รีวิวเว้ย (917) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมัยเรียนปริญญาตรีที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เวลาที่วิชาไหนพูดถึงเรื่องของ "รัฐราชการ" หนังสือแนะนำให้อ่านมักจะเป็นหนังสือของ "เฟร็ด วอร์เรน ริกส์ (Fred W. Riggs)" ผู้ที่อธิบายเรื่องของการเมืองและการบริหารของรัฐไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ว่าอยู่ภายใต้ "ระบอบอำมาตยาธิปไตย (Bureaucratic Polity)" หรือที่เรียกกันในภาษาไทยว่า "รัฐราชการ" แน่นอนว่าการให้นักศึกษาปริญญาตรีเมื่อ 10 ปีก่อนอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ที่เป็นเรื่องเฉพาะและมีศัพท์แสงที่ไม่ปรากฏในชีวิตประจำวันจึงเป็นเรื่องที่ยากเย็น เราก็แก้ปัญหาด้วยการอ่านเฉพาะบทหรืออ่านเท่าที่รู้เรื่องและเวลามีมากพอ ซึ่งเรามักจะทำคู่ขนานไปกับการหาหนังสือภาษาไทยที่เขียนเรื่อง "รัฐราชการ" มาอ่านควบคู่กันไปซึ่งแทบไม่มี จะมีก็เพัยงบทความหรืองานวิจัยที่เข้าข่ายและหยิบเอาวิธีการอธิบายของ Riggs ไปใช้ในงานเหล่านั้นทำให้การอ่านงานเรื่องรัฐราชการคล้ายกับการเล่นเกมต่อจุดที่เราเองก็ไม่แน่ใจว่าต่อถูกจุดหรือลากเส้นไปที่จุดต่อไปที่ควรจะเป็นจริง ๆ รึเปล่า (หรือลากผิดจุดก็ชักไม่แน่ใจ) แน่เมื่อเรียนไปนาน ๆ เข้าเราเริ่มเห็นภาพ "ความสำคัญ" ของสิ่งที่เรียกว่า "ระบบราชการ" โดยเฉพาะระบบราชการของรัฐไทยที่ถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนรัฐไทยตั้งแต่ยุคสทัยที่เป็นสยามประเทศ กระทั่งปัจจุบัน รัฐราชการหรือระบบราชการเป็นกลไกสำคัญที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้อหลังของการบริการจัดการรัฐ การเมืองของระบบราชการ และข้าราชการที่เป็นนักการเมืองกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญของการควบคุมจัดการความเป็นไปของรัฐ รวมทั้งระบบราชการเองก็ส่งผลให้รัฐไทย "เดินมาถึงวันนี้" (ใส่ทำมองเพลงมือปืน) รัฐราชการของไทยจึงเป็นเรื่องใหญ่ และจำเป็นที่จะถูกศึกษา ให้ความสำคัญ และจับมาแยกชิ้นส่วนเพื่อดูกลไกการทำงาน เพราะหลายปีมานี้รัฐราชการผลัดหลังให้รัฐไทยและคนไทยเดินมาไกลจนถึงจุดนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารัฐราชการคือส่วนสำคัญของทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวของรัฐไทยในเกือบทุกช่วงประวัติศาสตร์การเมืองไทย (จะมีบ้างที่บทบาทของรัฐราชการถูกลดความสำคัญลงแต่ก็ยังคงส่งผลบางอย่างอยู่ดี)
หนังสือ : ประยุทธ์ไม่ใช่สฤษดิ์: พลวัตรัฐราชการไทยจากยุครุ่งเรืองสู่ยุคเสื่อมถอย
โดย : ชัชฎา กำลังแพทย์
จำนวน : 312 หน้า
ราคา : 460 บาท (ปกแข็ง)
"รัฐใดที่ไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต และใช้ชีวิตโดยปราศจากความกลัว รัฐนั้นย่อมไม่มีความชอบธรรมในการปกครอง" (น.10)
เราชอบข้อความที่ยกมาจากหน้าที่ 10 ของหนังสือ "ประยุทธ์ไม่ใช่สฤษดิ์: พลวัตรัฐราชการไทยจากยุครุ่งเรืองสู่ยุคเสื่อมถอย" เพราะข้อความดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนด้านกลับของรัฐราชการไทย เพราะอย่างที่เกริ่นเอาไว้ในส่วนแรกว่ารัฐราชการไทยพาประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้ น่าแปลกที่หลายครั้งรัฐราชการเองก็สร้างความเสียหายที่มากเกินกว่าจะรับได้ในสายตาของประชาชน แต่ก็แปลกที้รัฐราชการ และรัฐไทยก็ยังมี "ความชอบธรรม" ในการปกครองอยู่ได้แบบงง ๆ
"ประยุทธ์ไม่ใช่สฤษดิ์: พลวัตรัฐราชการไทยจากยุครุ่งเรืองสู่ยุคเสื่อมถอย" นับเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่คนสนใจ "การเมืองไทย" จำเป็นต้องอ่าน เพราะหลายคนเข้าใจไปเองว่า "ราชการ" ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญใด ๆ กับการเมืองไทย ไม่เหมือนการต่อสู่เรียกร้อง หรือเหตุการณ์สำคัญ ๆ ทางการเมืองต่าง ๆ แต่เอาเข้าจริงแล้วในทัศนะของเราเรามองว่า "รัฐราชการ" คือหนึ่งในตัวการสำคัญหรือถ้าเปรียบเป็นเกมรัฐราชการก็มีสถานะเป็น "รอง Boss" ของเกมการเมืองไทย เพราะหลายร้อยปีนับแต่การมีการปฏิรูประบบราชการและความพยายามสร้างประเทศให้มีความทันสมัยและเป็นสมัยใหม่ "ระบบราชการ" นับเป็นหมากตัวสำคัญของการเดินเกมและการวางกลไกของการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแน่นอนความความสำคัญของบทบาทตัวเดิมเกมอาจจะเปลี่ยนไปบ้างในปัจจุบัน แต่อย่างไรเสียก็ยังปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่า "รัฐราชการ" มีส่วนอย่างสำคัญในปัจจุบันร่วมกับตัวแสดงอื่น ๆ ที่อยู่หลังม่านการเมือง
"ประยุทธ์ไม่ใช่สฤษดิ์: พลวัตรัฐราชการไทยจากยุครุ่งเรืองสู่ยุคเสื่อมถอย" ช่วยให้ผู้อ่านเข้าในพัฒนาการ แนวคิด ทฤษฎี ความเป็นมาเป็นไปของสิ่งที่เรียกกันว่า "รัฐราชการ" รวมถึงการพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจความสำคัญของรัฐราชการต่อรัฐไทยนับแต่ครั้งอดีตกระทั่งถึง พ.ศ. 2561 อีกทั้ง "ประยุทธ์ไม่ใช่สฤษดิ์: พลวัตรัฐราชการไทยจากยุครุ่งเรืองสู่ยุคเสื่อมถอย" ยังมุ่งเน้นไปที่การตีแผ่รัฐราชการในช่วงของ "จอมพลสฤษดิ์" โดยนำมาเปรียบเทียบกับ "รัฐบาล คสช." ที่หลายคนชอบเปรียบกันว่า "ประยุทธ์ = สฤษดิ์" จริงหรือ "ประยุทธ์ไม่ใช่สฤษดิ์: พลวัตรัฐราชการไทยจากยุครุ่งเรืองสู่ยุคเสื่อมถอย" จึงหยิบเอาเรื่องของ "รัฐราชการ" ในช่วงเวลาดังกล่าวมาเทียบให้ดูว่าใช่อย่างที่หลายคนคิดรึเปล่า
สำหรับเนื้อหาใน "ประยุทธ์ไม่ใช่สฤษดิ์: พลวัตรัฐราชการไทยจากยุครุ่งเรืองสู่ยุคเสื่อมถอย" แบ่งออกเป็นหัวข้อต่าง ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านเห็นและเข้าใจภาพของรัฐราชการในลักษณะของความเป็นพลวัตนับแต่ครั้งอดีตกระทั่งรัฐราชการในช่วง พ.ศ. 2561 โดยหัวข้อต่าง ๆ มีดังนี้
ทำไมจึงต้องศึกษารัฐราชการ
ภูมิทัศน์รัฐราชการไทย
รัฐราชการในห้วงการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
รัฐราชการไทยในห้วงการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) (พ.ศ. 2557-2561)
เปรียบเทียบรัฐราชการจอมพลสฤษดิ์และ คสช. ภาพรวมพลวัตรัฐราชการไทย
สำหรับเราแล้ว "ประยุทธ์ไม่ใช่สฤษดิ์: พลวัตรัฐราชการไทยจากยุครุ่งเรืองสู่ยุคเสื่อมถอย" คือหนังสือที่ช่วยให้เรามองเห็นภาพที่ขาดหายไปของการเมืองไทย โดยเฉพาะภาพในเรื่องของบทบาทของรัฐราชการที่ส่งผลต่อการเมืองไทยอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นการขยับม่านกั้นที่กางบังฉากหลังของการเมืองไทยที่หลายคนมองไม่เห็นให้ปรากฏชัดยิ่งขึ้น แต่อย่างที่บอกว่าหลังม่านการเมืองไทยไม่ได้มีแค่เรื่องของ "รัฐราชการ" เท่านั้นหากแต่ถ้าเราอ่าน "ประยุทธ์ไม่ใช่สฤษดิ์: พลวัตรัฐราชการไทยจากยุครุ่งเรืองสู่ยุคเสื่อมถอย" เราจะพบว่ามีตัวแสดงสำคัญอย่าง "กลุ่มทุน" ปรากฏอยู่หลายแห่งในหนังสือเล่มนี้ และแน่นอนว่ากลุ่มทุนเองก็เป็นอีกหนึ่งในตัวแสดงสำคัญของการเมืองไทยที่ไม่ควรถูกมองข้ามหรือละเลย แบบที่ "รัฐราชการ" เคยถูกมองข้ามมาแล้วครั้งหนึ่ง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in