึ่งหลายปีมานี้แนวคิดดังกล่าวถูกพูดถึงและถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอยู่บ่อย ๆ ในช่องทางต่าง ๆ แต่หลายครั้งพอลองฟัง ๆ ดูแล้วได้แต่ยกมือขึ้นมาเกาหัวแล้วอุทานในใจว่า "แม่งพูดห่าไรของมันวะ" จนหลัง ๆ หลายคนเข้าใจความหมายของคำว่า "soft power" หลุดออกไปไกลจากวงโคจรของมันมาก อย่างกรณีล่าสุดเมื่อวานนี้ ดูเหมือน ปยอ. จะเข้าใจความหมายของคำดังกล่าวจากใน Multiverse ที่ฟังจบได้แต่คิดในใจแม่งว่าหนักพอ ๆ กับที่แนะนำให้กูลุกไปเลี้ยงไก่เลยนะมึง
    หนังสือ : กำเนิดกระแสเกาหลี
    โดย : Euny Hong แปล วิลาส วศินสังวร
    จำนวน : 263 หน้า
    ราคา : 260 บาท

    เพื่อแก้อาการความงุนงงในเรื่องของ "soft power" ไปบ้าง เราเลยเลือกหยิบเอาหนังสือแปลไทยที่เราคิดว่ามันอธิบายเรื่องของอำนาจอ่อน (soft power) ได้อย่างชัดเจนและมีตัวอย่างที่ชัดมาก ๆ ของประเทศที่ใช้กลไกอำนาจดังกล่าวในการผลักดันการพัฒนาประเทศจากที่เคยมาดูงานประเทศไทยเมื่อหลาย 10 ปีก่อน (30-40 ปี) จนกลายมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจดีจนติดอันดับ 1 ใน 15 ของโลก โดยอาศัยอำนาจของอำนาจอ่อนนี่แหละในการผลักดันและพัฒนา

    หนังสือ "กำเนิดกระแสเกาหลี" เป็นหนังสือขนาดกระทัดรัดที่ประกอบไปด้วยบทตอนขนาดไม่ยาวนักจำนวนทั้งสิ้น 15 ตอน ที่จะช่วยนำพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับอำนาจอ่อนดังกล่าวของเกาหลีใต้ภายใต้การวางแนวคิดการขับเคลื่อน "กระแสนิยมเกาหลี" หรือที่ในภาษาเกาหลีเรียกคำดังกล่าวว่า "ฮอนยู (Hallyu)" ที่กลายมาเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้ก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของโลกได้อย่างในปัจจุบัน

    เนื้อหาทั้ง 15 ตอนที่ปรากฏใน "กำเนิดกระแสเกาหลี" จะช่วยพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจการเกิดขึ้น แนวทาง การผลักดันส่งเสริม และบริบทแวดล้อมอื่น ๆ ที่ทำให้ soft power ของเกาหลีใต้กลายมาเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยเนื้อหาทั้งหมดใน "กำเนิดกระแสเกาหลี" ย้ำเตือนกับเราว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเกาหลีในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ความบังเอิญ ไม่ใช่เรื่องของบุญ-กรรม แต่คือการมี "ผู้นำ" ที่ (1) มีสมอง และ (2) มีวิสัยทัศน์ มากพอที่จะพาประเทศเดินไปในเส้นทางที่ไม่มีใครคาดถึง ทั้งเรื่องของการเพิ่มงบประมาณและสร้างหน่วยงานร่วมของรัฐและเอกชนในการผลักดันกระบวนการต่าง ๆ โดยรัฐทำหน้าที่เป็นผู้รักษากติกาในแบบของการปรึกษาหารือ และรัฐเป็นผู้ลงทุนหลักในการเปิดหน้าดินให้ก่อนในกิจกรรมนั้น ๆ อีกทั้งวิธีคิดและวิธีทำงานของกลไกต่าง ๆ ทุกภาคส่วนล้วนสำคัญยิ่งต่อการให้ "กำเนิดกระแสเกาหลี" ขึ้นมาได้

    หลังจากที่อ่าน "กำเนิดกระแสเกาหลี" จบลง เราชอบข้อความตอนหนึ่งที่ผู้เขียน เขียนถึง "กระทรวงวัฒนธรรมเกาหลี" จนต้องยกข้อความดังกล่าวขึ้นมาให้ได้อ่านกันดังนี้

    "คุณลองนึกภาพเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล ที่ทำงานด้านเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน และโฮโลแกรมสามมิติดูสิ ว่าไม่ได้ใช้เพื่อการสงครามหรือจารกรรมนะ แต่ใช้เพื่อจัดคอนเสิร์ตที่จะทำให้ผู้ชมตื่นตะลึง นี้เป็นโครงการหนึ่งภายใต้การดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว … กระทรวงมีแผนกอุตสาหกรรมคอนเทนต์ด้านวัฒนธรรมสามแผนก คือ วิดีโอเกม โทรทัศน์และนโยบายอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งรวมแล้วเรียกว่าสำนักงานคอนเทนต์ด้านวัฒนธรรม" (น. 107-109)

    พออ่านจบแล้ว ลองย้อนกลับมาดู "กระทรวงวัฒนธรรม" ของ "ไทย" ดูบ้าง และมองให้ไกลกว่านั้นไปอีกหน่อย เราก็จะเห็นว่าผู้นำบางคนวิสัยทัศน์อาจจะไปได้ไกลที่สุดแค่ แนะนำให้ประชาชน "ไปเลี้ยงไก่" และตัวผู้นำทำได้แค่ "คุยกับปู" ปวดหัวเหลือเกิน (กู)

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in