เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ข้อมูลและสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนฯ By ศิริวรรณ หัสสรังสี
  • รีวิวเว้ย (931) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    กระแสการเลือกตั้ง "ท้อนถิ่น" ช่วงนี้กำลังเป็นที่จับตามองของคนทั่วทั้งประเทศเพราะพวกเราเพิ่งผ่านการเลือกตั้ง อบต. มาไม่นาน (28 พ.ย. 64) และก็กำลังมีข่าวใหญ่เกี่ยวกับกระแสของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่ทั้งการเลือกตั้ง อบต. และการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ต่างก็ถูกแช่แข็งเอาไว้เนิ่นนานจากผลของการรัฐประหารของ คสช. เมื่อปี พ.ศ. 2557 น่าสนใจว่าสนามเลือกตั้งท้องถิ่นหลังจากที่ห่างหายไปนานก็กลับมาคึกคักจนน่าประหลาดใจ โดยเฉพาะกับหลาย ๆ คนที่ติดตามเรื่องราวของท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง คำถามสำคัญที่สังคมไทยควรจะตั้งคำถามกันต่อหลังจากเรื่องของการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. คือ เมื่อไหร่หนอที่ "ผู้ว่าราชการจังหวัด จะมาจากการเลือกตั้งของคนในพื้นที่บ้างเสียที" ทั้งที่ประเด็นดังกล่าวก็มีกระแสมา ๆ ไป ๆ อย่างต่อเนื่องในสังคมไทย น่าสนใจว่าในวันหนึ่งข้างหน้ามันจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของคนในพื้นที่ (?)
    หนังสือ : ข้อมูลและสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น
    โดย : ศิริวรรณ หัสสรังสี
    จำนวน : 189 หน้า
    ราคา : 330 บาท

    "ข้อมูลและสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น" หนังสือเล่มนี้จะว่าไม่เกี่ยวกับข้อความที่เกริ่นไว้ด้านบนเรื่องของการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นและการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมันก็อาจจะไม่เกี่ยว หรือก็ไม่แน่ถ้าเราลองพิจารณาดี ๆ มันก็อาจจะเกี่ยวกับเรื่องของการเลือกตั้งผู้นำทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่นได้พอ ๆ กัน หนังสือ "ข้อมูลและสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น" เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่นำเสนอข้อมูลผ่านมุมมองที่น่าคิดและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของ "การจัดการข้อมูล และ การใช้ข้อมูล" ที่ทุกวันนี้เป็นที่ถูกพูดถึงและให้ความสำคัญอย่างมากในหลากหลายสังคม เพราะมองไปทางไหนหรือฟังอะไรเราก็มักจะได้ยินคำว่า "ข้อมูล (Data)" ซึ่งมันไม่ใช่คำใหม่ หรือเรื่องใหม่แต่ประการใด หากแต่มันเป็นเครื่องมือที่ถูกนำกลับมาจัดรูปแบบและออกแบบการใช้งานใหม่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีที่สุดเท่าที่ "ข้อมูลอำนวยให้"

    เมื่อเป็นเช่นนั้นหนังสือ "ข้อมูลและสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น" จึงได้ทดลองนำเสนอในเรื่องของการนำเอา "ข้อมูล" มาใช้ในการ "จัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น" ที่ถ้าหากการทำแผนของท้องถิ่นและแผนอื่น ๆ มีการหยิบเอาข้อมูลมาออกแบบแผนหรือแนวทางการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบกิจกรรมหรือการจัดทำบริการสาธารณะให้กับประชาชน ชุดข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการกำหนดแนวทาง วางรูปแบบ และยกระดับการพัฒนาให้ดีขึ้นและตรงจุดยิ่งขึ้นผ่านข้อมูลที่แต่ละท้องถิ่น แต่ละหน่วยงานถือครองเอาไว้

    หนังสือ "ข้อมูลและสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น" ช่วยขยายภาพความสำคัญดังกล่าวให้เราได้เห็น และเนื้อหาของหนังสือยังหยิบยกเอาตัวอย่างของชุดข้อมูลสำคัญ ๆ ต่าง ๆ มานำเสนอในฐานะตัวแบบให้เราได้เห็นกันด้วย โดยเนื้อหาของหนังสือ "ข้อมูลและสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น" แบ่งออกเป็นบทต่าง ๆ ดังนี้

    บทที่ 1 บทนำ

    บทที่ 2 สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎรและพีระมิดประชากร

    บทที่ 3 ข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน และข้อมูลความจำเป็นพื้นที่

    บทที่ 4 ดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI)

    บทที่ 5 ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP)

    และเมื่ออ่าน "ข้อมูลและสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น" เราจะมองเห็นความสำคัญของข้อมูลและการปรับใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการปรับเอาข้อมูลมาใช้เพื่อออกแบบการทำงาน และแผนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง แน่นอนว่าการใช้ข้อมูลมันไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่เงินเยอะ หรือที่หน่วยงานระดับประเทศเท่านั้น หากแต่ท้องถิ่นขนาดเล็กก็สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ได้ถ้าพวกเขามีฐานข้อมูลที่ถูกออกแบบมาให้เป็นระบบ ง่ายต่อการเข้าถึงและจัดเก็บ รวมทั้งการบูรณาการณ์กันของข้อมูลที่จำเป็นในทุกระดับอย่างเป็นระบบ ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกทุกวันนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเป็นสำคัญ และท้องถิ่นจะไปได้ไกลกว่านี้มากหากมีคนเห็นความสำคัญและส่งเสริมการใช้ข้อมูลในการบริหารจัดการท้องถิ่นและจัดทำบริการสาธารณะ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in