รีวิวเว้ย (833) รีวิวเว้ย × สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เวลาพูดถึงจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ชื่อของจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดทั้งในเรื่องของการพัฒนาและขนาดเศรษฐกิจอย่าง "เชียงใหม่" มักถูกพูดถึงอยู่เสมอ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 ชื่อของจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือเริ่มปรากฎขึ้นบ้างอันเป็นผลมาจากกระแสของการท่องเที่ยวที่ "รักเขามากกว่าทะเล" ทำให้ชื่อของจังหวัด "น่าน" เริ่มเป็นที่รับรู้ของนักท่องเที่ยวและเริ่มมีกิจกรรมการท่องเที่ยวเกิดขึ้นในพื้นที่ของจังหวัดน่านมากขึ้น แต่จังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือที่เป็นอีกจังหวัดที่มีความน่าสนใจไม่แพ้เชียงใหม่และน่าน กลับถูกพูดถึงน้อยและหลายคนเข้าใจว่าเป็นเพียงจังหวัดทางผ่านไปเชียงใหม่ หากเราเดินทางโดยผ่านแยกร้องกวาง และก็เป็นเพียงทางผ่านของแยกเข้าจังหวัดแพร่เพื่อมุ่งหน้าสู่จังหวัดน่านต่อไป ซึ่งจังหวัดที่พูดถึงได้แก่ "จังหวัดลำปาง" ซึ่งลำปางในความคิดของเราที่ตอนเด็ก ๆ มีโอกาสเดินทางจากพิษณุโลกไปลำปางอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ภาพจำเกี่ยวกับลำปางคือจังหวัดที่ไม่ใหญ่ มีรถม้าวิ่งตามถนน และได้กลิ่นขี้ม้าโชยมาเป็นระยะ ๆ กระทั่งเมื่อได้มีโอกาสกลับไปลำปางอีกครั้งในวัยที่ตัวเลขขยับใกล้เลข 30 มันทำให้เราเห็นภาพในบางด้านของลำปางที่เราไม่เคยเห็นในช่วงวัยเด็ก ทั้งในฐานะของเมืองประวัติศาสตร์ เมืองที่มีวัฒนธรรมหลาย ๆ อย่างเป็นของตัวเองอย่างชัดเจน และเป็นหนึ่งเมืองที่เป็นหลักฐานของความเจริญของเมืองและหัวเมืองภาคเหนือในครั้งอดีตผ่านธุรกิจทำไม้ และผ่านเส้นทางรถไฟที่ช่วยให้เมืองลำปางขยายตัวในครั้งอดีต
หนังสือ : น้ำวัง รถไฟ ไฮเวย์ ประวัติศาสตร์ลำปางสมัยใหม่
โดย : ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
จำนวน : 336 หน้า
ราคา : 250 บาท
"น้ำวัง รถไฟ ไฮเวย์ ประวัติศาสตร์ลำปางสมัยใหม่" หนังสือที่บอกเล่าประวัติศาสตร์เมืองลำปางนับตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2400 ขึ้นมา โดยแกนหลักในการเล่าเรื่องของหนังสือ "น้ำวัง รถไฟ ไฮเวย์ ประวัติศาสตร์ลำปางสมัยใหม่" ได้ยึดเอาเรื่องของการพัฒนาเมืองและพื้นที่ของลำปางผ่านการประกอบอาชีพ การทำธุรกิจ การสัญจร และวิถีชีวิตของผู้คนและเมืองที่ผูกโยงอยู่กับ แม่น้ำวัง ทางนถไฟ และถนนไฮเวย์ ที่ถือว่าเส้นทางสัญจรทั้งสามนี้เป็นเครื่องยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลง และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดมาในช่วงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของลำปาง นับตั้งแต่การเป็นเวีบงละคอน นครลำปาง และจังหวัดลำปาง ที่พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ผูกโยงอยู่กับวิถีของเมืองและคนในเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลพัฒนา
เนื้อหาภายใน "น้ำวัง รถไฟ ไฮเวย์ ประวัติศาสตร์ลำปางสมัยใหม่" ถูกจัดวางเอาไว้ในรูปแบบของการเล่าประวัติศาสตร์ผ่านช่วงเวลา ที่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ นับตั้งแต่ยุคของการพึ่งพาแม่น้ำวังและรูปแบบเศรษฐกิจในพื้นที่ถูกขับเคลื่อนโดยแม่น้ำและฤดูกาล กระทั่งความเปลี่ยนแปลงและการเข้ามาของระบบการขนส่งแบบรางที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเมือง ผู้คน เศรษฐกิจ และเป้าหมายอย่างการจำกัดและควบคุมผ่านกลไกของการเดินทางผ่านระบบการขนส่งแบบราง ช่วงสมัยต่อมาที่เป็นรอยต่อระหว่างทางรถไฟ ทางหลวงและการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นที่ลำปางยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์บางด้านของเมือง วิถีชีวิตของคนและเมืองไปอย่างชัดเจน กระทั่งช่วงเวลาของการเกิดขึ้นของถนนไฮเวย์ที่มาพร้อมกับเหตุการณ์ในช่วงสงครามเย็นและนำพาการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งเข้าสู่เมืองลำปาง ทั้ง ทั้งเรื่องของการขยายตัวของเมือง การเพิ่มจำนวนของประชากร และความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของกระแสการอนุรักษ์ที่เกิดขึ้นในฐานะของเมืองที่มีมรดกและวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาปรากฎอยู่
อาจจะเรียกได้ว่า "น้ำวัง รถไฟ ไฮเวย์ ประวัติศาสตร์ลำปางสมัยใหม่" ช่วยให้เราเห็นภาพและพัฒนาการของเมืองลำปาง ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง การแลกเปลี่ยนทางการค้า ถนนหนทาง รางรถไฟ ไฮเวย์ และการเดินทางอย่างล่าสุดก็เครืองบิน ที่สิ่งเหล่านี้ล้วนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในกับเมืองทุกเมืองในโลกได้อย่างน่าสนใจ และในไทยเองความเปลี่ยนแปลงของกลายเมืองก็เกิดขึ้นในลักษณะที่ใกล้เคียงกับเมืองลำปาง แต่จะแตกต่างกันไปตามแต่ละบริบทของเมืองและพื้นที่ น่าสนใจว่าถ้าจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทย ลองทำการศึกษา "ประวัติศาสตร์" ของจังหวัดตัวเองในลักษณะเดียวกันกับ "น้ำวัง รถไฟ ไฮเวย์ ประวัติศาสตร์ลำปางสมัยใหม่" เราอาจจะเห็นภาพของแต่ละจังหวัดในประเทศไทยได้ดีขึ้น ชัดเจนมากขึ้น และบางครั้งมันอาจจะช่วยแก้ปัญหาบางประการของพื้นที่ได้ด้วยไปในตัว
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in