เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ By ประจักษ์ ก้องกีรติ
  • รีวิวเว้ย (885) เราจดจำเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 กันแบบไหน ? คำถามใหญ่ในรอบหลายปีของสังคมไทย เพราะบางคนก็จำว่า 14 ตุลาฯ 16 = 6 ตุลาฯ 19 อาทิ เพจเด็กดีเพจหนึ่งที่ลงรูปในเช้าวันที่ 6 ตุลาฯ 2564 ด้วยรูปภาพของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ก่อนที่จะมีการแก้ไขข้อความในภายหลังเพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์และวันที่ นั่นจึงเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญของข้อคำถามที่ว่า "เราจดจำเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 กันแบบไหน ?" เพราะตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาประวัติศาสตร์ของทั้งวันที่ 14 ตุลาฯ 16 และประวัติศาสตร์ของวันที่ 6 ตุลาฯ 19 ดูจะเป็นสิ่งที่ถูกเรียกว่า "ประวัติศาสตร์ต้องห้าม" ที่แทบจะไม่ปรากฏในบทเรียนวิชาประวัติศาสตร์ของรัฐไทย แต่ก็น่าดีใจที่หลายปีมานี้ทั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ ถูกให้ความสำคัญ ความสนใจ กลับมาอยู่ในกระแสของการพูดถึง และกลับมาอยู่ในกระแสของการศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่รัฐไทยพยายามปกปิด เก็บซ่อน และทำให้มันลบเลือนออกไปจากความทรงจำของใครหลายคน แต่แน่นอนว่า เมื่อลืมตาตื่นขึ้นแล้วครั้งหนึ่งการจะทำให้หลับตาลงอีกครั้งย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อเหตุการณ์ "ตาสว่าง" ปรากฏขึ้นแล้ว การเดินหน้าหาหลังฐานของประวัติศาสตร์ซ่อนแอบโดยรัฐ กำลังออกเดินอย่างเป็นทางการ
    หนังสือ : และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา
    โดย : ประจักษ์ ก้องกีรติ
    จำนวน : 576 หน้า
    ราคา : 550 บาท

    "และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา" หนังสือขนาดยาวที่ปรับมาจากวิทยานิพินธ์ปริญญาโทของผู้เขียน ที่ว่าด้วยเรื่องของ "ขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ" โดยที่  "และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา" ได้ทำการศึกษาบริบททางประวัติศาสตร์ และการเมืองเชิงวัฒนธรรมของสังคม (นิสิต-นักศึกษา) ในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อย้อนหาเหตุของความเคลื่อนไหวที่ปรากฏขึ้นในวันที่ 14 ตุลาฯ 2516

    ซึ่งเรื่องราวที่พบเจอจากการศึกษาค้นคว้าของผู้เขียนที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ "และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา" แบ่งออกเป็นบทต่าง ๆ ของหนังสือได้ดังนี้

    บทที่ 1 สู่การเมืองวัฒนธรรมไทย สมัย 14 ตุลาฯ

    บทที่ 2 การก่อตัวทางสังคมของนักศึกษาและเครือข่ายวาทกรรมของปัญญาชน

    บทที่ 3 รัฐบาลทหารกับวัฒนธรรมสงครามเย็น สงครามอินโดจีนกับการควบคุมความจริง

    บทที่ 4 การก่อตัวของกระแสการต่อต้านสงครามเวียดนาม วาทกรรมจากภายนอก ความคิดประชาธิปไตย และกระแสชาตินิยม

    บทที่ 5 การรื้อฟื้นวาทกรรมจากอดีต กษัตริย์ประชาธิปไตย และความคิดสังคมนิยม

    บทที่ 6 บทสรุป แบบเรียนการเมืองวัฒนธรรมจาก 14 ตุลาฯ จากสงครามวาทกรรมสู่การเมืองบนถนนราชดำเนิน

    อาจเรียกได้ว่า "และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา" คืองานกลุ่มแรก ๆ ที่เริ่มต้นศึกษาเรื่องราวของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และเป็นเหมือนจิ๊กซอร์ตัวหนึ่งของภาพเหตุการณ์ตลอดเส้นเวลาประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ยังคงขาดจิ๊กซอร์อีกหลาย ๆ ตัวที่จะช่วยให้ภาพของเส้นประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และหลายปีมานี้เส้นเวลาในเรื่องของประวัติศาสตร์การเมืองไทยกำลังถูกต่อเติมจากข้อมูลและงานศึกษาของนักวิชาการ นักเขียน นักอ่าน และพลังใหม่ ๆ ในสังคมมากยิ่งขึ้น อาจจะเรียกได้ว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาในรอบหลายปีนี้นับเป็นช่วงเวลาของ "และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ" ซึ่งเราเชื่อว่าอีกไม่นานความจริงที่ขาดหายไป จะค่อย ๆ ปรากฏขึ้นจากพลังของการช่วยกันต่อจิ๊กซอร์ของคนรุ่นใหม่

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in