รีวิวเว้ย (847) กฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่หลายคนรู้จักในชื่ออย่าง ม.112, กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทั้งหมดนี้ คือ กฎหมายเดียวกันนั่นก็คือกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ว่าด้วยเรื่องของการคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย ที่เมื่อพิจารณาเนื้อความของกฎหมายมาตราดังกล่าเราจะพบข้อความที่เขียนไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี" อัตรากำหนดโทษของกฎหมายดังกล่าวดูจะสูงมากเมื่อเทียบกับกฎหมายอื่น ๆ ที่อยู่ในลักษณะเดียวกัน อาทิ กฎหมายหมิ่นประมาท นอกจากนี้ด้วยข้อความขนาดสั้นของมาตรา 112 ทำให้เกิดข้อครหาในเรื่องของการใช้อำนาจดุลยพินิจของผู้พิพากษาต่อการกำหนดอัตราโทษ การลงโทษ กระทั่งการฟ้องคดีที่เปิดโอกาสให้ "ใครก็ได้สามารถฟ้องคดี" ทำให้หลายปีมานี้จะเห็นว่ามีการใช้กฎหมายมาตรา 112 ในลักษณะของการฟ้องแกล้ง หรือกระทั่งถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกลุ่มเห็นต่างทางการเมือง ซึ่งคำฟ้องหรือการฟ้องคดีที่ปรากฎในหลายครั้งก็ชวนให้ผู้ที่เห็นข่าวรู้สึกแปลกใจ ว่าการฟ้องด้วยคำฟ้องในลักษณะดังกล่าว เข้าอยู่ในขอบเขตของกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้อย่างไรกัน
หนังสือ : IN TRODUCTION TO NO.112
โดย : iLaw
จำนวน : 175 หน้า
ราคา : 200 บาท
"IN TRODUCTION TO NO.112" หนังสือของ iLaw หน่วยงานที่จับเรื่องของกฎหมายอาญามาตรา 112 มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทำให้ iLaw มีวัตถุดิบที่มากพอกระทั่งนำเอาวัตุดิบเหล่านั้นมาสังเคราะห์กระทั่งออกมาเป็นหนังสือ "IN TRODUCTION TO NO.112" ที่พาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ 12 คำถามเพื่อทำความเข้าใจกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนังสือที่ฉายภาพของกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้อย่างสั้น กระชับ ชัดเจน และง่ายต่อการทำความเข้าใจของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
ด้วยรูปแบบของการเล่าเรื่องกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในลักษณะของ 12 คำถาม ที่มีคำตอบจากการรวบรวมข้อมูลของ iLaw มาร้อยเรียงเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพและความเชื่อมโยงของกฎกมายอาญา มาตรา 112 ทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ที่มาหรือจุดกำเนิดของกฎหายดังกล่าว การเพิ่มโทษและความเปลี่ยนแปลง การบังคับใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ในแต่ละช่วงเวลาบนสนามการเมืองไทย ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกฟ้องคดี ชีวิตของผู้ถูกฟ้องคดีหลังจากออกจากคุก กระบวนการพิจารณาคดีที่หลายครั้งก็สร้างความแปลกใจ กระทั่งหากมีการยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะมีกฎหมาย หรือกลไกใดทางกฎหมายที่ควรถูกนำมาใช้ทดแทน กระทั่งหนังสือ "IN TRODUCTION TO NO.112" พาเราไปสำรวจว่ายังมีประเทศใดที่ยังมีกฎหมายในลักษณะนี้อยู่บ้าง และอัตรากำหนดโทษเป็นเช่นไร ซึ่งแน่นอนว่าอัตรากำหนดโทษน้อยกว่าที่ปรากฎในกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของไทยอย่างชัดเจน และในกรณีประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์แต่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองในลักษณะนี้โดยตรงเขาดำเนินการเช่นไร คำตอบของคำถามต่าง ๆ ปรากฎอยู่อย่างชัดแจ้งใน "IN TRODUCTION TO NO.112" หนังสือที่คนไทยทุกคนควรอ่าน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in