รีวิวเว้ย (853) หลายสิบปีก่อน เราเคยเปิดอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วครั้งหนึ่ง จำไม่ได้ว่าเป็นเล่มของฉบับพิมพ์ครั้งที่เท่าไหร่ หากแต่จำช่วงเวลาที่เปิดอ่านได้ว่าเป็นช่วงมัธยมต้น ซึ่งทุกวันนี้อีกไม่กี่ขวบปีอายุก็จะเหยียบเข้าสู่เลข 30 แล้ว ตอนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกเมื่อตอนนั้น เรากลับไม่ได้รู้สึกอะไรมากมายนักกับเรื่องราวของ "หมูบินได้" อาจจะด้วยวัยที่ยังเด็ก และด้วยสายตาที่ยังมองหนังสือตรงหน้าเห็นเป็นเพียงหนังสือการ์ตูนเล่มหนึ่ง ซึ่งเมื่อเวลาผ่านมาเนิ่นนาน กระทั่งหนังสือเล่มนี้มีอายุครบ 20 ปี ในปี พ.ศ. 2564 และมีการจัดพิมพ์ฉบับครบรอบ 20 ปี ในฐานะของฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 เราจึงได้มีโอกาสกลับมาอ่านเรื่องราวของหมูบินได้อีกครั้งหนึ่ง น่าแปลกใจที่เมื่อกาลเวลาผ่านไป หนังสือเล่มเดิมที่เราเคยมองมันในฐานะของหนังสือการ์ตูน ในวันนี้เรากลับมองเห็นมันจากอีกมุมหนึ่ง อาจจะเกิดจาดสิ่งที่อาจารย์ผู้สอนวิชาปรัชญาการเมือง ในชั้นปริญญาตรีนิยามมันว่า "ถุงเครื่องหลัง" ของเราในวันนี้มันใหญ่ขึ้น มีเครื่องมือ มีเรื่องราว มีวัตถุดิบเยอะมากขึ้น จนทำให้เมื่อเรากลับมาอ่านหนังสือเล่มที่เคยอ่านมันครั้งแรกเมื่อนานมาแล้ว เรากลับได้รับสารและมุมมองที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะเมื่อเราอ่านมันผ่านสิ่งที่เรามีอยู่ในถุงเครื่องหลังด้วยแล้ว เราพบว่า "หมูบินได้" ในปี 2564 เป็นหมูคนละตัวกับเมื่อหลายสิบปีก่อน ตอนที่เราเปิดมันออกมาอ่านครั้งแรก
หนังสือ : หมูบินได้ 20 years anniversary
โดย : องอาจ ชัยชาญชีพ
จำนวน : 194 หน้า
ราคา : 200 บาท
"หมูบินได้" ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7 (2564) ในวาระครบรอบ 20 ปีของหนังสือเล่มนี้ สำหรับใครหลายคนมันอาจจะเป็นเพียงหนังสือเล่มเล็ก ๆ เล่มหนึ่งที่อาจจะไม่ได้สลักสำคัญอะไร หากแต่ถ้าเราลองอ่านมันให้ดี ๆ เราจะพบว่า "หมูบินได้" คือ หนังสือที่ชวนให้เราลองตั้งคำถามถึงเรื่องราวบางประการในชีวิตเรา ว่าเราหลงลืม ละทิ้ง หรือยอมปล่อยความฝัน ความคาดหวังของเราทิ้งไป เพียงเพราะความเห็นของคนอื่น หรือคำบอก คำเตือนของคนอื่นว่า ความหวัง ความฝัน ความต้องการของเราคือเรื่องไร้สาระ คือเรื่องอันตราที่อาจจะทำลายความสงบสุขของสังคมหนึ่ง ๆ หรือความหวัง ความฝัน ความต้องการของเรามันคือการท้าทายความปกติของสังคมหนึ่ง ๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นจงเลิกหวัง เลิกฝัน และเลิกพยายามเสีย
การได้อ่าน "หมูบินได้" อีกครั้งในวันที่คนอ่านอายุเข้าใกล้ 30 เราได้เห็นอะไรบางอย่างที่เมื่อหลายสิบปีก่อนเรามองข้ามมันไปในหนังสือเล่มนี้ อีกทั้งเมื่อลองเอาเนื้อหาในหนังสือมาวางทับลงในหลาย ๆ บริบทของสังคมไทย และในชีวิตของเราที่ผ่านมา เราพบว่าสังคมแห่งนี้ (สังคมไทย) แทบไม่ต่างอะไรกับชุมชนของหมู ที่เอาแต่คอยห้าม บังคับ และป่าวประกาศว่าการแหวกออกจากขนบของการเป็นหมู หรือตั้งคำถาม ท้าทายความเป็นหมูคือเรื่องที่ผิด ไม่ดีและห้ามกระทำ ซึ่งในตอนท้ายของ "หมูบินได้" คือการฉีดกระฉากความคิดบางประการให้คนอ่านได้เห็นว่าแท้จริงแล้วมันมีอยู่จริง ๆ กับ "หมูบินได้" หมูที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับปีกที่จะบิน หากแต่มันใช้เวลาหลายปีเพื่อให้ตัวเองกลายเป็น "หมูบินได้" ซึ่งในโลกความจริงหลายคนอาจจะคิดว่ามันดูเกินจริงไปหน่อย แต่ถ้าเราลองมองมันให้ดี ๆ เราจะพบว่าไม่แน่ว่าถ้าเราพยายามวันหนึ่งข้างหน้าเราอาจจะถึงเป้าหมายปลายทาง
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in