เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
รัฐ ท้องถิ่น: ต้นทางแห่งอำนาจและปลายทางของศักยภาพฯ By ทวิดา กมลเวชช
  • รีวิวเว้ย (871) ความน่ากังวลประการสำคัญของ "หนังสือวิชาการ" โดยเฉพาะหนังสือวิชาการเล่มหนา มันมักมีจริตของความเป็น "วิชาการ/ภาษาวิชาการ" กำกับอยู่เสมอ ในหลายครั้งจริตของความเป็นวิชาการ (จ๋า ๆ) เช่นนี้เองที่ทำลายเป้าประสงค์ของการสื่อสารเนื้อหาต่อผู้อ่านหรือผู้รับสาร หนังสือวิชาการดี ๆ หลายเล่มในประเทศไทย จึงมีที่สถิตสถาวรอยู่ที่ "ห้องสมุด" หรือ "ชั้นหนังสือของนักวิชาการ" ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หากหนังสือวิชาการทิ้งจริตของ "ภาษาวิชาการ" และลองถ่ายทอดเรื่องราวทางวิชาการผ่านภาษาปกติ (ภาษาคน) อาจจะช่วยให้เนื้อหาและองค์ความรู้ทางวิชาการ สามารถแพร่กระจาย และเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถ เข้าถึง เข้าใจ และนำเอาความรู้เหล่านั้นไปปฏิบัติใช้ได้ ซึ่งนับเป็นการช่วยลดปัญหาที่วงวิชาการชอบพูดว่า "งานบนหิ้ง" ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับงานวิจัยที่เป็น "พื้นฐานสำคัญ" ที่คนทุกคนต้องเรียนรู้ มิใช่แค่นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัยเท่านั้น อย่างในกรณีของศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของ "การจัดการภัยพิบัติ" ที่หากประชาชนทั่วไป ผู้ปฏิบัติงาน ชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัย มีโอกาสในการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และฝึกฝนตัวเองอยู่บ่อยครั้ง พวกเขาก็จะสามารถรับมือหรือ "บรรเทาความรุนแรง" ในการเผชิญภัยเหล่านั้นลงได้ และสามารถเอาตัวรอดได้เพื่อรอให้ความช่วงเหลือมาถึง งานวิจัยหรืองานวิชาการในกลุ่มนี้จึงยิ่งมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างงาน และถ่ายทอดผลงานในภาษาที่คนปกติสามารถอ่านได้ง่าย เข้าใจได้ด้วยตัวเอง เพราะเมื่อภัยมา พวกเขา (ในพื้นที่) คือด่านแรกที่ต้องเผชิญภัย และลดความรุนแรงของมันให้ได้ในเบื้อต้น ภัยพิบัติหลายภัยที่เกิดขึ้นหากจัดการควบคุมได้แต่ต้นมือ มันจะไม่ขยายตัวกระทั่งกลายเป็น "หายนะภัย" ที่ไม่อาจควบคุม และถ้าคนหน้างานหรือผู้เผชิญภัยกลุ่มแรก ๆ รับมือมันได้อย่างเข้าใจ "ความบิดเบี้ยวของวิกฤติ" จะถูกผ่อนให้เบา และบรรเทาลงได้ในท้ายที่สุด ด้วยคนหน้างาน ประสบการณ์ และการจัดการที่เป็นระบบ ภายใต้การเรียนรู้ ฝึกฝน และไม่ฟืนหากทำไม่ไหวก็ถอยมาตั้งรับ และกระจายอำนาจให้กับผู้เชี่ยวชาญในประเด็นของใครของมันเป็นคนลงมือทำ และถอดบทเรียนอย่างเป็นระบบหลังวิกฤติพ้นผ่าน อีกทั้งนำเอาบทเรียนเหล่านั้นมาเป็นฐานของการเรียนรู้ ฝึกฝน และเตรียมการในการรับมือในวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้า เหมือนข้อความตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ที่เขียน "สำทับ" เอาไว้ว่า "วิกฤติอนุญาตให้เราผิดพลาดได้ แต่ต้องไม่ผิดพลาดในวิกฤติแบบเดิม"
    หนังสือ : รัฐ ท้องถิ่น: ต้นทางแห่งอำนาจและปลายทางของศักยภาพการจัดการวิกฤติพื้นที่เสี่ยงภัย
    โดย : ทวิดา กมลเวชช
    จำนวน : 458 หน้า
    ราคา : 460 บาท

    หนังสือเรื่อง "รัฐ ท้องถิ่น: ต้นทางแห่งอำนาจและปลายทางของศักยภาพการจัดการวิกฤติพื้นที่เสี่ยงภัย" คือ หนังสือที่เราในฐานะของคนอ่านตั้งตารอคอยมาเนิ่นนาน เพราะหนังสือหมวดที่ว่าด้วยเรื่องของ "ภัยพิบัติ" ในภาษาไทยนั้นมีอยู่น้อย ถึงน้อยมาก น้อยขนาดที่ว่าเราน่าจะสามารถนับจำนวนของหนังสือในหมวดนี้ด้วยนิ้วบนมือของตัวเอง โดยไม่ต้องขอยืมมือของคนข้าง ๆ มาช่วยนับแต่อย่างใด

    "รัฐ ท้องถิ่น: ต้นทางแห่งอำนาจและปลายทางของศักยภาพการจัดการวิกฤติพื้นที่เสี่ยงภัย" บอกเล่าเรื่องราวของ "การจัดการวิกฤติ" ในลักษณะของหนังสือที่เราอยากให้นิยามว่าเป็น "คู่มือ" และ "ชุดความรู้" สำหรับการจัดการวิกฤติและภัยพิบัติแบบครอบวงจร เพราะเนื้อหาแต่ละบท แต่ละตอนนั้นครอบคลุมในเรื่องของระบบการจัดการภัยพิบัติและสภาวะวิกฤติ อีกทั้งเนื้อหาต่าง ๆ ใน "รัฐ ท้องถิ่น: ต้นทางแห่งอำนาจและปลายทางของศักยภาพการจัดการวิกฤติพื้นที่เสี่ยงภัย" เหมาะสำหรับคนเกือบทุกคน ต่อให้ไม่มีความรู้มาก่อนในเรื่องดังกล่าว แต่ถ้าสนใจหนังสือเล่มนี้ก็จะช่วยให้คุณเข้าใจการจัดการวิกฤติและการจัดการภัยพิบัติได้อย่างดี อีกทั้งเนื้อหาในหนังสือยังมีการชี้ให้เห็นตัวอย่างของการดำเนินงานที่มีทั้งคะแนนในแดนบวก และคะแนนในแดนลบ เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างให้ผู้อ่านสามารถเห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเนื้อหาของ "รัฐ ท้องถิ่น: ต้นทางแห่งอำนาจและปลายทางของศักยภาพการจัดการวิกฤติพื้นที่เสี่ยงภัย" ประกอบไปด้วยบทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    บทที่ 1 ก้าวแรกการเข้าสู่วิกฤติ เนื้อหาในบทนี้จะว่าด้วยเรื่องของการกำหนด "นิยาม" ของสิ่งที่เรียกว่าวิกฤติ ฉุกเฉิน ภัยพิบัต หายนะ และบอกเล่าถึงเรื่องราว พัฒนาการและพลวัตรของวงจรเหล่านี้จากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดหายนะ หากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที อีกทั้งในส่วนของบทที่ 1 ยังมีการขยายภาพให้ผู้อ่านได้ความเข้าใจในเรื่องของการจัดการวิกฤติในลักษณะต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อน และมีความเป็นเรื่องเชิงเทคนิคที่การจัดการหรือการรับมือจำเป็นที่จะต้องอาศัยกลไก ความร่วมมือ จากตัวแสดงที่มีศักยภาพมากพอจากหลายภาคส่วนเข้ามาประกอบกันคล้ายรูปแบบของจิ๊กซอว์ที่จะทำให้ภาพหนึ่งภาพ หรือการจัดการรับมือภัยหนึ่งภัยลุล่วงไปได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะดำเนินการได้ต้องอาสัยจิ๊กซอว์หลาย ๆ ตัวมาต่อกัน

    บทที่ 2 พื้นที่ของวิกฤติ ขอบเขตมีจริงหรือไม่ เนื้อหาในบทนี้จะบอกเล่าเรื่องราวของสิ่งที่ผู้เขียนนิยามมันว่า "พื้นที่" หากแต่พื้นที่ในบทนี้มิได้หมายถึงพื้นที่เกิดเหตุ หรือสถานที่เกิดภัยแต่ประการใด หากแต่ในบทนี้ผู้เขียนชี้ให้เรามองหา และมองให้เห็นพื้นที่ ที่นักรัฐศาสตร์ชอบเรียกว่าพื้นที่ "ทับซ้อนเชิงอำนาจ" ที่เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นแล้วหลายครั้งพื้นที่เหล่านี้ที่อำนาจต่าง ๆ มาชนกันดูจะเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติขึ้นมาเสียได้ และอาจกลายไปเป็ยหายนะใหญ่ในวิกฤติเสียอย่างนั้น ในบทนี้ผู้เขียนจึงชี้ให้เราดูพื้นที่ปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจ และการประสานความร่วมมือของกลไกเชิงพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อจัดการกับวิกฤติในยามที่วิกฤติเกิดขึ้น

    บทที่ 3 สมการความเสี่ยง ศักยภาพของพื้นที่ในวิกฤติ เนื้อหาของบทนี้จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการจัดการวิกฤติผ่านกลไกและเครื่องมือต่าง ๆ ที่สามารถทำงานเพื่อคลี่คลายวิกฤติ ผ่านกลไกเชิงพื้นที่ที่ต่อเนื่องมาจากบทที่ 2 และต้องเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ (กายภาพ) ที่มีวิกฤติเกิดขึ้น โดยบทนี้ผู้เขียนได้บอกเล่าถึงการจัดการวิกฤติ ผ่านกลไกสำคัญอย่าง คน ข้อมูล การประสานงาน และการใช้เงิน (ให้เป็น) ในการแก้ปัญหาและรับมือกับวิกฤติที่หลายครั้งมันคือวิกฤติที่ไม่คาดคิด และหลายครั้งมันก็อาจจะเป็นวิกฤติที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน ซึ่งในบทนี้ได้ชี้ชวนให้เห็นถึงกลไกที่เหมาะควรแก่การดำเนินงานในการจัดการวิกฤติอย่างเป็นระบบ (มีสติ สมาธิ ปัญญา)

    บทที่ 4 การจัดการวิกฤติ งานหน้าบ้าน หลังบ้าน หลังคา เสาเอก และใต้ถุนเรือน เนื้อหาในบทที่ 4 เป็นการแยกเอาส่วนต่าง ๆ ของ "การจัดการวิกฤติ" ออกมาให้เห็นเป็นส่วน ๆ โดยที่ผู้เขียนกำลังบอกกับผู้อ่านว่าในบ้านหลังหนึ่งมันไม่มีส่วนไหนที่จะสำคัญมากน้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะเมื่อส่วนประกอบเหล่านั้นคือหัวใจสำคัญของบ้านหลังหนึ่ง ๆ หากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปบ้านก็อาจจะถล่มลงมาทับผู้อยู่อาศัย หรือมันอาจจะไม่สามารถเรียกว่า "บ้าน" ได้เลยตั้งแต่แรก ในการจัดการวิกฤติก็เช่นเดียวกัน หากขาดองค์ประกอบหนึ่งใดไป ก็อาจจะสร้างความเสียหาย (ฉิบหาย) ที่ไม่อาจประเมินให้กับวิกฤติครั้งนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ งานหน้าบ้านหลังบ้านอย่างการสื่อสาร แผนการดำเนินงานที่ผู้เขียนเปรียบกับหลังคาบ้าน มาตรการลดความเสียงที่ผู้เขียนเปรียบกับเสาเอกของบ้าน และการถอดบทเรียนที่ใช้ได้และต้องนำมาศึกษาทบทวนโดยเปรียบกับงานใต้ถุนบ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบสำคัญของบ้านหลังหนึ่ง ๆ โดยเฉพาะเมื่อเราจะต้องสร้างและต่อเติมบ้านอยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อวิกฤติหรือภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่คาดคิด

    บทที่ 5 มาตรฐานสากลกับความเฉพาะพื้นที่ อะไรที่ทำได้ บทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ คือ บทที่เราอยากเรียกว่า "บทขยี้กล่องดวงใจ" เพราะในบทนี้ ผู้เขียนได้หยิบเอาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในประเทศไทยจำนวน 6 ภัยพิบัติ มากางออกและชี้ให้ผู้อ่านดูไปที่ละส่วนว่า การจัดการรับมือภัยทั้ง 6 ที่ผ่านมาของประเทศไทยเป็นเช่นไร สามารถรับมือจนลดระดับความรุนแรง หรือทำให้ภัยพิบัติกลายเป็นหายนะภัยที่ใหญ่กว่าจุดเริ่มแรกหลายเท่าตัวได้อย่างไร โดยภัยที่ถูกหยิบยกมาในบทนี้ได้แก่ สึนามิ 2557, น้ำท่วมใหญ่ 2554, แผ่นดินไหวเชียงราย 2557, ฝุ่นควัน (PM.2.5) 2562, ไฟไหม้หมิงตี้ 2564 และ โควิด-19 (ที่ไม่รู้จะไปจบตรงไหน) โดยผู้เขียนได้วิเคราะห์ภัยพิบัติต่าง ๆ โดยหยิบเอาองค์ความรู้จากบทที่ 1-4 มาตี ทุบ ตบ ทึ้ง ในกรณีพิบัติต่าง ๆ ให้ผู้อ่านได้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน

    อีกทั้งในส่วนท้ายของบทที่ 5 นี้ ผู้เขียนยังได้ขมวดปมตอนจบของหนึ่งสือเอาไว้ภายใต้ชื่อ "ปลายทางของบทเรียนการบริหารจัดการวิกฤติจากต้นทางพื้นที่เสี่ยงภัย" ซึ่งเป็นการขมวดปมจบท้าย ให้ผู้อ่านได้เข้าใจว่าในการรับมือวิกฤติมีความจำเป็นใดบ้างที่จำเป็น และสิ่งใดบ้างในกลไกของรัฐไทย ณ ช่วงเวลานี้จำเป็นต้องปรับ เพื่อให้สอดรับกับการเตรียมการในการรับมือภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ วันใดก็ได้ อย่างเป็นระบบและทันท่วงที  และในตอนท้ายของหนึ่งสือเล่มนี้ผู้เขียนยัง "ฝากไว้ให้คิด" อีกต่อหนึ่งว่า "ในโลกของความเสี่ยง สิ่งที่เรารู้วันนี้ คิดได้วันนี้ เชื่อว่าดีในวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่าแล้ว" จากข้อความตอนท้าย และเนื้อหาตลอดทั้งเล่มของ "รัฐ ท้องถิ่น: ต้นทางแห่งอำนาจและปลายทางของศักยภาพการจัดการวิกฤติพื้นที่เสี่ยงภัย" ทำให้เราสรุปสั้น ๆ ได้ว่า เช่นนั้นเราควรใช้ "ความรู้" มากกว่าการ "สวดมนต์ (ดวง)" ในการรับมือวิกฤติและภัยพิบัติ



เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in