เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
BEING YOUNG IN THE RED ZONE By จามี่ เลาะวิถี
  • รีวิวเว้ย (868) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    เราจำไม่ได้แล้วว่าเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ (?) และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกิดขึ้นตอนไหน อย่างไร และเพราะอะไร แต่ที่จำได้คือ มันนานมากแล้วที่เหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้น และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งการที่เราอยู่ในครอบครัวของทหารเรือ ที่มีหน่วยงานหรือกำลังพลที่ต้องถูกผลัดเปลี่ยนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ด้วยแล้ว เรามักจะได้ยินเรื่องราวที่น่าหวาดวิตกเกี่ยวกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เสมอ ๆ ไม่ว่าจะเป็น การวางระเบิด เหตุการณ์เผาโรงเรียน เหตุการณ์ยิงครู ยิงทหาร ยิงพระ คาร์บอม และอื่น ๆ มันทำให้หลายสิบปีที่ผ่านมาภาพจำเกี่ยวกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของเราถูกจัดอยู่ในกลุ่มของ "พื้นที่อันตราย" แต่เมื่อเรียนปริญญาตรีจบลง และได้งานชิ้นแรกคือการลงพื้นที่วิจัยเพื่อเก็บข้อมูล และหนึ่งในจังหวัดที่ต้องลงไปเก็บข้อมูลคือจังหวัด "ยะลา" หนึ่งในพื้นที่ที่เราเคยมองว่าน่ากลัวและอันตราย แต่หลังจากใช้ชีวิตในพื้นที่ร่วม 2 สัปดาห์ เราพบว่าความน่ากลัวและความอันตราย ที่เราเคยคิดถึงและกังวลกับมันส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการ "คิดเอาเอง" ผ่านข้อมูลชุดต่าง ๆ ที่ได้รับมา ถึงแม้นว่าพื้นที่ดังกล่าวอาจจะไม่ได้ปราศจากความรุนแรงและเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ความเป็นเมือง ความเป็นชุมชน และความสวยงามของพื้นที่และผู้คน ยังคงดำเนินไปในพื้นที่ที่เรามองเห็นว่ามันอันตรายและน่ากลัว
    หนังสือ : BEING YOUNG IN THE RED ZONE
    โดย : จามี่ เลาะวิถี
    จำนวน : 216 หน้า
    ราคา : 190 บาท

    "BEING YOUNG IN THE RED ZONE" หนังสือรวมบทสัมภาษณ์ของกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ที่หลายคนมองว่าอันตรายและน่ากลัว ซึ่ง "BEING YOUNG IN THE RED ZONE" คือการเปิดบทสนทนาให้พวกเราได้รับรู้เกี่ยวกับมุมมองของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ที่มีต่อพื้นที่ของตัวเอง ที่คนรุ่นใหม่บางคนใช้เวลาทั้งชีวิตนับตั้งแต่ลืมตาดูโลกอยู่ในพื้นที่ของความขัดแย้ง และอยู่กับพื้นที่ที่ใช้กฎหมายพิเศษในการควบคุมพื้นที่มาตลอด ความคิดและความรับรู้ของพวกเขาจึงแตกต่างจากสายตาของคนที่มองจากข้างนอกเข้าไปข้างใน แต่ "BEING YOUNG IN THE RED ZONE" กำลังบอกเล่าเรื่องของคนข้างใน จากสายตาของคนข้างใน ผ่านคำถามของคนข้างนอก ซึ่งมันจะช่วยให้เรามองเห็น และเข้าใจเหตุการณ์และความรับรู้ของคนรุ่ยใหม่ที่มีต่อบ้านของพวกเขาเองได้ดีขึ้น

    "BEING YOUNG IN THE RED ZONE" สัมภาษณ์คนรุ่นใหม่โดยเนื้อหาถูกแบ่งออกเป็น 9 ตอน และมีผู้ถูกสัมภาษณ์มากกว่า 9 คน ซึ่งแต่ละคนอายุยังไม่ถึง 30 ปี นั่นแปลว่ากลุ่มคนที่ปรากฏใน "BEING YOUNG IN THE RED ZONE" คือคนรุ่นใหม่ ที่อย่างน้อยชีวิตของพวกเขาต้องอยูากับการรับรู้ และเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้วอย่างน้อยน่าจะเกิดกึ่งหนึ่งของช่วงชีวิตพวกเขา

    "BEING YOUNG IN THE RED ZONE" ทำให้เรามองเห็นจุดร่วมของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ผ่านบทสัมภาษณ์ขนาดกึ่งสั้นกึ่งยาว ที่เรื่องราวของทุกคนประกอบด้วย 2 สิ่งสำคัญ คือ (1) ความฝัน และ (2) ความหวัง ที่ทุกคนอยากเห็นบ้านที่ตัวเองอยู่ดีขึ้นในวันข้างหน้า และฝันว่าพวกเขาจะได้ทำตามความฝันของตัวเอง แม้หลายครั้งด้วยความเป็นพื้นที่สีแดง และพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์กลางของการปกครอง (กรุงเทพฯ) ทำให้พวกเขาสูญเสียโอกาสสำคัญ ๆ ไปมากมาย แต่สุดท้าย "BEING YOUNG IN THE RED ZONE" ก็บอกกับเราว่าพวกเขาจะไม่มีทางหยุดหวัง และหยุดฝัน เพียงเพราะความห่างไกล และความไม่สงบที่เกิดขึ้นในบ้านของพวกเขา สักวันหนึ่งมันจะดีขึ้นและพวกเขาอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมแก้ปัญหาของบ้านของพวกเขาให้ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะสามารถทำได้

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in