เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
เมื่อผมถูกทรมาน ... ผมจึงมาตามหาความยุติธรรม By มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
  • รีวิวเว้ย (865) โตขึ้นอยากเป็นอะไร "อยากเป็นตำรวจครับ" คำตอบในครั้งอดีตของบุคคลที่ถูก "ตำรวจซ้อมทรมาน จากความผิดของคดีความที่เขาไม่ได้ก่อ ข้อความอีกตอนหนึ่งเขียนเอาไว้ว่า "ผมเชื่อมาตลอดทั้งชีวิตว่า 'โรงพัก' คือสถานที่ 'เพื่อประชาชน' อย่างสุดใจ ... แต่วันนี้ สิ่งที่พบเจออยู่ขณะนี้มันได้ลบล้างความเชื่อของผมไปเสียหมดสิ้น มันทำให้ผมกลัวสถานที่นี้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ชุดสีกากีที่ทำงานอยู่ในสถานที่แห่งนี้" ข้อความต่าง ๆ ที่ปรากฏในบทที่ 1 ของหนังสือ "เมื่อผมถูกทรมาน...ผมจึงมาตามหาความยุติธรรม" อ่านแล้วก็ทำให้เราตั้งข้อสงสัยกับระบบราชการ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม ที่เหมือนจะไม่เคย "ยุติธรรม" ดังชื่อของระบบยุติธรรมเสียที กรณีของตำรวจที่ใช้ถุงดำครอบหัวผู้ต้องหาที่ "นครสวรรค์" นั่นไม่ใช่การกระทำครั้งแรกของระบบอำนาจสีกากี และก็อาจจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของการกระทำดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน หากเราอ่านข่าวเราจะเห็นการใช้อำนาจมิชอบของกลไกราชการอยู่บ่อยครั้งทั้งอำนาจมิชอบของ "ทหาร" และ "ตำรวจ" รวมถึง "ข้าราชการ" อื่น ๆ ที่มักเข้าใจว่าตนเองมีอำนาจที่เหนือกว่าประชาชน และตัวของพวกเขาเองจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ในการกดหัวประชาชนให้ก้มต่ำให้กับพวกเขา ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นแต่ในประเทศไทยมันเกิดขึ้นบ่อยครั้งกระทั่งหลายคนเห็นมันเป็นเรื่องปกติจนชาชิ้น หากแต่ถ้าเมื่อไหร่เหยื่อหรือผู้ถูกกระทำเป็นญาติ เป็นพี่น้อง เป็นคนในครอบครัวของเราเราจึงจะเริ่มให้ความสำคัญกับมันทั้งที่จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้อันเกิดจากการใช้อำนาจอันมิชอบของทางราชการจำเป็นจะต้องถูกตรวจสอบ ตั้งคำถาม ต่อการใช้อำนาจและการกระทำต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาเหล่านั้น "หลงอำนาจ" กระทั่งถึงขนาด "บ้าอำนาจ" อย่างที่มีตัวอย่างปรากฏอยู่บ่อย ๆ ในสังคมแห่งนี้ โดยเฉพาะกับ "ตำรวจ" ที่ยิ่งนับวันมาตรฐานทางวิชาชีพยิ่งลดต่ำลงทุกวัน หากจะแก้ตัวตามคำของนายตำรวจใหญ่คนหนึ่งที่ว่า "ตำรวจไม่ดีมีน้อย ตำรวจดีมีเยอะกว่ามาก" แต่ทุกวันนี้ "ตำรวจที่บอกว่ามีน้อยกำลังแสดงศักยภาพขององค์กรตำรวจออกมาอย่างต่อเนื่อง" แน่นอนว่าเราเองมีเพื่อน พี่ น้องที่เป็นตำรวจอยู่พอสมควร และทุกคนที่เรารู้จักก็เป็น "คนดี" ในความรับรู้ของเรา จนเหล่าหลงนึกไปว่าพวกที่เรารู้จักคือ "ส่วนน้อย" ของคนในวงการตำรวจเสียอีก
    หนังสือ : เมื่อผมถูกทรมาน ... ผมจึงมาตามหาความยุติธรรม
    โดย : มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
    จำนวน : 186 หน้า
    ราคา : 200 บาท

    "เมื่อผมถูกทรมาน ... ผมจึงมาตามหาความยุติธรรม" หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของครอบครัว "ชื่นจิตร" ที่ลูกชายคนโตตกเป็นผู้ต้องสงสัยในเรื่องของการชิงทรัพย์ และถูกเจ้าหนัาที่ตำรวจสั่งให้ไปที่โรงพักเพื่อที่จะได้ให้ผู้เสียหายมาชี้ตัว หากไม่ใช่ผู้ก่อเหตุจะได้แยกย้ายกลับบ้าน แต่การชี้ตัวของผู้เสียหายในครั้งนั้นกลับชี้ตัวลูกชายคนโตของครอบครัวชื่นจิตรว่าเป็น "ผู้ก่อเหตุ" ทั้งที่เจ้าตัวมีหลักฐานในเรื่องของที่อยู่ ทั้งในรูปของตั๋วหนัง และพยานปากสำคัญที่ดูหนังด้วยกันตลอดบ่าย

    "เมื่อผมถูกทรมาน ... ผมจึงมาตามหาความยุติธรรม" เล่าเรื่องราวของการ "เค้นความจริง" ของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยการ "ซ้อมและทรมาน" เพื่อให้ผู้ต้องสงสัยรับสารภาพ ซึ่งเรื่องราวที่ปรากฏขึ้นใน "เมื่อผมถูกทรมาน ... ผมจึงมาตามหาความยุติธรรม" คือการบอกเล่าช่วงเวลาของการซ้อมทรมานโดยตำรวจ ทั้งการใช้ความรุนแรง และการใช้ถุงคลุมหัวเพื่อให้ขาดอากาศหายใจเพื่อให้ยอมรับสารภาพ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ถูกทรมานย่อมต้องสารภาพเพื่อรักษาชีวิตต่อให้ตัวเองไม่ใช่ผู้กระทำผิดก็ตามที

    "เมื่อผมถูกทรมาน ... ผมจึงมาตามหาความยุติธรรม" ยังบอกเล่าเรื่องราวหลังจากนั้น ทั้งเรื่องของการสู้คดี และการแจ้งความกลับต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำความรุนแรงในครั้งนั้น ซึ่ง "เมื่อผมถูกทรมาน ... ผมจึงมาตามหาความยุติธรรม" แสดงให้เห็นถึงจุดบกพร่องของระบบราชการไทย และระบบยุติธรรมของไทยได้อย่างชัดเจน รวมถึงระบบพวกพ้องที่เป็นกลไกสำคัญที่ดำรงระบบราชการของไทยเอาไว้ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังดีที่ในหนังสือเล่มนี้ยังบอกกับเราว่า "ความหวังยังมีอยู่เสมอ" สำหรับผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ต่อให้ต้องต่อสู่กว่า 12 ปีเพื่อทวงถามหาความยุติธรรมก็นามที

    ในตอนท้ายของ "เมื่อผมถูกทรมาน ... ผมจึงมาตามหาความยุติธรรม" กำลังบอกกับเราทุกคนว่า จะไม่เป็นการดีกว่าหรือที่การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม จะไม่ต้องใช้เวลาในการต่อสู้เรียกร้องที่นานขนาดนั้น อีกทั้งการต่อสู้ที่แสนนาน มันต้องใช้ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัยพ์มากมายขนาดไหนในการต่อสู้ จะไม่เป็นการดีกว่าหรอกหรือที่ "ระบบยุติธรรมความยุติธรรมเสียที" ซึ่งอาจจะเริ่มต้นก้าวแรกที่ "ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย)" เพราะรัฐไทยและระบบราชการไทยคือศูนย์รวมอำนาจนำ (Hegemony) และอำนาจมืด ที่แทบจะไม่เคยเห็นค่าชีวิตของประชาชน น่าเวทนาที่ระบบดังกล่าวกลับสร้างกลุ่มผู้ร้ายในเครื่องแบบแทบจะตลอดเวลา เพียงเพราะไม่มีใครกล้าตรวจสอบ ไม่มีใครกล้าเอาผิด เพราะกฎหมายที่เคยใช้กันตลอดมา เชื่อว่าคนเหล่านั้นคือ "คนดี" เอาเข้าจริงมันมีอยู่จริง ๆ หรอไอ้ที่เรียกกันว่าคนดี ?


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in