รีวิวเว้ย (846) "บอร์ดเกม" คืออะไร ถ้าถามคำถามนี้เมื่อหลายปีก่อน หลายคนอาจจะงง ๆ ว่าอะไรคือบอร์ดเกม (?) แต่ในช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ เราพบว่าเมื่อพูดคำว่า "บอร์ดเกม" หลายคนเข้าใจแทบจะในทันทีว่าหมายถึงสิ่งใด แต่ก็อาจจะยังมีคนที่เข้าใจว่าบอร์ดเกมมีจำกัดอยู่แค่เกมในลักษณะของบันไดงูแต่เพียงเท่านั้น ซึ่งการจะเข้าใจแบบนั้นก็ถือว่าไม่ผิด แต่วงการบอร์ดิกมเองก็มีพลวัตมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน กระทั่งส่งผลให้วงการนี้พัฒนาขึ้นมาเป็นอีกวงการเกมที่สำคัญของโลกไม่แพ้เกม MOBA หรือ Nintendo หากแต่วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นบอร์ดเกมอาจจะแตกต่างไปจากเกมอื่น ๆ และหน้าตา ลักษณะ วิธีการ ของบอร์ดเกมแต่ละบอร์ดก็แตกต่างกันไปอย่างหลากหลายยิ่ง อีกทั้งบอร์ดเกม อาจจะช่วยลบค่านิยมในการลดทอนคุณค่าของคำว่า "เกม" ที่มีภาพจำไม่ค่อยเนักสำหรับคนวัยหนึ่ง ให้เปลี่ยนแปลงไปก็อาจเป็นได้ เพราะทุกวันนี้บอร์ดเกม และวิธีการของเกมถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบการเรียนการสอนในแทบทุกระดับ กระทั่งในวงการของคนทำงานเอง บอร์ดเกม และวิธีการของเกมก็แทรกตัวอยู่ในนั้นด้วยเช่นเดียวกัน
หนังสือ : จักรวาลกระดานเดียว (ฉบับปรับปรุง) Board Game Universe V2
โดย : สฤณี อาชวานันทกุล
จำนวน : 320 หน้า
ราคา : 305 บาท
หนังสือ "จักรวาลกระดานเดียว (ฉบับปรับปรุง) Board Game Universe V2" เป็นหนังสือฉบับปรับปรุงเนื้อหาจากฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ที่เคยพิมพ์เมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงกระแสของการขึ้นมาของบอร์ดเกมในประเทศไทย ที่คนไทยเริ่มรู้จัก เริ่มหันมาเล่นบอร์ดเกม และเริ่มมีร้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบอร์ดเกมปรากฏขึ้น หลายปีผ่านโลกย่อมมีพลวัต วงการบอร์ดเกมก็เช่นเดียวกัน ทำให้เมื่อไม่นานมานี้ "จักรวาลกระดานเดียว" ถูกพิมพ์ใหม่อีกครั้งในชื่อของ "จักรวาลกระดานเดียว (ฉบับปรับปรุง) Board Game Universe V2" และมีการเพิ่มเติมเนื้อหาจากเล่มพิมพ์ 1 มาอีกมากมายหลายส่วน
โดยที่หนังสือ "จักรวาลกระดานเดียว (ฉบับปรับปรุง) Board Game Universe V2" เล่มนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วน โดย ส่วนแรกว่าด้วยเรื่องของ "เกมกระดานกับการเล่าเรื่อง" เป็นเสมือนกับบทเปิดของจักรวาลของเกมกระดาน ว่าเกมเหล่านี้มีลักษณะอย่างไร แตกต่างอย่างไรกับเกมบันไดงู หมากรุก และอื่น ๆ อีกทั้งเกมกระดานหรือบอร์ดเกม มันมีลักษณะเฉพาะตัวอย่างไร และมีกลไกของเกมที่สามารถจูงใจผู้เล่นเกมให้เสพติดการเล่นบอร์ดเกมได้อย่างไร
ส่วนที่สองว่าด้วยเรื่องของ "เรื่องเล่าจากกระดาน" หากใครเคยอ่านหนังสือเล่มนี้ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 จะพบว่า ส่วนที่ 2 ของฉบับปรับปรุงคือส่วนของหัวใจหลักของหนังสือเล่มเก่า เพราะในส่วนนี้จะว่าด้วยเรื่องของบอร์ดเกมแต่ละเกมที่ผู้เขียนนิยมชมชอบ อีกทั้งมีการบอกเล่าถึงการเล่น แนวคิด กลไกและสิ่งที่ได้จากการเล่มบอร์ดเกมแต่ละเกม ซึ่งจะว่าไปสำหรับฉบับปรับปรุงส่วนนี้ก็ยังคงเป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้ แต่อาจจะไม่ใช่ส่วนสำคัญเพียงหนึ่งเดียวอีกต่อไปแล้ว
ส่วนที่สามว่าด้วยเรื่องของ "นักเล่าเรื่องในดวงใจ" ในส่วนนี้ผู้เขียน ได้หยิบเอาตัวตนของคนสร้างบอร์ดเกม หรือที่หลายคนเรียกกันว่านักพัฒนาเกม มาบอกเล่า ซึ่งในส่วนนี้ทำให้เราพบความน่าสนใจอย่างหนึ่งของบอร์ดเกม ว่าอันที่จริงแล้วนักพัฒนาเกม หรือคนออกแบบเกมที่สร้างเกมระดับโลกหลาย ๆ คน ต่างมีความถนัดหรือมีภูมิหลังที่หลากหลาย ที่สิ่งเหล่านั้นอาจจะส่งผลโดยตรงต่อการมองระบบ และการออกแบบเกมแต่ละเกมให้มีณุปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
ส่วนสุดท้ายว่าด้วยเรื่องของ "วงการบอร์ดเกมไทย และอนาคตของวงการ" ในส่วนนี้ผู้เขียนได้นำเสนอมุมมองเรื่องของบอร์ดเกมในบริบทของสังคมไทย ทั้งเรื่องของการเกิดขึ้น พลวัต การจัดจำหน่าย ความเปลี่ยนแปลง และอนาคตของวงการบอร์ดเกมของไทย ผ่านการพูดคุยกับกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนวงการบอร์ดเกมไทยให้เดินหน้าอยู่ตลอดเวลา ทั้งเจ้าของร้านบอร์ดเกม ตัวแทนจำหน่าย บริษัทผู้ผลิต ที่ต่างสะท้อนมุมมองของตัวเองในเรื่องของบอร์ดเกมให้สอดรับกับบริบทต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของข้อจำกับทางด้านกฎหมายและความเข้าใจที่ยังคงมีข้อจำกัดอยู่บ้างของสังคมนี้ต่อคำว่า "เกม"
หากใครที่กำลังชั่งใจว่าควรซื้อ "จักรวาลกระดานเดียว (ฉบับปรับปรุง) Board Game Universe V2" หรือไม่หากเคยอ่านฉบับพิมพ์ 1 ไปแล้ว และยังไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้มาก่อน ในฐานะของคนเคยอ่าน และเคยรีวิวหนังสือฉบับพิมพ์ 1 ไว้แล้ว ผ่านมา 5 ปี การได้อ่าน "จักรวาลกระดานเดียว (ฉบับปรับปรุง) Board Game Universe V2" นับได้ว่าเป็นการอ่านหนังสือเล่มเดิมที่ปรับปรุงใหม่จนคล้ายจะเป็นหนังสือเล่มใหม่ พูดง่าย ๆ ว่าในทุกหน้าที่อ่านเรายังคงว้าวกับเนื้อหาของทุกตัวอักษรที่ปรากฏ ซึ่งแน่นอนว่าหากเป็นการอ่านซ้ำเนื้อหาแบบเดิมคงเป็นไปได้ยากที่เราจะว้าวไปกับส่วนต่าง ๆ ของหนังสือเล่มนี้
• ใครสนใจอ่านรีวิวฉบับพิมพ์ 1 ตามไปอ่านได้ที่ "BOARD GAME UNIVERSE จักรวาลกระดานเดียว By สฤณี อาชวานันทกุล" https://minimore.com/b/G3VYh/25 จากรีวิวเล่มที่ (25) สู่การรีวิวอีกครั้งในเล่มที่ (846)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in