เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
ชุดนิทาน "วาดหวัง" เติมพลังด้วยหนังสือดี
  • รีวิวเว้ย (873, 874, 875, 876, 877, 878, 879, 880) นิทานเป็นเรื่องของเด็กตัวเล็ก ๆ คำพูดที่เรามักจะได้ยินผู้ใหญ่หลายคนพูดกับเด็กที่เริ่มโตขึ้นมาหน่อย คล้ายกับเป็นการตัดบทและบอกพวกเขากลาย ๆ ว่า ผู้ใหญ่เขาไม่อ่านกันหรอกนิทานของเด็ก แต่ผู้ใหญ่เหล่านี้คงหลงลืมอะไรบางอย่างไป โดยเฉพาะเรื่องราวและความทรงจำในวัยเด็ก ผู้ใหญ่บางคนถึงได้โตขึ้นมาจนมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมและเที่ยวชี้หน้าตั้งกฏเกณฑ์ว่าสิ่งนั้น "ผิด" สิ่งนี้ "ถูก" ทั้งที่ตัวเองอาจจะไม่ได้เข้าใจความหมายจริง ๆ ของคำว่า "ผิดและถูก" ในแบบที่สากลโลกเขาเข้าใจกัน อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับนิทานชุดนี้ก็เช่นกัน ที่กระทรวงศึกษาฯ ออกมาชี้แจ้งว่า "นิทานวาดหวัง" ขัดต่อ "ศิลธรรมอันดี" และอาจจะล้างสมองปลูกฝังสิ่งที่ไม่ถูกต้องดีงามให้กับเด็กและเยาวชน เราในฐานะของคนอ่านหนังสือฟังคำของผู้ใหญ่ท่านนั้นก็ได้แต่สงสัยว่า เขาอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการอย่างไรถึงไม่เคยได้อ่าน "แบบเรียนของกระทรวง" ว่ามันก็คือ "โฆษณาชวนเชื่อชิ้นหลังของรัฐไทยนี่เอง" ทั้งเรื่องของคนดี ความดี สิ่งดี ๆ ที่เราอ่านแล้วได้แต่อุทานในใจว่า "เหี้ยไรเนี่ย" ทั้งเรื่องของการปลูกฝังความเกลียดชังเพื่อนบ้านผ่านประวัติศาสตร์ การสร้างมาตรฐานของคนดี-คนเลว แบบที่ละครโทรทัศน์ยังต้องอายในตรรกะการอธิบาย รวมถึงการบอกเล่าความจริงแบบ "ความจริงของใคร" น่าแปลกที่หน่วยงานที่ทำเรื่องของการศึกษากลับ "ใจแคบ" และ "คับแคบ" จนไม่เข้าใจว่าการศึกษาคือการติดอาวุธทางปัญญาที่จำเป็นให้ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถในการ คิด วิเคราะห์ แยกแยะได้ด้วยตัวเอง มิใช่การปลูกฝังโฆษณาชวนเชื่อของรัฐอย่างที่ทำกันมาเนิ่นนาน 
    หนังสือ : ชุดนิทาน "วาดหวัง" เติมพลังด้วยหนังสือดี
    โดย : เรื่องและภาพโดยเหล่าผู้มีความหวัง
    จำนวน : 8 เล่ม
    ราคา : 700 บาท 

    หนังสือชุด "นิทานวาดหวัง" ประกอบด้วยหนังสือนิทานจำนวน 8 เล่ม ที่บอกเล่าเรื่องราวของ ความหวัง ความฝัน ความจริง และความทรงจำบางอย่างที่เกิดขึ้นจริง และเกี่ยวข้องกับประเทศไทย ประเทศที่ไม่แม้แต่จะอนุญาตให้คนรุ่นใหม่มี "ความหวัง" แต่การห้ามปรามหรือกดปราบก็มิอาจกั้นขวาง "ความหวังและความฝัน" ของคนรุ่นใหม่ในสังคมแห่งนี้ได้ โดยหนังสือนิทานทั้ง 8 เล่มประกอบไปด้วย 
    (1) เป็ดน้อย : ที่บอกเล่าเรื่องราวของ "เป็ดน้อย" ที่ต้องเผชิญกับสังคมที่บิดเบี้ยว ผิดรูป ทั้งในเรื่องของความยุติธรรมและความถูกต้อง เป็ดน้อยคือภาพแทนของสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นที่มีความหวังอย่างแรงกล้า บนซากเศษของประเทศที่กำลังจะพังทลายลงในไม่ช้า แต่พวกเขาก็ยังเชื่อมั่นว่า "ประชาธิปไตยจะไม่แพ้พ่าย" 
    (2) เด็ก ๆ มีความฝัน : หนังสือที่บอกเล่าสะท้อนเรื่องราวของ "ความฝันในสังคมที่ดีกว่าเก่า" ทั้งเรื่องของการใช้ชีวิต สิทธิเสรีภาพ การเคารพซึ่งกันและกัน ครอบครัวที่รักใคร่ผู้ใหญ่รับฟังเด็ก โรงเรียนที่เป็นสถานที่ปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้เรียน กระทั่งความฝันถึงสังคมที่เป็น "ประชาธิปไตย" คนทุกคนคือคนที่เท่าเทียมกัน ในตอนท้ายของหนังสือนิทานเล่มนี้ ยังสะท้อนภาพ "ความฝัน" ของคนหลากวัยในโลกจริงเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ เหมือนกับหนังสือกำลังจะบอกเราว่า "ไม่มีใครไม่มีฝัน" 
    (3) เสียงร้องของผองนก : หนังสือที่ถ้าเราตามภาพและตักอักษร เราจะมองเห็นภาพของนกชนิดต่าง ๆ ที่เราเคยพบเจอมันครั้งที่ยังเป็นเด็ก และนกเกือบทุกตัวที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้หลายตัวเป็นนกประจำถิ่น ที่กำลังค่อย ๆ เลือนหายไป หลายตัวเป็นนกใหญ่จากต่างชาติต่างพื้นที่ แต่นกเกือบทุกคนล้วนถูกจับและนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงได้เสมอ แต่เมื่อนกเล็ก ๆ เหล่านั้นรวมตัวกันไม่แน่ว่าสักวันมันอาจจะพังกรงที่ขังพวกมันเอาไว้ออกมาได้ในท้ายที่สุด นอกจากนี้ในส่วนท้ายของหนังสือยังบอกเล่าเรื่องราวของเหล่าคนตัวเล็ก ๆ ที่หาญกล้าท้าทายความเชื่อเดิม ๆ (กรอบกรง) ของสังคม เพื่อถามถึงโลกที่ดีกว่า 
    (4) แม่หมิมไปไหน ? : นิทานที่เล่าเรื่องของนิทานผสานเข้ากับเรื่องจริง ทั้งเรื่องของการทำหน้าที่ของตัวเองในแบบที่สังคมต้องการ และการทำหน้าที่ของตัวเองในแบบที่ต้องการให้สังคมได้เป็น คนมีชื่อเสียงเงินทอง หลายคนไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใดคนบางคนต้องออกมาเรียกร้องมาชุมนุนกลางถนน หากถ้าวันหนึ่งวันใดความอยุติธรรมขยับเข้าใกล้ตัวเขาหรือคนในครอบครัวของเขาเขาอาจจะเข้าใจขึ้นมาบ้าง แต่มันจะไม่ดีกว่าหรือหากยังไม่ต้องให้สิ่งเหล่านั้นเดินทางมาถึง เราก็แค่พยายามให้ได้มาซึ่งสังคมที่อุดมไปด้วยความยุติธรรมอย่างเสมอหน้าและเท่าเทียมกัน 
    (5) แค็ก! แค็ก! มังกรไฟ : หนังสือนิทานที่หยิบเอาภาพของ "มังกรไฟ" มาเป็นภาพแทนของไฟป่า ทค่ในรอบหลายปีมานี้ปัญหาดังกล่าวดูจะเป็นปัญหาสำคัญยิ่งของสังคมไทย ที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติอย่าง PM. 2.5 ที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของคนหลายพื้นที่ โดยที่นิทานเล่มนี้บอกเล่าถึงเรื่องราวของไฟป่า การเตรียมพร้อม และการรับมือเมื่อไฟป้าเกิดขึ้น รวมถึงในส่วนท้ายของหนังสือยังบอกเล่าถึงเรื่องราวที่น่าสะท้อนใจของปัญหาไฟป่า ที่เอาเข้าจริงแล้วเราสามารถจัดการมันได้ตั้งแต่ต้นก่อนที่มันจะกลายร่างเป็นมังกรไฟตัวร้าย 
    (6) ตัวไหนไม่มีหัว : คำโปรยบนปกหน้าของหนังสือนิทานเล่มนี้เขียนเอาไว้ว่า "อยู่ร่วมกันในความต่าง อย่างเคารพคุณค่าแห่งตนและคนอื่น" นิทานเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวของพยัญชนะไทยตั้งแต่ ก. - ฮ. โดยมีการหยิบเอาเรื่องของการ "มีหัวหรือไม่มีหัว" มานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ เพราะนอกจากจะทำให้ผู้อ่านจดจำเรื่องราวของพยัญชนะไทยได้แล้ว ยังช่วยให้เราเข้าใจขึ้นอีกด้วยว่าพยัญชนะทุกตัวที่แตกต่างกันก็เพื่อให้ประกอบสร้างขึ้นมาได้เป็นคำ สำนวน ประโยค บทความกระทั่งหนังสือ เมื่อ้ป็นเช่นนั้น "ความแตกต่าง" จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแยก หากแต่ความแตกต่างมักจะสรรค์สร้างสิ่งใหม่ ๆ ได้เสมอ 
    (7) จ จิตร : หนังสือนิทานที่บอกเล่าเรื่องราวของ "ปัญญาชนสยาม" คนสำคัญอีกคนหนึ่งอย่าง "จิตร ภูมิศักดิ์" นักคิด นักเขียน ผู้สร้างผลงานที่ส่งผลสะเทือนต่อวงวิชาการไทยอย่างยาวนาน ถึงแม้นว่าลมหายใจสุดท้ายของเขาจะถูกดับลงด้วยน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ในวันก่อนที่เขาจะอายุได้ 36 ปีเสียอีก เพียงเพราะเขายืนอยู่คนละฝั่งกับความเชื่อของ "รัฐ" และสิ่งที่เขาทำคือการตั้งคำถามต่อความคุ้นชิ้น ว่าสิ่งเหล่านั้นอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของ ความจริง ความดี ความงามก็เป็นได้ นิทานเล่มนี้บอกเล่าประวัติของจิตร ในฐานะภาพแทนของ "หนึ่งคนที่มีฝัน" ถึงแม้ว่าลมหายใจสุดท้ายจะดับลงตรงชายป่า แต่ความหวังและความฝันของจิตร ภูมิศักดิ์จะยังคงอยู่ไปตลอดกาล 
    (8) 10 ราษฎร COMIC : หนังสือนิทานภาพ ที่ไม่มีแม้แต่ข้อความใด ๆ บรรยายภาพในเล่มนี้ หากแต่เรารับรู้ได้ว่าคนทั้ง 10 ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ก็คือภาพแทนของ "ความหวังและความฝัน" ที่ปรากฏขึ้นและจะดำรงอยู่ในสังคมที่กำลังจพล่มสลายให้กับความอยุติธรรมอันบิดเบี้ยว ที่คนหลายคนเห็นว่ามันถูกต้องและดี เพียงเพราะสิ่งเหล่านั้นคือความคุ้นชิ้นที่หลายคนไม่แม้แต่จะกล้าตั้งคำถาม กระทั่งในวันที่โลกที่อาศัยใกล้พังทลายลงเป็นซากเศษ คนเหล่านั้นก็ยังพร้อมใจที่จะแหลงสลายเพื่อกลายเป็นฐานอันไรราคาให้คนบางกลุ่มเหยี่ยบยืน ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราทุกคนคือ "คนเท่ากัน" 

    หนังสือนิทานทั้ง 8 เล่มใน "ชุดนิทาน "วาดหวัง" เติมพลังด้วยหนังสือดี" สำหรับเราแล้ว มันคือชุดหนังสือนิทานแห่ง "ความหวัง" ที่บอกย้ำกับเราว่า "จงมีหวัง" และจงหยัดยืนขึ้นแม้ในสังคมที่กำลังจะล่มสลาย สังคมที่สั่งห้ามทุกอย่างกระทั่งความฝัน สังคมที่ไม่กล้าแม้แต่จะยอมให้ตั้งคำถาม และห้ามมิให้มีความหวังและความฝัน สังคมแบบไหนกันที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบอกว่า "หนังสือเล่มนี้ไม่ดี" ทั้งที่ตัวเขาเองอาจจะไม่เคยอ่านมันเลย ทำอย่างมากที่สุดก็แค่เห็นภาพปกผ่านทาง Facbook หรือกลุ่ม Line ที่ยังเชื่อว่า "น้ำมะนามผสมโซดารักษามะเร็งได้" ในฐานะของนักอ่าน การตัดสินหนังสือจากปก มันคือความปลอมเปลือกที่เปลือยให้เห็นถึงสภาวะของความไร้สิ้นซึ่งสติปัญญา ผู้ที่มีการศึกษาไม่พึงกระทำ แต่ที่ตลกไปกว่านั้นคือผู้ที่กำลังดิ้นเร่า ๆ ในเรื่องดังกล่าว กลับเป็นกลุ่มคนที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลระบบการศึกษาของเยาวชนทั้งประเทศ น่าสังเวชใจ และน่าตั้งคำถามเป็นอย่างยิ่งว่า "ประเทศแบบไหนที่สั่งห้ามได้กระทั่งไม่ยอมให้เยาวชนมีความฝันและความหวัง"

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in