เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
แปลกพิลก คนรักหนังสือ By Shaun Bythell แปล ลลิตา ผลผลา
  • รีวิวเว้ย (894) หากให้แบ่งคนออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ แบบหยาบที่สุดเท่าที่คิดออก โดยเฉพาะเมื่อแบ่งกลุ่มคนที่เกี่ยวกับเรื่องของ "หนังสือ" เราอาจจะแบ่งได้แค่ 2 กลุ่ม คือ (1) คนอ่านหนังสือ กับ (2) คนไม่อ่านหนังสือ แต่อย่างที่บอกว่าการแบ่งในลักษณะนี้เป็นการแย่งที่โคตรหยาบ เพราะเอาเข้าจริงแล้วเวลาที่พูดโดยการเอา "หนังสือ" เป็นตัวตั้งเราอาจจะเห็นว่ามีคนอีกหลายกลุ่มหลายสิบคนเกี่ยวข้องกับหนังสือ 1 เล่ม ทั้งคนต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ (คนอ่าน) แต่เอาเป็นว่าในสังคมบางแห่งเมื่อพูดถึงเรื่องของหนังสือพวกเขาหลายคนจะเข้าใจว่ามันมีเพียง "คนอ่าน" และ "คนไม่อ่าน" เท่านั้น แน่นอนว่าการเข้าใจแบบนี้ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการออกแบบกิจกรรม (นโยบาย) ในการส่งเสริมวงการหนังสือของสังคมแห่งนั้น ๆ แน่นอนว่าเมื่อมองด้วยสายตาของความหยาบชุ่ย นโยบายหรือกิจกรรมที่ได้จึงเป็นเพียง "ลมปากของคนเขลา" อาทิ "กรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก" ที่หลายปีผ่านมาเราก็มองไม่เห็นว่ามันเมืองหนังสือโลกยังไงยกเว้น "เมืองที่หนังสือแพงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับรายได้ต่อวันของประชากร" น่าแปลกใจที่คนในระดับกำหนดนโยบายของสังคมบางแห่ง มีความประสงค์ให้คนในสังคมของตัวเอง "อ่านหนังสือ" และพยายามพูดว่าอยากให้อ่าน จะหาวิธีให้อ่าน แต่ระบบ เนื้อหา และการสนับสนุนของรัฐคล้ายกับถีบคนทำหนังสือ และคนที่เกี่ยวข้องกับหนังสือทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ลงทะเลโดยไม่มีอะไรให้นอกจากไม้ขีดไฟกล่องเดียว น่าเศร้าใจที่ "เมืองหนังสือโลก" เป็นเพียงโลโก้และสโลแกนโง่ ๆ แบบเดียวกับ "นโยบายของพรรคการเมืองบางพรรค"
    หนังสือ : แปลกพิลก คนรักหนังสือ
    โดย : Shaun Bythell แปล ลลิตา ผลผลา
    จำนวน : 168 หน้า
    ราคา : 215 บาท

    "แปลกพิกล คนรักหนังสือ" ในชื่อภาษาอังกฤษว่า "Seven kinds of people you find in bookshops" ที่บอกเล่าเรื่องราวของคนที่เราสามารถพบเจอได้ใน "ร้านหนังสือ" แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นคือ "ฌอน ไบเทลล์" ผู้เขียนนอกจากจะเป็นผู้สังเกตและจัดกลุ่มให้กับกลุ่มคนที่ปรากฏใน "แปลกพิกล คนรักหนังสือ" แล้ว ตัวเขาเองยังเป็นเจ้าของร้านขายหนังสือมือสองที่ใหญ่ที่สุดในสกอตแลนด์ โดยที่เขาแบ่งกลุ่มลูกค่าออกเป็น "สปีชีส์" ต่าง ๆ คล้ายกับเวลาที่เราหยิบเอาหนังสือวิทยาศาสตร์ขึ้นมาอ่านแล้วเราจะพบว่ามี "ชื่อวิทยาศาสตร์" เป็นภาษา "ละติน" กำกับสปีชีส์เหล่านั้นเอาไว้

    ใน "แปลกพิกล คนรักหนังสือ" ก็เช่นเดียวกันผู้เขียนไปแบ่งสปีชีส์ของกลุ่มนักอ่านที่เขาพบเจอบ่อยครั้งในร้านของเขา และเป็นกลุ่มผู้อ่านที่ดูจะสร้างความหงุดหงิดให้กับเจ้าของร้านหนังสือมากกว่าที่จะสร้างความสบายใจที่มีลูกค้าเข้ามาในร้าน หากเรียกเป็นภาษาสมัยใหม่หน่อยก็อาจจะบอกได้ว่า "แปลกพิกล คนรักหนังสือ" กำลังบอกเล่าเรื่องราวของ "เหล่าลูกค้าเปรต" ที่บางกลุ่มในแต่ละสปีชีส์ที่ปรากฏก็อาจจะไม่เปรต บางกลุ่มก็เปรตน้อย บางกลุ่มเปรตขึ้นมาอีกนิดหน่อย และบางกลุ่มควรถูกเรียกว่า "ชาติเปรต" (โปรดใส่สำเนียงใต้)

    โดยที่เหล่าสปีชีส์ต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ใน "แปลกพิกล คนรักหนังสือ" มันอาจจะไม่ได้ต้องตรงตามบริบทของประเทศไทยเท่าไหร่นัก (เพราะประเทศนี้ร้านหนังสือก็ไม่ได้เยอะนัก คนก็อ่านหนังสือไม่เยอะเท่าไหร่ แถมค่าหนังสือก็แพงฉิบหายเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ) แต่หลายสปีชีส์ที่ปรากฏในคำบอกเล่าใน "แปลกพิกล คนรักหนังสือ" ถ้าเราเป็นคนที่เดินร้านหนังสืออยู่บ้าง หรือติดตามวงการหนังสือบ้านนิดหน่อยเราก็จะพบเหล่าลูกค้าเปรตแบบที่ปรากฏอยู่ใน "แปลกพิกล คนรักหนังสือ" ได้ไม่ยาก

    แต่นอกเหนือไปจากเรื่องของลูกค้าแต่ละสปีชีส์แล้ว "แปลกพิกล คนรักหนังสือ" ทำให้เราเห็นอะไรบางอย่างในวัฒนธรรมการอ่านของสังคมหนึ่ง ๆ โดยเฉพาะเรื่องของการรับซื้อหนังสือเก่า ๆ ตามบ้านเพื่อนำมาเข้าร้าน หรือกระทั่งวัฒนธรรมของการอ่าน และค่าครองชีพที่อาจจะเป็นหนึ่งในคำตอบของคำถามว่า "ทำไมรัฐบาลไทยที่พยายามสร้างความเป็นเมืองหนังสือโลก ถึงไม่เคยทำอะไรแบบนี้ได้สีกที (?)" นอกจากนี้ "แปลกพิกล คนรักหนังสือ" ยังพาเราไปทำความรู้จักกับหนังสือหลาย ๆ เล่มที่ปรากฏอยู่ใน "แปลกพิกล คนรักหนังสือ" และช่วยให้เรามองเห็นคุณค่าบางอย่างของหนังสือเก่าหรือหนังสือมือสองขึ้นมาด้วยเหมือนกัน

    แต่ไม่เพียงเท่านั้น"แปลกพิกล คนรักหนังสือ" ยังหลอกคนอ่านอย่างยิ่งใหญ่ไปด้วยในเวลาเดียวกัน โดยเฉลยสำคัญของการหลอกคนอ่านอยู่ใน "บทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้" แล้วเราจะพบว่า ไม่ใช่แค่ลูกค้าที่เปรต หลาย ๆ ครั้งอีตา "ฌอน ไบเทลล์" ก็นับเป็นคนเปรตด้วยเช่นเดียวกัน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in