เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ไป (ไม่) ถึงฝั่งฝันฯ By ปุรวิชญ์ วัฒนสุข, วีระ หวังสัจจะโชค
  • รีวิวเว้ย (909) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    เวลาที่พูดถึงเรื่องของ การเลือกตั้งระดับชาติ (ไทย) อะไรคือสิ่งที่หลายคนจับตามอง ? นโยบายของพรรคการเมือง พรรคไหนเสนอใครให้เป็นนายกในนามของพรรค นักการเมืองที่เราชอบหรือให้ความเชื่อมั่น อุดมการณ์ของพรรคการเมืองนั้นและอื่น ๆ ซึ่งก็สุดแท้แต่คนเราจะมอง สิ่งเหล่านี้นับเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากประชาชนในเกือบทุกครั้งที่จะมีการจัดการเลือกตั้งระดับชาติ โดยเฉพาะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา สิ่งต่าง ๆ ในการเลือกตั้งครั้งนั้นดูจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ เพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากที่มีการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 และพรรคการเมืองที่ลงแข่งในครั้งนั้นมีหลายพรรคที่น่าสนใจ โดยเฉพาะพรรค "พลังประชารัฐ" ที่ให้เชื่อว่าบังเอิญตั้งชื่อพรรคได้ตรงกับนโยบาย "ประชารัฐ" ของรัฐบาล คสช. อีกทั้งการเสนอชื่อผู้เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากอดีตผู้นำคณะรัฐประหาร ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่สูตรการคำนวนที่นั่งเคลื่อนและเลื่อนไหลได้ไวยิ่งกว่าการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก การยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ก่อนการเลือกตั้งของศาลรัฐธรรมนูญ กลไกของ 250 สว. ที่มีสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการเลือกตัวนายกรัฐมนตรี อีกทั้งที่มาของ สว. ที่ใครอ่านดูก็รู้ว่าที่มายึดโยงกับประชาชนเหลือเกิน (ประชด) และอื่น ๆ อีกมากมาย การเลือกตั้งในครั้งนั้นจึงเป็นที่จับตามองเป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่เพียงเท่านั้น "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560" ก็น่าสนใจไม่แพ้กันเพราะ พรป. ฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้มีการวางหลักในเรื่องของ "การสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งขั้นต้น" เอาไว้ด้วยซึ่งสิ่งนี้เองก็เป็นปัญหาไม่น้อยสำหรับหลาย ๆ พรรคการเมือง
    หนังสือ : ไป (ไม่) ถึงฝั่งฝัน: ระบบการสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แนวคิด กรณีศึกษา และการนำมาใช้ในประเทศไทย
    โดย : ปุรวิชญ์ วัฒนสุข, วีระ หวังสัจจะโชค
    จำนวน : 202 หน้า
    ราคา : 215 บาท

    หนังสือ "ไป (ไม่) ถึงฝั่งฝัน: ระบบการสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แนวคิด กรณีศึกษา และการนำมาใช้ในประเทศไทย" มุ่งเน้นในเรื่องของการศึกษาเกี่ยวกับ "การสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งขั้นต้น" ตามที่ได้มีการระบุเอาไว้ใน "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560" ซึ่งแน่นอนว่าตอนเริ่มอ่านครั้งแรกหรือเห็นจากชื่อหนังสืออย่าง "ไป (ไม่) ถึงฝั่งฝัน: ระบบการสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แนวคิด กรณีศึกษา และการนำมาใช้ในประเทศไทย" เราก็คิดว่าประเด็นนี้ไม่ค่อยอยู่ในความรับรู้และในความสนใจของหลายคนเท่าไหร่นัก (รวมถึงตัวเราเองด้วย) แต่พอได้อ่านหนังสือเล่มนี้กลับทำให้เราเข้าใจภาพบางภาพที่แอบซ่อนอยู่ภายใต้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ได้มากยิ่งขึ้น และมองมันในมิติที่แตกต่างออกไปจากเดิม

    "ไป (ไม่) ถึงฝั่งฝัน: ระบบการสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แนวคิด กรณีศึกษา และการนำมาใช้ในประเทศไทย" มุ่งเน้นที่การศึกษาใน 2 ประการสำคัญ ได้แก่

    (1) เหตุใดระบบสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จึงไม่สามารถปฏิบัติได้จริง

    (2) รูปแบบและกระบวนการสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงในประเด็นใด ในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวโยงและสัมพันธ์กับข้อกำหนดของ พรป.

    โดยเหตุผลของการศึกษาทั้ง 2 ประการ คือ เพื่อมุ่งเน้นในการแสวงหาตัวแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทย ที่อาจจะช่วยให้มันมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

    โดยเนื้อหาใน "ไป (ไม่) ถึงฝั่งฝัน: ระบบการสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แนวคิด กรณีศึกษา และการนำมาใช้ในประเทศไทย" แบ่งออกเป็นบทต่าง ๆ ดังนี้

    บทที่ 1 บทนำ

    บทที่ 2 แนวคิด และกรณีศึกษาของระบบสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในต่างประเทศ

    บทที่ 3 ปัญหาและอุปสรรคของระบบสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

    บทที่ 4 รูปแบบและกระบวนการสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อให้เกิด "ตัวแบบ" ที่เป็นระบบในการสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย

    บทที่ 5 สรุป

    โดยที่เนื้อหาในแต่ละบทของ "ไป (ไม่) ถึงฝั่งฝัน: ระบบการสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แนวคิด กรณีศึกษา และการนำมาใช้ในประเทศไทย" ช่วยให้เรามองเห็นปัญหาของ "ระบบการสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง" ที่ถูกกำหนดเอาไว้ใน พรป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาจากมุมนี้มาก่อน

    และเมื่ออ่าน "ไป (ไม่) ถึงฝั่งฝัน: ระบบการสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แนวคิด กรณีศึกษา และการนำมาใช้ในประเทศไทย" จบลง ยิ่งทำให้เรามองการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ภายใต้กติการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้ปวดขมับยิ่งขึ้นไปอีก เมื่ออ่านมาถึงหน้าสุดท้าย อยู่ดี ๆ ในหัวก็ผุดคำพูดคำพูดหนึ่งของนักการเมืองจากพรรคการเมืองหนึ่งขึ้นมาว่า " ... การเลือกตั้งนี้รัฐธรรมนูญดีไซน์ (ออกแบบ) มาเพื่อพวกเรา เราจึงต้องใช้ประโยชน์ในส่วนนี้ ทุกคะแนนมีความสำคัญ ฉะนั้นตัวบุคคลในแต่ละเขตแปรเปลี่ยนเป็นคะแนนให้ได้ เพราะทุกคะแนนมีความสำคัญมาก" หรือตัดมาเหลือคำสั้น ๆ ที่เป็นกระแสก่อนการเลือกตั้งว่า "รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา" เมื่อคิดถึงคำพูดดังกล่าวเลยได้ย้อนกลับไปมองที่ชื่อของหนังสืออีกครั้งหนึ่งที่ว่า "ไป (ไม่) ถึงฝั่งฝัน" สงสัยจะจริงอย่างที่ชื่อหนังสือว่าไว้

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in