เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
รีวิวเว้ย (2)Chaitawat Marc Seephongsai
บ้านที่กลับไม่ได้ By บุญเลิศ วิเศษปรีชา
  • รีวิวเว้ย (826) ในการระบาดของโควิด-19 มักเกิดควันและหมอกที่เข้าปกคลุมพื้นที่ ทำให้หลายครั้งเรามองไม่เห็นบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในกลุ่มหมอกควันเหล่านั้น หลายครั้งเราจะเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหมอกควันเหล่านั้นก็ต่อเมื่อถึงเวลาที่กระแสลมพัดและทำให้หมอกควันเคลื่อนตัวหายไป และในหลายครั้งภาพที่ปรากฏขึ้นหลังฝุ่นควันจางหาย มักจะเป็นภาพของการสูญเสีย และเป็นภาพที่แสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง "รัฐ" ทำตัวเหมือนหลับตาเดินในกลุ่มหมอกควันเหล่านั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการกลับไม่สนใจที่จะมองหาทางออกและทางแก้เรื่องของหมอกควันดังกล่าว หากแต่หน่วยงานพึงใจที่จะหลับตาเดินและเหยียบย่ำไปลงบนซากศพและซากปรักหักพังของสิ่งที่เกิดขึ้นในกลุ่มหมอกควันเหล่านั้น หากมีแต่เพียงประชาชนที่ติดอยู่กลางหมอกควันเหล่านั้นเท่านั้นที่กลับพยายามช่วยกันหาทางออกและหาทางแก้ปัญหา แต่ปัญหาดังกล่าวประชาชนไม่สามารถแก้ไขมันได้ลำพัง เพราะประชาชนที่ลงมาช่วยกันไม่สามารถแก้ปัญหาในบางด้านได้ด้วยตัวเอง และเมื่อไม่นานนี้ เรา ๆ ท่าน ๆ น่าจะได้เห็นภาพของความสูญเสียของประชาชนในรัฐ ที่หลายครั้งพวกเขาถูกละเลยและมองข้าม อาจจะด้วยในฐานะของ "คนไร้บ้าน" หรือคนที่สังคมแห่งนี้มองไม่เห็นคุณค่าในตัวของพวกเขา  "การมีอยู่" หรือ "การตาย" ของพวกเขาจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญและไม่ได้ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อสังคมปลอมเปลือกแห่งนี้ หากแต่เรามองเห็นเขาในฐานะของ "มนุษย์คนหนึ่ง" เราจะพบว่าไม่ว่าใครก็ไม่สมควรที่จะต้องเผชิญกับการถูกลดทอนสถานะของความเป็นมนุษย์ลง โดยเฉพาะมนุษย์ที่พึงจะได้รับสิทธิที่พึงได้จากรัฐ มิใช่ได้รับเศษเสี่ยวของความช่วยเหลือในลักษณะของ "รัฐประชาสงเคราะห์" แบบที่รัฐไทยกำลังทำ
    หนังสือ : บ้านที่กลับไม่ได้
    โดย : บุญเลิศ วิเศษปรีชา
    จำนวน : 205 หน้า
    ราคา : 200 บาท

    "บ้านที่กลับไม่ได้" หนังสือรวมเรื่องสั้นของ "นักมนุษยวิทยาสายสตรีท" ที่ศึกษาเรื่องของคนไร้บ้านผ่านการ "จุ่มตัว" ก็คือการพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา เมื่อศึกษาและทำงานในเรื่องของคนไร้บ้าน การเป็นคนไร้บ้านหรือการลองเป็นคนไร้บ้าน ก็นับเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ศึกษาสามารถทำความเข้าใจ "โลกของคนไร้บ้าน" ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้าหนังสือ "บ้านที่กลับไม่ได้" ผู้เขียนได้มีการนำเสนอหนังสือ 2 เล่มที่สะท้อนภาพพื้นหลัง และภาคทฤษฎีของ "โลกของคนไร้บ้าน" แยกเอาไว้ในหนังสือก่อนหน้า ทำให้เมื่อเราอ่าน "บ้านที่กลับไม่ได้" เราจะเห็นภาพบางด้านของทั้งภาคทฤษฎีและภูมิหลังที่ได้เคยถูกปูพื้นเอาไว้ในหนังสือ 2 เล่มก่อน

    หากแต่ใครที่เริ่มอ่านจากเล่ม "บ้านที่กลับไม่ได้" เป็นครั้งแรก อาจจะมองเห็นหรือรับรู้เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ที่แตกต่างออกไปในบางลักษณะ เพราะเมื่อผู้อ่านที่ไม่ได้ถูกจำกัดกรอบมาตั้งแต่แรก จะช่วยให้ผู้อ่าน "บ้านที่กลับไม่ได้" ในฐานะของ "วรรณกรรม" จะช่วยให้ผู้อ่านรับรู้บางด้าน และบางเรื่องได้โดยไม่มีกรอบของทฤษฎี วิธีคิด และภูมิหลังของงานศึกษามาเป็นกรอบจำกัด

    "บ้านที่กลับไม่ได้" ช่วยให้เราเห็น เข้าใจและได้เรียนรู้เรื่องราวและโลกของ "คนไร้บ้าน" ผ่านมุมมองของเรื่องสั้นที่ถูกเล่าผ่านสายตาของผู้เขียน ที่ช่วยให้ผู้อ่านได้ลองมองลึกเข้าไปในโลกและชีวิตของคนไร้บ้าน ที่ช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจและมองเห็นมุมมองของคนไร้บ้านจากบางด้านบางมุม ที่เราไม่อาจจะรับรู้ได้ผ่านภาพถ่าย หรือสายตาที่มองเห็น

    หากพูดให้ถึงที่สุด "บ้านที่กลับไม่ได้" อาจจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจ "ความเป็นมนุษย์" ของมนุษย์คนอื่นมากขึ้น เข้าใจมุมมองของเขาและสิ่งที่เขาเป็นมากขึ้น และช่วยให้มองให้เห็นว่าพวกเขาก็เป็น "มนุษย์" เหมือนกับทุก ๆ คน มีชีวิต มีจิตใจ มีครอบครัว มีบ้านที่หลายครั้งพวกเขาก็กลับไปไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่เครื่องบ่งชี้ที่จะบอกว่า "พวกเขาไม่ใช่คน" เพราะอย่างไรในท้ายที่สุดแล้วพวกเขาก็เป็นคนเหมือนกัน และ "คนเท่ากัน" กับเราทุกคน

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in