รีวิวเว้ย (797) ถ้าย้นกลับไปในสมัยประชุมรัฐสภาช่วงหลังการเลือกตั้งใหม่ ๆ และสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. (ใช้คำนี้เลยแล้วกัน เพราะในทางปฏิบัติมันก็คือทางนี้จริง ๆ) มีสมาชิกวุฒิสภาท่านคนหนึ่งได้กล่าวชื่นชมประยุทธ์ และระบอบประยุทธ์ว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่งาม ที่ถูกต้อง และได้สร้างคำว่า "เผด็จการประชาธิปไตย" ขึ้นมาเพื่อเป็นการยกหางของบุคคลที่ตนชื่นชมและชื่นชอบ และคำว่า "เผด็กการประชาธิปไตย" นี้เองที่กลายมาเป็นข้อถกเถียงหนึ่งของสังคมในช่วงเวลานั้น เพราะในฝั่งของคนที่เรียนสายสังคมศาสตร์ต่างก็งงกับการหยิบเอาคำที่เป็นคู่ตรงข้ามในทางทฤษฎีมารวมเข้าไว้ด้วยกันได้แบบงง ๆ และในส่วนของคนที่เห็นดีเห็นงามกับข้อความดังกล่าวก็มีการเอาไปขยายผลกันอย่างสนุกสนาน แต่เมื่อลองมองย้อนกลับไปจากวันนี้ (2564) เราจะพบว่าเอาเข้าจริงแล้ว "เผด็จการประชาธิปไตย" อาจจะไม่ใช่คำที่เกินเลยไปนักในทางทฤษฎีที่สองคำตรงข้ามกันจะมาอยู่ด้วยกันได้ เพราะมีตัวอย่างที่ประจักษ์ชัดในเรื่องนี้มากมายหลายแห่งบนโลก แต่มันอาจจะอธิบายได้ลำบากสักหน่อยในทางทฤษฎี
หนังสือ : Twilight of Democracy
โดย : แอนน์ แอพเพิลบอม แปล พชร สูงเด่น
จำนวน : 164 หน้า
ราคา : 235 บาท
"Twilight of Democracy" หรือในชื่อภาษาไทยอย่าง "สนธยาประชาธิปไตย" โดยที่หลักการสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือการหาคำตอบให้กับเรื่องของของคำถามที่ปรากฏอยู่บนคำโปรยปกว่า "ทำไมคนดี ๆ ถึงกลายเป็นเผด็จการ (?)" และอะไรที่ทำให้คนที่เคยเชื่อมันในระบอบประชาธิปไตย วันหนึ่งพวกเขาถึงได้ย้ายข้างไปสนับสนุนความเป็นเผด็จการได้อย่างหน้าตาเฉย
"Twilight of Democracy" ได้หยิบยกเอาบริบททางการเมืองที่น่าสนใจของประเทศโปร์แลนด์ อังกฤษ และสหรัฐ มาตีแผ่ผ่านคำถามแกนกลางว่าอะไรทำให้ประเทศเหล่านี้ หรือผู้คนในประเทศเหล่านี้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเรา ถึงได้เปลี่ยนฝ่ายย้ายข้างไปเชื่อมันและยึดถือในอุดมการณ์ที่ดูจะตรงข้ามกับความเชื่อเดิมของพวกเขา หรือของพวกเราในครั้งอดีตอย่างสิ้นเชิง
จากการอ่าน "Twilight of Democracy" เราค้นพบว่าแท้จริงแล้วอุดมการณ์ที่คนสองกลุ่มเชื่อถืออาจจะไม่ได้ดเปลี่ยนแปลงไปกระทั่งสงผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงอุดมการณ์ หากแต่เป็นเรื่องของความเลื่อนไหลของชุดความจริงที่คนหนึ่งคนเอาไปผูกติดไว้กับอุดมการณ์ที่เขาเลือกรับมีการเลื่อนไหล หรือถูกทำให้ไหลเลือนกระทั่งชุดความจริงที่กุมยึดอยู่กับอุดมการณ์เปลี่ยนแปลงไปในท้ายที่สุด และนำพามาสู่ความเปลี่ยนแปลงของคนบางคน ที่เราอาจจะเห็นว่าเขาเปลี่ยนไป และเปลี่ยนไปในทางที่ดูจะเป็นเผด็จการมากขึ้นจริง ๆ
เมื่ออ่าน "Twilight of Democracy" จบลง เราลองเอาสิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ มาลองเปลี่ยนบริบทไปสู่บางเรื่องราวแทน อาทิ เพื่อนที่ครั้งหนึ่งเคยเกลียดและต่อต้านระบบราชการ แต่เมื่อวันหนึ่งเพื่อนคนนั้นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ แน่นอนว่าเรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงของเขาอย่างชัดเจน แต่หลายครั้งเมื่อลองพูดคุยเราจะพบว่าบางครั้งเขาอาจจะรู้หรือไม่รู้ตัวก็ได้ว่าชุดความจริงที่ตัวเองเคยเลือกสมาทานกำลังเปลี่ยนแปลงไป
แต่สำหรับใครที่คิดจะซื้อ "Twilight of Democracy" มาอ่าน เราแนะนำในเบื้องต้นไว้ก่อนว่า หนังสือเล่มนี้อาจจะอ่านยากไปสักหน่อยสำหรับคนที่ไม่มีพื้นความรู้ เพราะชื่อเฉพาะ ตัวบุคล เหตุการณ์ที่ปรากฎในเล่ม มันมีความเจาะจงในระดับหนึ่ง แต่หากค่อย ๆ อ่านไป เราก็จะพบว่ามันเป็นหนึ่งสืออีกเล่มหนึ่งที่อาจจะอธิบายบริบททางการเมืองไทยได้ดีในระดับหนึ่งเลย
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in