รีวิวเว้ย (883) ในทุกการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเมื่อเป็นการเลือกตั้งในระดับชาติและการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น เรามักจะให้ความสำคัญและให้ความสนใจในการเลือกตั้งครั้งนั้น ๆ อยู่ 2 เรื่องใหญ่ ๆ คือ (1) ใครลงสมัครแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้บ้าง (สังกัดพรรคไหน หรือลูกเต้าเหล่าใครกันที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในรอบนี้) และ (2) นโยบายที่ใช้ในการหาเสียมีอะไรบ้าง ซึ่งในส่วนของนโยบายในการหาเสียอาจจะเห็นชัดในการเลือกตั้งในระดับชาติ แต่ก็ใช่ว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่นนโยบายจะไม่ได้รับความสนใจและให้ความสำคัญเสียเมื่อไหร่ กลับกลายเป็นว่าในสนามการเลือกตั้งยุคหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา "นโยบาย" ที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ถูกให้ความสำคัญกับผู้ไปใช้สิทธิลงคะแนน แต่นอกเหนือจาก (1) และ (2) แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน แต่คนมักไม่ให้ความสนใจและไม่ค่อยให้ความสำคัญ อาจจะด้วยคิดว่ามันไม่เกี่ยวกันหรือไม่ได้ส่งผลต่อกันโดยตรงกับคะแนนเสียงหรือพรรคการเมือง หรือนักการเมืองที่เราไปกาคะแนนให้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็คือเรื่องของ "ระบบเลือกตั้ง" ที่เอาเข้าจริงแล้วเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้ (1) และ (2) เลยก็เป็นได้ เพราะ "ระบบเลือกตั้ง" คือมาตรการในการกำหนดว่าใครจะได้เป็นหรือไม่ได้เป็นผู้แทนของประชาชน ดังที่ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าระบบเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 24 มีนาคม 2564 สร้างความปั่นป่วนให้กับสนามเลือกตั้งระดับชาติได้มากขนาดไหน นี่ยังไม่นับรวมเรื่องของกลไกเสริมอื่น ๆ ในการเลือกตั้งครั้งนั้นอีก นั่นยิ่งทำให้เรามั่นใจว่าเรื่องของ "ระบบเลือกตั้ง" เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ควรให้ความสนใจ และทำความเข้าใจในระบบดังกล่าว
หนังสือ : ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ
โดย : สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
จำนวน : 272 หน้า
ราคา : 280 บาท
หนังสือ "ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ" นับเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่จะช่วยให้เรามองเห็นภาพความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า "ระบบเลือกตั้ง" ว่านอกเหนือไปจากเรื่องของ "ผู้สมัครรับเลือกตั้ง" และ "นโยบายที่ใช้ในการหาเสียง" แล้วยังมีอีกปัจจัยสำคัญหนึ่งอย่างระบบเลือกตั้งที่จะเป็นตัวกำหนดว่าใครจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในแต่ละสนาม ไม่ว่สจะเป็นเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนบัตรเลือกตั้ง หรือกระทั่งวิธีการกำหนดผลคะแนนเลือกตั้งผ่านสูตรคำนวนต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อการเลือกตั้งแทบทั้งสิ้น ดังนั้นระบบเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้เห็นมิติของการเลือกตั้ง่กำลังดำเนินไปในแต่ละครั้งที่การเลือกตั้งถูกจัดขึ้น
โดยเนื้อหาใน "ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ" ประกอบไปด้วยบทตอนต่าง ๆ ดังนี้
บทที่ 1 การเลือกตั้งและระบบเลือกตั้ง ความหมาย หลักการ และพัฒนา
บทที่ 2 ประเภทของระบบเลือกตั้ง
บทที่ 3 กลไกที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้ง
บทที่ 4 ระบบเลือกตั้งและพฤติกรรมการตัดสินใจของประชาชน ทฤษฎี กับ ข้อค้นพบ
บทที่ 5 การปฏิรูประบบเลือกตั้ง โอกาสและข้อจำกัด
บทสรุป บริบททางการเมือง และผลของระบบเลือกตั้ง
ซึ่งเนื้อหาต่าง ๆ ที่ปรากฏใน "ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ" เป็นการช่วยฉายให้เราได้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของระบบเลือกตั้ง ที่ในหลายครั้งระบบเลือกตั้งนี้เองที่เป็นตัวกำหนดชะตากรรมของผู้เลือกตั้ง แทบจะไม่ต่างอะรกับนโยบายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่สังกัด และแม้แต่ตัวของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเอง และที่สำคัญ "ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ" ก็ช่วยตอบคำถามว่า "บัตรเลือกตั้ง" มีความสำคัญอย่างไรต่อการเลือกตั้งถึงได้มีกระแสของการแก้ไขจากบัตร 1 ใบ เป็นบัตร 2 ใบได้ถึงขนาดนั้น
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in