เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
Moments of Silence: The Unforgetting of the October 9, 1976, Massacre in Bangkok By Thongchai Winichakul
  • รีวิวเว้ย (872) #6ตุลาฯเราไม่ลืม

    สังคมไทยจดจำเดือนตุลาคม ในหลากหลายชุดความทรงจำ ครั้งหนึ่งเดือนตุลาฯ เคยเป็นเดือนที่ถูกขนานนามว่าเป็นเดือนของความสำเร็จของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และเพียงไม่กี่ปีต่อมาเดือนตุลาคมก็ถูกขนานนามอีกครั้งว่าเป็นเดือนของความวิปโยค และนับเป็นจุดสิ้นสุดอีกคราของระบอบประชาธิปไตยของไทย เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ขึ้น ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่มีผู้เสียชีวิตให้ครั้งนั้นไม่น้อย และที่น่ากังวลใจยิ่งกว่าคือในการสูญเสียครั้งนี้นับเป็นการที่คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเองอย่างยินดีและเห็นงามโดยคนบางกลุ่ม และหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ หลายปีผ่านไปเรื่องราวในวันนั้นถูกเก็บเงียบเอาไว้โดยแทบไม่มีใครพูดถึงหรือระลึกถึง กระทั่งเมื่อช่วงเวลาผ่านมาอีกระยะหนึ่งการกลับมาพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯในสังคมไทยจึงได้ปรากฎขึ้น และอยู่ในความรับรู้ของคนหลากหลายกลุ่มยิ่งขึ้นทั้ง 2 เหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลาฯ 2516 หรือ 6 ตุลาฯ 2519 ทำให้เกิดความสับสนขึ้นในสังคมไทยพอสมควร และเกิดการผสมวันระหว่างทั้ง 2 วันดังกล่าวกระทั่งหลายครั้งวันเหล่านั้นกลายมาเป็นวันที่ 16 ตุลาฯ ในความเข้าใจและความรับรู้ของใครหลายคน แต่เมื่อเดือนตุลาคม 2563 วันที่ 16 ตุลาฯ ปรากฏชัดขึ้นอย่างเป็นทางการในสังคมไทย และกลายมาเป็นวันที่มีความหมายในทางการเมืองต่อเหตุการณ์ทางการเมืองอย่างแจ้งชัด เมื่อเกิดเหตุในการปราบผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวระหว่างวันที่ 14-16 ตุลาคม 2563 ที่เหตุการณ์ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้นกระทั่งนำมาสู่การใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง (จีโน่) ในการเข้าปราปรามผู้ชุมนุม ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมโดยส่วนใหญ่เป็นเด็กเยาวชนที่หลายคนยังอยู่ในเครื่องแบบของสถานศึกษา เมื่อตอนที่โดยแรงดันของน้ำจากปืนน้ำบนรถฉีดน้ำแรงดันสูงพุ่งเข้าใส่ หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้นความรับรู้ในเรื่องของวันที่ 16 ตุลาฯ ก็ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน และหลังจากนั้นมาในทุกการชุมนุมโดยสันติของประชาชน มักจะจบลงที่การใช้ความรุนแรงในการกดปราบผู้ชุมนุมเสมอ และดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อวันเวลาค่อย ๆ คืบคลานผ่านไป และน่าแปลกใจที่คนบางกลุ่มยังคงเห็นดีเห็นงามต่อการใช้ความรุนแรงนั้น มันคล้ายกับว่าเหตุการณ์ในครั้งประวัติศาสตร์ที่มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ไม่เคยอยู่ในความทรงจำและความรับรู้ของรัฐไทยและคนไทยบางกลุ่มเลยแม้แต่น้อย น่าเศร้าใจที่ประเทศนี้คนหลายคนกลับไม่เคยจำ "ความรุนแรงโดยรัฐ" ได้เลยสักครั้ง แถมยังเห็นดีเห็นงามโดนเฉพาะเมื่อความรุนแรงเหล่านั้นไม่ได้เกิดกับตัวเอง หรือครอบครัวของพวกเขา
    หนังสือ : Moments of Silence: The Unforgetting of the October 9, 1976, Massacre in Bangkok
    โดย : Thongchai Winichakul
    จำนวน : 285 หน้า
    ราคา : 750 บาท

    หนังสือ "Moments of Silence: The Unforgetting of the October 9, 1976, Massacre in Bangkok" น่าจะเป็นหนังสือเล่มที่เราใช้เวลาอ่าน "ต่อเนื่องและยาวนานมากที่สุด" เพราะตั้งแต่ได้หนังสือเล่มนี้มาตั้งแต่ตอนปี 2563 เราก็พยายามอ่านมันมาโดยตลอดกระทั่งเพิ่งอ่านจบลงเมื่อไม่นานมานี้ (2564) อาจจะด้วยความบกพร่องทางด้านการใช้ภาษาอังกฤษของตัวเราเองเป็นสำคัญ และถ้าเราเข้าใจเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ไม่ผิดพลาดไปนัก การอ่านให้จบในแต่ละบทมันต้องใช้แรงใจในการอ่านที่สูงมาก เพราะในตัวอักษรที่ถูกเขียนขึ้นนั้นมันมาจาก "ความทรงจำที่เต็มไปด้วยบาดแผล" ของทั้งผู้เขียน และผู้เผชิญเหตุการณ์ที่ปรากฏอยู่ในแต่ละบทตอนของหนังสือเล่มนี้

    "Moments of Silence: The Unforgetting of the October 9, 1976, Massacre in Bangkok" บอกเล่าเรื่องราวความทรงจำที่ไม่อาจทำใจให้ลืมเลือนแต่ก็ยากที่จะทำใจให้จดจำ ของเหล่าผู้ร่วมเหตุการณ์ในวันนั้นผ่านรูปแบบของการศึกษา "การเมืองเรื่องของ 'เวลา' (Chronopolitics)" ที่เป็นการพูดถึงเรื่องของ ความทรงจำรวมหมู่หรือความทรงจำทางสังคมว่าถูกสถาปนาอย่างไรและเกี่ยวพันกับความทรงจำของปัจเจกชนอย่างไร ความทรงจำรวมหมู่เปลี่ยนในจังหวะหรือช่วงต่าง ๆ อย่างไร พลวัตรการเมืองที่มีผลต่อความทรงจำ ซึ่ง "Moments of Silence: The Unforgetting of the October 9, 1976, Massacre in Bangkok" มิได้ถ่ายทอดแค่ความทรงจำที่ "ลืมไม่ได้จำไม่ลง" ของเฉพาะฝ่ายที่ถูกกระทำแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ "Moments of Silence: The Unforgetting of the October 9, 1976, Massacre in Bangkok" ยังถ่ายทอดมุมมอง ความทรงจำ และความคิดของ "ผู้กระทำ" ที่ลงมือในเหตุการณ์ในครั้งนั้นเอาไว้ด้วย นั่นยิ่งทำให้งานชิ้นนี้มีสภาวะของความซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก

    แต่จากการอ่าน "Moments of Silence: The Unforgetting of the October 9, 1976, Massacre in Bangkok" ด้วยความสามารถภาษาอังกฤษอันน้อยนิด สิ่งหนึ่งที่เรามองเห็นคือความทรงจำบาดแผลของคนบางกลุ่ม อาจจะเป็นเหรียญตราแห่งความกล้าหาญของคนบางกลุ่ม และในกลุ่มของผู้ประดับเหรีญตราแห่งความกล้าหาญเอง ก็อาจจะมีบางคนที่ติดอยู่ในสภาวะของการ "จำไม่ได้ลืมไม่ลง" เช่นเดียวกัน

    และในปัจจุบัน เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ดูจะไม่ใช่ "Moments of Silence" อีกต่อไป เพราะเรื่องเหล่านี้กำลังถูกหยิบขึ้นมาบอกเล่า ทบทวน สางปม ผ่านกิจกรรม "ครอบรอบ 45 ปี 6 ตุลาฯ 2519" ภายใต้โครงการ "5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง" https://youtu.be/tn-3G4gVZuk ท่อนหนึ่งของเพลงนี้บอกเอาไว้ว่า "ถ้ายังหลับไหล แล้วเจอฝันร้าย ฉันขอลืมตา ... ให้ตื่นคราวนี้ นั้นมีความหมาย ไม่เหมือนดังเดิม" และข้อความของหมอมิ้งที่ปรากฏในคลิป "เปิดกล่องฟ้าสาง" https://youtu.be/3LvtRG0rVFI ก็บอกกับทุกคนเอาไว้ว่า "พวกเพื่อน ๆ ไม่ตายเปล่า ชีวิตพวกเราที่สูญเสียไปมันมีคุณค่าในเวลาต่อมา"

    หมายเหตุ: สามารถอ่านเพิ่มเติมประเด็นจาก (ร่างฉบับเต็ม) สำหรับการเสวนา “6 ตุลา 2519 ถึง 6 ตุลา 2563” คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อ 6 พ.ย. 2563 ได้ที่ https://prachatai.com/journal/2020/11/90563

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in