เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้นำสันติประชาธรรม By เอกวีร์ มีสุข
  • รีวิวเว้ย (915) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    “เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมอยากให้แม่ได้กินอาหารถูกหลักโภชนาการ และได้รับการเอาใจใส่ ด้านสวัสดิการของแม่และเด็ก

    ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากอย่างที่พ่อแม่ผมมีมา และผมไม่อยากให้แม่มีน้องกะชั้นชิดกับผมเกินไปนัก

    แม่กับพ่อผมจะแต่งงานกันตามประเพณีหรือไม่ ไม่สำคัญ ที่สำคัญคือแม่กับพ่อต้องอยู่ร่วมกัน และไม่ทะเลาะกันบ่อยๆ

    ในระยะ 2-3 ปี หลังจากที่ผมเกิดมา ผมอยากให้แม่กับผมได้กินอาหารที่ถูกหลักโภชณาการ เพราะเป็นระยะที่ร่างกายและสมองผมเติบโตขึ้น และเป็นระยะที่จะส่งผลดีผลภัยให้ผมในอนาคต

    ผมต้องการไปโรงเรียน และอยากให้พี่สาวหรือน้องสาวผมได้เรียนหนังสือครับ แล้วเรียนรู้วิชาที่จะไปทำงานได้ กับให้โรงเรียนอบรมสั่งสอนเรื่องศีลธรรมจรรยาให้เรา ถ้าเผอิญผมเรียนเก่งไปได้ถึงชั้นสูงๆ ก็ขอให้มีโอกาสเรียนได้สูงที่สุด

    เมื่อออกจากโรงเรียน ผมก็อยากทำงานเลี้ยงชีพ และงานนั้นควรจะน่าสนใจพอที่จะรู้สึกว่าผมได้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น

    บ้านเมืองที่ผมอยู่ควรจะมีขื่อมีแป มีความสงบเรียบร้อย ปลอดภัย และพวกเราไม่ถูกกดขี่ข่มเหงประทุษฐภัย

    บ้านเมืองเราควรจะติดต่อมีความสัมพันธ์อันดีมีประโยชน์และชอบธรรมกับต่างประเทศ เราจะได้เรียนรู้วิชาทั้งด้านปัญญาและด้านอาชีพจากมนุษย์ทั่วโลก กับเราจะได้มีทุนจากต่างประเทศมาช่วยเราพัฒนา

    บ้านเมืองของเราส่งสินค้าที่ผมทำขึ้นหรือที่เพื่อนร่วมชาติผมทำขึ้นไปขายต่างประเทศ ราคาสินค้านั้นควรจะเป็นราคาที่ยุติธรรม

    ถ้าผมเป็นชาวนา ผมก็อยากมีที่นาของผมเป็นกรรมสิทธิ และมีช่องทางที่จะได้สินเชื่อมาลงทุน ได้วิชาแบบใหม่มาใช้เพาะปลูก ได้ตลาดมั่นคง และราคายุติธรรมสำหรับพืชผลของผม

    ถ้าผมเป็นชาวเมือง ทำงานรับจ้างเขา ผมก็อยากมีหุ้นส่วนในงานที่ผมทำ และมีส่วนในการดำเนินงานโรงงานหรือห้างที่ผมทำอยู่

    ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ผมอยากจะได้อ่านหนังสือพิมพ์ถูกๆ หนังสือเล่มถูกๆ มีวิทยุฟัง มีโทรทัศน์ดู (แต่ไม่อยากฟังหรือดูโฆษณาสินค้ามากนัก)

    ผมอยากมีสุขภาพแข็งแรง และหวังว่ารัฐบาลจะจัดให้มีบริการอนามัยป้องกันโรคชะนิดฟรี และบริการรักษาโรคชะนิดที่ถูกและเรียกหาได้ง่าย

    ผมหวังว่าจะมีเวลาพักผ่อนเป็นของตนเองบ้าง จะได้มีความสุขร่วมกับครอบครัวผม ถ้าอยากไปเที่ยวสวนก็ไปได้ อยากดูศิลปะชนิดต่างๆ ก็ได้ชม อยากไปงานวัดงานวัฒนธรรมก็ได้ไปเที่ยว

    ผมจำเป็นต้องมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ และนำ้สะอาดสำหรับดื่ม

    ผมอยากได้ร่วมมือเป็นสหกรณ์กับเพื่อนฝูง จะได้ช่วยกัน เขาบ้าง เราบ้าง แล้วแต่ความจำเป็น

    ผมจำเป็นต้องมีโอกาสได้ร่วมงานของชุมชนที่ผมอาศัยอยู่ และสามารถมีปากมีเสียงในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในประเทศของผม

    เมียผมก็ควรมีโอกาสอย่างเดียวกับผม และเราทั้งสองคนควรได้รับความรู้ และทราบวิธีการวางแผนครอบครัว

    พอผมแก่ลง บ้านเมืองก็ควรจะให้บริการทางการเงินและสังคมสังเคราะห์แก่ผม เพราะผมก็ได้ออกเงินบำรุงมาตลอด

    เมื่อผมตายแล้ว และเผอิญมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ ผมอยากให้รับฐบาลแบ่งให้เมียผมไว้พอกิน แล้วเอาที่เหลือไปทำประโยชน์ให้คนอื่นได้อยู่ดีกินดีด้วย

    นี่แหละคือความหมายอันแท้จริงแห่งชีวิต นี้แหละคือการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของทุกคน " (อ่านเพิ่มเติมที่ https://ilaw.or.th/node/5430 และ https://adaybulletin.com/life-feature-from-womb-to-tomb-puey-ungphakorn/47552)

    งายเขียน "ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์ถึงเชิงตะกอน" ของ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" เป็นงานเขียนอีกชิ้นหนึ่งในหลาย ๆ งานของอาจารย์ป๋วย ที่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์สู่สังคมไทย งานเขียนชิ้น "ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์ถึงเชิงตะกอน" ในรอบหลายปีมานี้เราพบเห็นใครหลายคนหยิบเอาเราดังกล่าวขึ้นมาเล่า มากล่าว มาเขียนถึงมากมาย อย่างในส่วนแรกของหนังสือ "ผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้นำสันติประชาธรรม" ก็มีการกล่าวถึงงานชิ้นดังกล่าว แต่อยู่ในรูปของงานที่ถูกสร้างและตีความให้ออกมาจากอีกมุมหนึ่งของ "Sa-ard" ที่สร้าง "น้องป๋วย" ขึ้นมาเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของแนวคิดดังกล่าวของอาจารย์ป๋วย และบอกเล่าถึงเรื่องราวความต้องการและสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมี รัฐพึงสนับสนุน นับตั้งแต่ลืมตาขึ้นจากครรภ์ของมารดา ถึงวาระสุดท้ายที่เชิงตะกอน หรือปากหลุมฝังศพก็ตามที
    หนังสือ : ผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้นำสันติประชาธรรม
    โดย : เอกวีร์ มีสุข
    จำนวน : 204 หน้า
    ราคา : 235 บาท

    หนังสือชุด "ผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติ" ของสถาบันพระปกเกล้าได้มีการให้นิยามของหนังสือชุดนี้เอาไว้ว่าเป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ "ผู้นำยุคใหม่" ซึ่งความหมายของคำดังกล่าว ตามที่ถูกกล่าวเอาไว้ในหนังสือมีดังนี้ "ผู้นำยุคใหม่ ที่จะต้องเป็นผู้นำ ที่มีปัญญาเชิงปฏิบัติ (Practical Wisdom) คือ เป็นผู้ที่สามารถตัดสินใจว่าอะไรคือสิ่งดีในกาลเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม และสามารถตัดสินใจในการเลือกทางปฏิบัติที่เกิดประโยชน์สูงสุด และผู้นำที่สามารถตัดสินใจบนพื้นฐานของความเข้าใจในบริบทการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เลือกแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในช่วงเวลาที่จำกัดต่างๆ เพื่อประโยชน์ของคนจำนวนมากไม่ใช่เพื่อประโยชน์เฉพาะหน้าหรือของคนใดคนหนึ่งในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง"

    แนวคิด "สันติประชาธรรม" เป็นหลักการที่ อาจารย์ป๋วย ได้นำเสนอไว้และเป็นหลักคิดสำหรับการเกิดสันติ และความเป็นธรรมในแวดวงต่าง ๆ เพื่อขจัดความขัดแย้งด้วยสันติวิธี (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง "สันติประชาธรรม" ที่ https://www.psds.tu.ac.th/santijournal) เป็นอีกหนึ่งแนวคิดสำคัญของ อ.ป๋วย ที่ยังตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

    หนังสือเรื่อง "ผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้นำสันติประชาธรรม" พาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" ที่ต่อให้ผู้อ่านหลาย ๆ คนจะไม่เคยรู้จัก ไม่เคยอ่านงานเขียนของเขา หรือไม่เคยได้ยินชื่อเขามาก่อน แต่ "ผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้นำสันติประชาธรรม" ก็จะช่วยให้เราได้รู้จักเขามากขึ้น เพราะในหนังสือเล่มนี้มีการบอกเล่าข้อมูล ประวัติ แนวคิด การทำงานต่าง ๆ ของป๋วยเอาไว้ได้อย่างชัดเจน นอกจากนั้นแล้ว "ผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้นำสันติประชาธรรม" ยังวิเคราะห์บทบาทของป๋วย ผ่านทฤษฎีและแนวคิดเรื่องของ "ผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติ" เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจและเรียนรู้บทบาทของเขาในฐานะของผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติและเป็นการหาคำตอบว่าเขาเข้ากับแนวคิดดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร โดยเนื้อหาของ "ผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้นำสันติประชาธรรม" แบ่งการบอกเล่าเรื่องราวของ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" ออกเป็นส่วนต่าง ๆ ดังนี้

    ส่วนที่ 1 ป๋วย อึ๊งภากรณ์: ผู้นำสันติประชาธรรม

    ส่วนที่ 2 แนวคิดผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติ

    ส่วนที่ 3 ประวัติชีวิตของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์

    ส่วนที่ 4 การวิเคราะห์และพัฒนาตัวแบบของการศึกษาผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์

    ส่วนที่ 5 บทสรุป

    เมื่ออ่าน "ผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้นำสันติประชาธรรม" จบเรา ผู้อ่านคงจะได้เห็นบทบาทของ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" บ้างไม่มากก็น้อย สำหรับเราที่เรียนและเติบโตมาในสังคม (มหาวิทยาลัย) ที่ป๋วย มีบทบาทและเป็นที่เคารพเชิดชูอย่างยิ่ง หลายครั้งมันลบภาพของความเป็น "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" นักวิชาการที่พยายามสร้างสังคมหนึ่ง ๆ ในดีขึ้นผ่ายการทำงายชั่วชีวิตของตัวเอง เมื่ออ่าน "ผู้นำปัญญาเชิงปฏิบัติ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้นำสันติประชาธรรม" จบลงมันทำให้คิดถึงข้อความอีกท่อนหนึ่งที่ป๋วยเขียนทิ้งเอาไว้ในท่อนสุดท้ายของ "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ที่ว่า  "ตายแล้วเผาผมเถิด อย่าฝัง คนอื่นจะได้มีที่ดินอาศัยและทำกินและอย่าทำพิธีรีตองในงานศพให้วุ่นวายไป นี่แหละคือความหมายแห่งชีวิตนี่แหละคือการพัฒนาที่ควรให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน”

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in